top of page

เทคนิคการควบคุมความคิดแบบซ่อนเร้น

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | nutavootp@gmail.com

เมื่อการใช้ทวิตเตอร์ เพื่อปั่นกระแสโดย IO มีข้อจำกัดเนื่องจากตรวจสอบได้ง่าย การควบคุมความคิดในระดับจิตใต้สำนึกผ่านการส่งข้อความซ่อนเร้น (Subliminal Messages) เป็นอีกทางเลือก แม้จะเป็นเทคโนโลยีสายดาร์กที่ถูกห้ามใช้ในหลายประเทศ


การปรับระบบความคิดของคนในสังคมให้สอดคล้องกับแบบแผนที่กำหนด สามารถทำได้หลายวิธี ถ้าเลือกแบบเปิดเผยและใช้กันมากโดยเฉพาะช่วงก่อนสงครามครามโลกครั้งที่สอง คือ ‘การโฆษณาชวนเชื่อ’ จุดประสงค์เพื่อชักจูงประชาชนให้ยอมรับในอุดมการณ์ชาตินิยม มักจะมีเนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์แต่ให้เหตุผลสนับสนุนด้านเดียว รัฐต้องอาศัยการควบคุมสื่อแบบเข้มงวดและประชาสัมพันธ์ซ้ำ ๆ เพื่อให้จดจำ แต่เมื่อความขัดแย้งทางอุดมการณ์รุนแรงขึ้นในยุคสงครามเย็นการโฆษณาชวนเชื่อก็ถูกพัฒนาให้เป็นระบบกลายเป็น ‘การล้างสมอง’ ซึ่งเป็นเทคนิควิธีทางจิตวิทยาโดยบีบให้มีการสารภาพความผิดก่อน จากนั้นจะใช้วิธีรุนแรงและผ่อนปรนสลับกัน ร่วมกับการบังคับ ขู่เข็ญ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจเพื่อให้ละทิ้งความคิด ความเชื่อเดิม แล้วจึงปลูกถ่ายความคิดแบบใหม่ใส่เข้าไปแทน สำหรับประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้างอาจมีวิธีการที่เบาลง เรียกว่า ‘การโน้มน้าวใจ’ ผ่านกลวิธีการให้แรงจูงใจต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมและพฤติกรรมจนเกิดการยอมรับและยอมเปลี่ยนตามที่ผู้โน้มน้าวใจต้องการ


ในยุคอินเทอร์เน็ต รูปแบบดังกล่าวดูจะล้าสมัย สิ้นเปลือง ใช้เวลานาน ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญให้ความรู้สึกเชิงลบ การปรับระบบความคิดและสร้างความเชื่อที่ต้องการ ได้หันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์แทนเนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็วทันกระแส ต้นทุนถูก และกระจายได้ในวงกว้าง เครื่องมือ เช่น การติดแฮชแท็กคำบนทวิตเตอร์ ทำให้ค้นหาข้อความและเข้าถึงโพสต์ได้ง่ายขึ้น ยิ่งทวิตเตอร์มีการจัดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้สื่อเกิดความรู้สึกโน้มเอียงไปตามกระแส เมื่อได้รับข้อมูลในความเชื่อแบบเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะคิดว่าเป็นเรื่องจริงและคล้อยตามในที่สุด และถ้าประสานกับการทำให้เป็นระบบผ่าน ‘ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations หรือ IO)’ ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น IO เริ่มใช้เป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 2003 โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่พยายามควบคุมปลูกฝังความคิดที่ต้องการ และทำลายความเห็นต่าง โดยจะเริ่มจากการหาจุดสนใจที่เป็นจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม แล้วสร้างคีย์เวิร์ด เป็นตัวเดินเรื่อง พัฒนาชุดความคิดเพื่อลดความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะรวมถึงการบิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างภูมิทัศน์เรื่องราวเท็จทำลายฝ่ายเห็นต่าง และสนับสนุนเรื่องราวของฝ่ายตนเอง เสมือนเป็นการชิงความได้เปรียบในการรบ หรือการทำสงคราม การทำงานของ IO ต้องอาศัยกลุ่ม Troll Army หรือ เกรียนคีย์บอร์ด ที่จะคอยสร้างกระแสผ่านการรีทวีท รวมทั้งอาจใช้บอทซึ่งย่อมาจากคำว่าโรบอท ช่วยปั่นคีย์เวิร์ดจนติดอันดับยอดนิยม เนื่องจาก IO จำเป็นต้องสร้างเพจและบัญชีผู้ใช้ปลอมจำนวนมาก ถ้าทวิตเตอร์ ตรวจพบก็จะทำการระงับบัญชีทั้งหมด


ถ้าไม่สามารถใช้ IO ในการควบคุมความคิดได้อย่างคล่องตัว ยังมีรูปแบบการจัดระบบความคิดที่อาศัยเทคโนโลยีสายดาร์ก คือ การส่งข้อความซ่อนเร้น (Subliminal Messages) อย่างรวดเร็ว ผ่านสื่อโทรทัศน์ ภาพยนต์ รวมทั้งการ Live ผ่าน VDO Streaming โดยผู้รับข่าวสารไม่รู้ตัว เทคนิคนี้อาศัยการปลุกจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ซึ่งนักจิตวิทยาพบว่าจะทำงานโดยไม่มีการตั้งข้อสงสัย ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ให้ทำในสิ่งที่ตามปกติจะไม่ทำ จิตใต้สำนึกทำงานแบบ Auto Pilot มีพลังในการประมวลผลข้อมูลในเวลาเดียวกันได้ถึง 20,000 บิต ในขณะที่จิตสำนึกต้องใช้เหตุและผลจึงจัดการข้อมูลได้แค่ 5-9 บิต เท่านั้น มีการทดลองเทคนิคนี้หลายครั้ง เช่น นักการตลาด เจมส์ วิคคารี ส่งข้อความ ‘ดื่มโค้ก’ ‘หิว?’ ‘ทานป๊อปคอร์น’ แฝงในภาพยนต์โฆษณาในโรงภาพยนตร์ ข้อความจะปรากฏบนหน้าจอทุก 5 วินาที เป็นเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1/3 มิลลิวินาที ด้วยความเร็วดังกล่าวผู้ชมไม่สามารถทราบว่ามีการส่งข้อความออกมา แต่มีผลต่อ จิตใต้สำนัก รายงานสรุปว่ายอดขายโค้กวันนั้นเพิ่มขึ้น 18.1% และป๊อปคอร์น 57.5% แม้ว่าผลการทดลองนี้ขาดความน่าเชื่อถือ แต่ก็ยังมีการใช้เทคนิคนี้อีกหลายครั้ง เช่น ในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่าง จอร์จ บุช และอัล กอร์ ในวิดีโอโฆษณาของพรรครีพับลิกัน มีการส่งข้อความกระพริบ ‘RATS’ ประมาณ 1/30 วินาที เป็นระยะ ๆ ตามด้วยข้อความปกติ ‘Bureaucrats’ จุดประสงค์เพื่อโจมตีข้อเสนอแผนสุขภาพของ อัล กอร์ ที่บริหารแบบราชการ นอกจากยังมีการทดลองของมหาวิทยาลัยดุ๊ก และวอเตอร์ลู กับนักศึกษา 341 คน กลุ่มแรกกระพริบโลโก้ Apple ให้ดู 30 มิลลิวินาที กลุ่มที่สองทำแบบเดียวกันกับโลโก้ IBM จากการทำแบบทดสอบทักษะพบว่ากลุ่มนักศึกษาที่กระพริบโลโก้ Apple จะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่ากลุ่มที่กระพริบด้วยโลโก้ IBM


การส่งข้อความซ่อนเร้นไม่ได้มีประโยชน์ในด้านการตลาดเท่านั้น สามารถนำไปใช้ปรับระบบความคิดในประเด็นอื่นโดยเฉพาะทางการเมืองได้เช่นกัน ซิมเบอร์แมน อาจารย์มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เชื่อว่า การส่งข้อความซ่อนเร้นอาจส่งผลกระทบต่อระบบความคิดได้ไม่มากก็น้อย แต่จะคงอยู่ไม่นาน อย่างไรก็ตาม เพื่อกันไว้ก่อน หลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ยกเว้นสหรัฐอเมริกา มีนโยบายห้ามใช้เทคนิคดังกล่าวในสื่อต่าง ๆ เพราะเกรงว่าการส่งข้อความซ่อนเร้นอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมออาจกลายเป็นการปลูกฝังความคิดไปได้ในที่สุด


ฐานเศรษฐกิจ Online, 2563. “รู้จักเทคโนโลยีสายดาร์ก", 7 ธันวาคม 2563.

ดู 326 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page