top of page

การเรียนออนไลน์กำลังบูม ทฤษฎีของบลูม (bloom’s taxonomy) ช่วยได้

อัปเดตเมื่อ 7 ก.ค. 2564

นพพร โสวรรณะ (หนุ่ย) | noppon.nps@gmail.com

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ทำให้การเรียนออนไลน์ มีความจำเป็นมากขึ้นในองค์กร เพราะพนักงานส่วนใหญ่จะต้องทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ในขณะเดียวกันการเรียนรู้ก็ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงต้องหาวิธีการจัดการเรียนการสอนผ่าน Zoom MS Meeting, FB Live, Line ฯลฯ รวมถึงการเรียนออนไลน์ที่หลายองค์กร พยายามหาหลักสูตรออนไลน์เพื่อให้พนักงานได้เรียนด้วยตัวเองระหว่างที่ยังไม่สามารถกลับไปเรียนในห้องเรียนได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามฝ่ายทรัพยากรบุคคลอาจจะพบว่าบางหลักสูตรไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ค่านิยม สมรรถนะ ฯลฯ ที่ต้องการขององค์กร จึงมีความคิดว่าถ้าเราทำหลักสูตรเองก็น่าจะตอบโจทย์มากกว่า คำถามคือว่า แล้วจะเริ่มอย่างไรดี? ทฤษฎีของบลูมช่วยนำทางได้ครับ


ทฤษฎีของบลูม (Bloom’s Taxaonomy) โดย เบนจามิน บลูม (Benjamin Bloom) นักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกา ได้ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ และกำหนดฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา (Cognitive Domain) ขึ้นในปี 2499 และได้ปรับแก้ไขในปี 2544 ซึ่งพฤติกรรมการเรียนรู้แบ่งเป็น 6 ระดับ คือ

1. การจดจำ (Remembering) ใช้ความจำเพื่อสร้างหรือค้นหานิยาม ข้อเท็จจริง หรือทบทวนข้อมูลที่เรียนมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้เรียนสามารถตอบได้ว่าสิ่งที่เรียนมาจากไหน เพราะเกิดจากการจดจำ

2. การทำความเข้าใจ (Understanding) สร้างความหมายจากรูปแบบการใช้หลายประเภท อาจจะเป็นข้อความ ภาพ หรือกิจกรรม เช่น การแปลความ การสร้างตัวอย่าง การจำแนก การสรุป ซึ่งผู้เรียนเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งที่ได้เรียนมา สามารถอธิบายตามความเข้าใจของตัวเองได้

3. การประยุกต์ใช้ (Applying) สามารถใช้เนื้อหาที่เรียนมาเพื่อนำไปปฏิบัติผ่านสื่อ เช่น แบบจำลอง การนำเสนอ การสัมภาษณ์ และการเลียนแบบ ซึ่งผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้

4. การวิเคราะห์ (Analyzing) แบ่งเนื้อหาหรือแนวคิดออกเป็นส่วนย่อย ระบุความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันของแต่ละส่วน และความเชื่อมโยงต่อโครงสร้างในภาพรวม ซึ่งผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาคิดอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งเเยกเเยะหาความสัมพันธ์เเละเหตุผลได้

5. การประเมิน (Evaluating) ใช้กฎเกณฑ์และมาตรฐานเพื่อพิจารณาผ่านการตรวจสอบและการวิจารณ์ ซึ่งผู้เรียนสามารถตั้งเกณฑ์ตัดสิน เปรียบเทียบคุณภาพหรือประสิทธิภาพของการเรียนรู้ได้

6. การสร้างสรรค์ (Creating) รวบรวมองค์ประกอบและสร้างให้เป็นสิ่งที่สมบูรณ์ เรียบเรียงให้เกิดรูปแบบหรือโครงสร้างใหม่ผ่านการสร้าง วางแผน และการผลิต ซึ่งผู้เรียนสามารถคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง หรือสามารถปรับปรุงแก้ไขออกแบบ ตั้งสมมุติฐานใหม่ ๆ ได้


จากทฤษฎีข้างต้นผู้สอนสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการออกแบบหลักสูตรได้ ด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ว่าต้องการให้พนักงานมีพฤติกรรมเรื่องนั้น ๆ ในระดับใด เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์ได้แล้ว จะทำให้ง่ายขึ้นในการออกแบบหลักสูตรสำหรับการเรียนออนไลน์และการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งผู้สอนจะได้ประโยชน์จากทฤษฎี ดังนี้

> วางแผนและจัดการเรียนการสอนได้เหมาะสม

> มีกลยุทธ์ในการออกแบบบทเรียน และการประเมินที่ถูกต้อง

> มีความมั่นใจว่าการเรียนการสอนและการประเมินสอดคล้องกับวัตถุประสงค์


จากประสบการณ์การใช้ทฤษฎีนี้ ผมได้นำมาใช้กับการออกแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ให้กับองค์กร คือการผสมผสานการเรียนแบบออนไลน์ (online learning) และการเรียนในห้องเรียน (face-to-face learning) เข้าด้วยกัน โดยนำแนวคิดนี้มาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดวัตถุประสงค์ซึ่งสามารถช่วยแบ่งเนื้อหาว่าส่วนใดสามารถออกแบบเป็นการเรียนแบบออนไลน์ และ ส่วนใดจำเป็นต้องเป็นการเรียนในห้องเรียน ดังนั้นเรามาดูตัวอย่างคำที่สื่อถึงพฤติกรรมซึ่งนำมาเป็นแนวทางในการตั้งวัตถุประสงค์ครับ

การจดจำ (Remembering) ผู้เรียนสามารถ ระบุรายการ ท่องจำ อธิบาย บอกเค้าโครง กําหนด บอกชื่อ จับคู่ อ้างอิง จดจำ ระบุ บอกสัญลักษณ์ นึกได้ เป็นต้น

การทำความเข้าใจ (Understanding) ผู้เรียนสามารถ อธิบาย ถอดความ กล่าวซ้ำ ยกตัวอย่าง สรุปประเด็น เปรียบเทียบ แปลความ อภิปราย เป็นต้น

การประยุกต์ใช้ (Applying) ผู้เรียนสามารถ คำนวณ คาดการณ์ ประยุกต์ แก้ปัญหา ใช้ สาธิตให้ดู ตัดสินใจ ดำเนินการ นำเสนอ เป็นต้น

การวิเคราะห์ (Analyzing) ผู้เรียนสามารถ จัดประเภท แยกย่อย จำแนกประเภท วิเคราะห์ เขียนไดอะแกรม อธิบายให้เห็นภาพ วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ง่ายขึ้น เชื่อมโยง เป็นต้น

การประเมิน (Evaluating) ผู้เรียนสามารถ เลือก สนับสนุน เชื่อมโยง ตัดสินใจ แก้ต่าง ตัดสิน ให้คะแนน เปรียบเทียบ โต้แย้ง อธิบายเหตุผล โน้มน้าว ประเมิน เป็นต้น

การสร้างสรรค์ (Creating) ผู้เรียนสามารถ ออกแบบ กําหนดเกณฑ์ สร้าง คิดค้น แต่ง ผลิตปรับเปลี่ยน พัฒนา เป็นต้น

เมื่อเราได้ทราบรายละเอียดของทฤษฎีนี้แล้ว เราเริ่มเห็นทางสว่างว่าเนื้อหาใดก็ตามที่เป็นลักษณะของการให้พนักงานได้เรียนรู้ทฤษฎีเพื่อการจดจำ (Remembering) เพื่อการทำความเข้าใจ (Understanding) และการประยุกต์ใช้ (Applying) (บางส่วน) ซึ่งอาจรวมถึงเพื่อการวิเคราะห์ (Analyzing) ในบางเนื้อหา เราสามารถจะนำมาจัดการเรียนการสอนที่เป็นลักษณะของการเรียนแบบออนไลน์ได้ โดยผู้สอนจะต้องออกแบบการประเมินพฤติกรรมในระดับที่ต้องการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้

References:


ดู 20,248 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commentaires


bottom of page