top of page

ภาวะผู้นำที่เน้นการเรียนรู้

อัปเดตเมื่อ 16 ก.พ. 2566

ผศ.รัชฎาทิพย์ อุปถัมภ์ประชา | rachadatip@yahoo.com

จากการระบาดของ COVID-19 ทำให้พบว่าความสามารถในการเรียนรู้และนวัตกรรมได้รับการระบุว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนั้นการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสภาพการทำงาน เช่น ความพึงพอใจในงานและความเป็นอยู่ที่ดี

โอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนาความรู้และทักษะของพนักงานมีความสำคัญต่อการปรับปรุงผลการปฏิบัติงานขององค์กร รวมถึงการสร้างองค์กรที่ยั่งยืนและมีสุขภาวะองค์กรที่ดี ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากสังคมและชีวิตการทำงาน การเรียนรู้ยังก่อให้เกิดแนวคิดเชิงนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาธุรกิจ เพิ่มผลผลิต ความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น และลดต้นทุนอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย โอกาสของการเรียนรู้ในชีวิตการทำงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุความยั่งยืนทั้งของบุคคลและองค์กร อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ของพนักงานไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเอง แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน ความเป็นผู้นำของผู้จัดการมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องนี้โดยการทำให้พนักงานมองเห็นความสำคัญของการเรียนรู้และมีการสนุนสนันการเผยแพร่ความรู้ในองค์กร


วันนี้เราจะมาเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นผู้นำที่เน้นการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นที่สิ่งที่ผู้จัดการจะต้องทำจริงๆ เมื่อเป็นผู้นำในการเรียนรู้ และสิ่งนี้ส่งผลต่อความเข้าใจในการเป็นผู้นำและงานประจำวันของผู้จัดการอย่างไร ตัวอย่างเช่น มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าผู้จัดการต้องดำเนินกิจกรรมประเภทใดเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของพนักงาน การเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นทางการ เช่น การเรียนรู้ในห้องเรียน กิจกรรมการเรียนรู้นอกระบบ กิจกรรมการทำงานที่มอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือต้องกำหนดว่าพวกเขาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการอย่างไรในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เช่น พฤติกรรมการเป็นผู้นำประเภทใดที่พวกเขาใช้ สิ่งที่ผู้จัดการทำจริงๆ ในงานประจำวันของพวกเขา สถานการณ์ใดและบริบทใดที่ต้องการผู้นำที่เน้นการเรียนรู้


การเรียนรู้ไม่ได้ใช้เป็นวัตถุประสงค์ของการศึกษา แต่เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สำหรับการสร้างแนวคิดและการกำหนดความเป็นผู้นำที่เน้นการเรียนรู้ ความแตกต่างระหว่างภาวะผู้นำที่มุ่งเน้นผลการปฏิบัติงาน (Performance-oriented) และภาวะผู้นำที่มุ่งเน้นการพัฒนา (development-oriented) โดยมีพื้นฐานมาจากการเรียนรู้ การปรับตัว การพัฒนานวัตกรรม การจัดการความรู้


หน้าที่สำคัญของความเป็นผู้นำที่เน้นการเรียนรู้คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของพนักงาน ภาวะผู้นำที่มุ่งเน้นผลการปฏิบัติงาน จะเน้นที่การส่งเสริมการเรียนรู้แบบปรับตัวเป็นหลัก กล่าวคือ เน้นที่ความเชี่ยวชาญของงานหรือวิธีการ และการสร้างสมรรถนะสำหรับการจัดการงานประจำวัน โดยมีเป้าหมายเพื่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุสิ่งนี้ ภาวะผู้นำที่มุ่งเน้นผลการปฏิบัติงาน จะทำให้ประสิทธิภาพระหว่างบุคคลลดลง เช่น การกำหนดมาตรฐานกระบวนการทำงานและมาตรการอื่นๆ ที่จำกัดขอบเขตการใช้ดุลยพินิจของพนักงานให้แคบลง


ในทางตรงกันข้าม ภาวะผู้นำที่มุ่งเน้นการพัฒนาจะทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้และการเตรียมความพร้อมที่จะตั้งคำถาม วิเคราะห์ ไตร่ตรอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติหรือวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ วิธีการอย่างหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้แบบนี้ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างทางความคิด เน้นความหลากหลายทางความคิดและการกระทำภายในองค์กร โดยใช้แนวทางปฏิบัติของภาวะผู้นำที่มุ่งเน้นการพัฒนา เพื่อจุดมุ่งหมายในการขยายขอบเขตดุลยพินิจในการทำงานของพนักงานให้กว้างขึ้น

ไม่ว่าการเรียนรู้ของพนักงานจะเป็นแบบปรับตัวหรือเพื่อการพัฒนาเป็นหลักก็ตาม การเรียนรู้นั้นจะเกิดขึ้นภายในบริบททางกายภาพ สังคม และวัฒนธรรมเฉพาะ สภาพแวดล้อมการเรียนรู้มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้อย่างมากและสามารถกล่าวได้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการเรียนรู้ ตัวอย่างเงื่อนไขทางด้านสภาพแวดล้อมดังกล่าวที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในองค์กร ได้แก่ การสนับสนุนของผู้บริหารและหัวหน้างานในการเรียนรู้ โอกาสในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานที่ทำ และวัฒนธรรมองค์กร

ดังนั้นงานหลักสำหรับความเป็นผู้นำที่เน้นการเรียนรู้คือการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในสถานที่ทำงานที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของพนักงาน


กิจกรรมที่พบบ่อยที่สุดในกรณีที่องค์กรใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ คือ การสนทนาส่วนตัวกับพนักงานเป็นประจำ เช่น การสนทนาเรื่องการพัฒนาพนักงานหรือการประชุมประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อหารือเกี่ยวกับความต้องการระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการเรียนรู้และพัฒนา แนวคิดคือการเรียนรู้จะต้องฝังอยู่ในการปฏิบัติงานประจำวันเป็นหลัก


ตามแนวคิดนี้กิจกรรมสำคัญคือการจัดหมุนเวียนงาน โดยมอบหมายงานใหม่ๆ ให้กับพนักงานหรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การทำงานในลักษณะอื่นๆ ให้แก่พนักงาน การเรียนรู้ที่เกิดจากการหมุนเวียนงานมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้พนักงานพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และช่วยลดความเปราะบางในที่ทำงานในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการลางานของพนักงาน เช่น ลากิจ ลาป่วย ลาคลอด


การจัดการฝึกอบรมแบบเป็นทางการประเภทต่างๆ เช่น อบรมหลักสูตรต่างๆ และโปรแกรมฝึกงาน เป็นกิจกรรมที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และเสริมสร้างความสามารถของทั้งระดับบุคคลและองค์กร นอกจากนี้การกำหนดเวลาในการประชุมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมีหัวข้อการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในชีวิตประจำวัน และควรจัดประชุมในสถานที่จริงๆ ที่ทุกคนมาอยู่รวมกัน ไม่ใช่รูปแบบออนไลน์ เพื่อทำให้เกิดการรวมกลุ่มของพนักงาน เพื่อการแก้ปัญหาและเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดซ้ำ


นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมแบบไม่เป็นทางการ เป็นการดำเนินการเฉพาะกิจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงาน รวมถึงการสนทนาที่ไม่เป็นทางการ ในกรณีที่ผู้จัดการเห็นโอกาสและจังหวะที่เหมาะสมในการสนทนากับพนักงานเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของพนักงาน รวมทั้งการการใช้กล่องข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้พนักงานคิดแก้ไขปัญหาและการพัฒนาต่อยอด


พฤติกรรมที่ใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ที่พบบ่อยที่สุดคือการสนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาทักษะที่มีอยู่แล้วหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น ฝีกอบรมในหลักสูตรใหม่หรือทดลองงานใหม่ ผู้จัดการจะใช้เวลามากขึ้นในการจูงใจพนักงานให้เกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะผู้ที่มีศักยภาพในการพัฒนาแต่ยังมีความกลัวหรือไม่ต้องการก้าวไปข้างหน้า


ผู้จัดการต้องสำรวจพนักงานเพื่อดูว่าใครแสดงศักยภาพออกมาได้มากที่สุด จากนั้นค่อยๆ เขยิบให้พนักงานคนนั้นรับผิดชอบมากขึ้น โดยผู้จัดการจะต้องอดทนและเคารพความจริงที่ว่าแต่ละคนมีระยะเริ่มต้นต่างกัน ผู้จัดการต้องสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ใหม่หรือเปลี่ยนแผนกเพื่อไม่ให้พวกเขาคิดว่าผู้จัดการพยายามกำจัดหรือลงโทษพวกเขา


ในขณะที่พนักงานบางคนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้มากกว่าคนอื่น ๆ โดยขอเป็นอาสาสมัครในการทำกิจกรรมการเรียนรู้และเมื่อมีตำแหน่งว่างในองค์กรก็ยินดีที่จะหมุนเวียนงาน ในกรณีนี้ผู้จัดการจะต้องพูดคุยกับคนกลุ่มนี้เพื่อให้พวกเขามุ่งความสนใจไปที่ความพยายามในการทำงาน จัดลำดับความสำคัญของงานให้แก่พวกเรา และกำหนดความต้องการในการเรียนรู้และการพัฒนาของพนักงานกลุ่มนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร


อีกวิธีหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้คืองดการให้คำตอบหรือคำแนะนำสำเร็จรูป แทนที่จะตอบทันทีเมื่อมีพนักงานถามว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร ผู้จัดการจะต้องท้าทายพนักงานด้วยการถามคำถามโต้กลับและทำให้พวกเขาคิดหาวิธีแก้ไขที่สร้างสรรค์ด้วยตนเอง จะทำให้พนักงานมั่นใจในตนเองมากขึ้น


นอกจากนี้ ผู้จัดการอาจจำเป็นต้องเข้มงวดกับพนักงานด้วยการพยายามท้าทายและผลักดันให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ การใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเสนอแนะนวัตกรรมสำหรับการปรับปรุง ผู้จัดการช่วยให้พนักงานเข้าใจถึงความสำคัญของการเรียนรู้และการสะท้อนปัญหาในที่ทำงานอีกด้วย


พฤติกรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการพยายามสร้างความเข้าใจร่วมกันในกลุ่มการทำงานเพื่อเพิ่มความรู้ในการทำงาน สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการพยายามให้กลุ่มมองไปข้างหน้า เพื่อดูว่าตอนนี้พวกเขาอยู่ที่ไหน สำหรับผู้จัดการ การทำงานกับการกำหนดมาตรฐานและการค้นหากฎเกณฑ์ทั่วไปในกลุ่มก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน


สรุปได้ว่าพฤติกรรมที่ได้รับการเน้นย้ำว่าเป็นส่วนพื้นฐานของความเป็นผู้นำของผู้จัดการ คือการแสดงความมุ่งมั่นในประเด็นการเรียนรู้ ส่วนหนึ่งโดยการพูดคุยเรื่องการเรียนรู้ในการทำงานประจำวันและการอยู่ร่วมกับพนักงาน และอีกส่วนหนึ่งโดยการเป็นตัวอย่างที่ดีและแสดงความชื่นชมต่อความท้าทายใหม่ๆ และความปรารถนาที่จะเรียนรู้และพัฒนาของพนักงาน


ดู 541 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page