ธนวัฒน์ ดวงอุดม | วารสารการบริหารฅน 2/2562
ในสภาพการดำเนินธุรกิจในระบบ “ดิจิทัล” ที่มุ่งเน้นความสามารถในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในเกมส์การแข่งขันไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือองค์กรเล็ก ล้วนมีโอกาสที่จะชนะหรือพ่ายแพ้อย่างเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่ว่าองค์กรนั้นจะมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ให้เกิดขึ้นได้ขนาดไหน และจะทำอย่างไรให้นวัตกรรมที่ลูกค้าจะต้องร้องว๊าว และยินดีที่จะสั่งซื้อโดยไม่รีรอ
ผู้เขียนได้อ่านกรณีศึกษาที่พูดถึงการให้มองเห็นโอกาส แบบที่คนอื่นจะตามไม่ทัน จากหนังสือ “ถ้าคุณไม่เปลี่ยนโลก โลกก็จะเปลี่ยนคุณ” ผู้แต่ง Peter Diamandis • Steven Kotler ผู้แปล บดินทร์ พรวิลาวัณย์ สำนักพิมพ์ BINGO บทที่ 10 ทำให้คนเก่งที่สุด และสมองใสที่สุด มาช่วยไขความท้าทายของคุณ หน้า 265-276 จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้
ในเหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันดีพ วอเทอร์ ฮอไรซอน ของบริติช ปิโตรเลียม เกิดระเบิดและจมลงตรงชายฝั่งของสหรัฐฯ เป็นเหตุให้เกิดน้ำมันรั่วไหลลงมหาสมุทร โดยคราบน้ำมันปกคลุมอ่าวเม็กซิโก เป็นพื้นที่ 2,500-4,000 ตร.ไมล์ หรือเทียบได้กับพื้นที่เกาะใหญ่ของฮาวาย ทั้งนี้ ทีมทำความสะอาดใช้วิธีการกำจัดน้ำมันแบบเดิม ๆ หลายวิธีพร้อมกัน ประกอบกับการระเหยช่วยกำจัดน้ำมันไปอีกส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังคงเหลือน้ำมันปนเปื้อนมหาสมุทรและชายฝั่งข้างเคียงอยู่ คิดเป็น 26% ของปริมาณที่รั่วไหล
เจมส์ คาเมรอน ผู้ดูแลรางวัลเอ็กซ์ไพรซ์นักสำรวจมหาสมุทรและเจ้าของรางวัลอะคาเดมี ได้ส่งอีเมลล์มาและเสนอให้ตั้ง “รางวัลด่วน” สำหรับรับมือภัยพิบัติน้ำมันรั่วไหลนี้ จึงได้คิดวิธีการทำความสะอาดคราบน้ำมัน ด้วยข้อมูลการเก็บกวาดคราบน้ำมันที่ผ่านมา พบว่า
1. การเก็บกวาดมักเป็นชาวประมง รับค่าจ้างรายชั่วโมง (ผู้เก็บกวาดไม่มีเหตุจูงใจที่จะต้องทำให้ดี/เร็ว)
2. บริษัทน้ำมันไม่อยากเปลืองงบกับเทคโนโลยีที่ดี เพราะวิธีการเดิม ก็ผ่านมารตฐานขั้นต่ำ ถือว่าใช้ได้แล้ว
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไอเดียให้สร้างนวัตกรรมใหม่ โดยใช้การจัดแข่งเพื่อเพิ่มอัตราการเก็บกวาดคราบน้ำมัน และเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับคราบน้ำมันก่อนชายฝั่งจะเสียหาย เริ่มแรกด้วยการหาผู้สนับสนุนเงินรางวัล และงบการจัดการแข่งขัน โดยได้เวนดี ชมิดต์ ภรรยาประธานของกูเกิ้ล (ขณะนั้น) เป็นผู้สนับสนุน
ต่อมาได้ประกาศตั้งรางวัลทำความสะอาดคราบน้ำมันและจัดการแข่งขัน กรรมการได้คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันรอบ 10 ทีมสุดท้าย พิจารณาจากตัวแปร 5 ข้อ คือ 1.เอาไปทำธุรกิจต่อได้จริง 2.ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม 3.เอาไปใช้ได้สะดวก 4.ใช้แรงงานและค่าใช้จ่ายไม่มาก 5.มีการพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีกำจัดน้ำมันแบบเดิม
ผู้เข้ารอบประกอบด้วยทีมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำมัน และทีมน้องใหม่ ที่มีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมน้ำมันน้อย เราได้ทำการแข่งขันโดยจำลองสภาพมหาสมุทรและคราบน้ำมันลงในถังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทดสอบในสภาพที่ทะเลสงบ และทะเลแบบมีคลื่น
ในการนี้เราเลือกวัดระดับความสำเร็จจากตัวแปร 2 ตัว คือ อัตราการเก็บคืนน้ำมัน (อย่างต่ำ 2,500 แกลลอน/นาที) และปริมาณน้ำมันที่เก็บคืนได้ต่อปริมาตรน้ำ (อย่างต่ำต้อง 70%)
ผลการแข่งขันพบว่า มี 7 ทีมที่ทำสติได้ดีขึ้นหลายเท่ากว่าที่เคยมีมา สำหรับทีมชนะเลิศ ชนะด้วยประสิทธิภาพเก็บคืนน้ำมัน 89.5% และอัตราการเก็บคืนน้ำมัน 4,670 แกลลอน/นาที (ดีขึ้นเป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับสถิติที่เคยมีมา) และอีกหนึ่งทีมที่น่าจดจำ ซึ่งไม่ติดสามอันดับแรก และไม่ได้รางวัลวอร์-เทค แต่เป็นทีมที่สามารถเพิ่มอัตราทำความสะอาดคราบน้ำมันเป็น 2 เท่าได้ ซึ่งทีมนี้ประกอบด้วยมือใหม่ที่แทบจะไม่มีประสบการณ์อะไรกับวงการทำความสะอาดน้ำมันเลย
จากเหตุการณ์นี้ทำให้รู้ว่า ผลลัพธ์ในการแข่งขันจูงใจ อาจมาจากที่ที่แปลกประหลาดที่สุด จากผู้แข่งขันที่คาดไม่ถึง หรือมาจากเทคโนโลยีที่ไม่เคยคิดว่าจะใช้ได้ เหมือนคำพูดของ ลี สไตน์ หนึ่งในผู้อุปถัมภ์เอ็กซ์ไพรซ์ ที่ว่า “เวลาคุณงมเข็มในมหาสมุทร การแข่งขันจูงใจช่วยให้เข็มวิ่งมาหาคุณเอง”
หากท่านสนใจกรณีศึกษาอื่น ๆ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือที่ผู้เขียนได้เรียนไว้ข้างต้น
Comments