top of page

“สิทธิปฏิเสธ” การติดต่อหลังเลิกงาน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ. 2566 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 และจะมีผลวันที่ 17 เมษายน 2566 ได้ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ทำงานจากที่บ้านหรือจากทางไกลในมาตรา 23/1 วรรค 3 คือ

“เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใด ๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน”

หัวใจสำคัญของสิทธินี้ คือ หลังเวลาเลิกงาน หรือ พนักงานที่ WFH ได้ทำงานที่มอบหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว พนักงานจะมีสิทธิในการปฏิเสธการติดต่อสื่อสารในทุกช่องทาง ยกเว้น

  • พนักงานให้การทำความยินยอม และ

  • การยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือจากลูกจ้าง

เหลืออีก 3 วัน หากบริษัทยังไม่ได้ทำหนังสือให้พนักงานยินยอม วันที่ 18 เมษายน เมื่อกลับมาทำงานตามปกติ บริษัทจะต้องเตรียมใจ ดังนี้

  1. เมื่อพ้นเวลาการทำงานที่กำหนดไว้ เช่น 17.00 น. พนักงานที่ทำงาน Work From Home มีสิทธิปฏิเสธการติดต่อสื่อสารไม่ว่าช่องทางใด ๆ ซึ่งในโลกการทำงานปัจจุบันมีหลายช่องทางทั้งโทรศัพท์ทั้งทาง Line ทั้งทางอีเมล์เป็นต้น

  2. ถ้าบริษัทเร่งขอให้ความยินยอมตอนนี้ โดยการสื่อสารไม่เพียงพอ พนักงานมีสิทธิไม่ให้ความยินยอมได้ เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิที่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ดังนั้น หากพนักงานไม่ยินยอมย่อมทำได้ และบริษัทก็ไม่สามารถจะบังคับได้หรือเพราะกฎหมายไม่ได้เปิดช่องเอาไว้

  3. บางบริษัทอาจจะอยากผูกเรื่อวการใช้สิทธิปฏิเสธการติดต่อสื่อสารหลังเลิกงานกับเรื่องอื่น ๆ ในกระบวนการ HR เช่น การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน เพื่อเป็นการบังคับทางอ้อม ซึ่งก็จะทำไม่ได้ เพราะจะเข้าข่ายกลั่นแกล้ง การถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ที่พนักงานสามารถร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่แรงงานได้

ดังนั้น หากบริษัทที่ให้พนักงาน Work From Home ยังไม่ได้ทำหนังสือให้พนักงานยินยอมการติดต่อหลังเวลาเลิกงาน หรือ หลังทำงานจบเบ็ดเสร็จแล้ว บริษัทควรจะต้อง

  1. เปิดโอกาสให้พนักงานได้ใช้สิทธิ โดยไม่ส่งสัญญาณว่า เขากำลังทำผิด หรือ บริษัทจะเอามาประเมินผลงาน

  2. กำหนดแนวทางร่วมกันกับผู้บริหารว่า จะกำหนดแนวทางในหนังสือยินยอมอย่างไร

  3. ร่างหนังสือยินยอมที่ให้มีความสมดุลทั้งประโยชน์บริษัทและประโยชน์ของพนักงานตามที่ได้ผู้บริหารกำหนดไว้ในข้อสอง

  4. ทำการสื่อสารให้พนักงานได้เข้าใจ ด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน ก่อนให้พนักงานให้ความยินยอม

และข้อพึงระวังที่บริษัท ”ไม่” ควรทำ คือ ยกเลิกการให้สิทธิพนักงานที่ WFH ทันที เพื่อจะให้พนักงานได้สิทธิในการปฏิเสธนี้

ดู 911 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page