top of page
รูปภาพนักเขียนASIA BOOK

เคล็ด (ไม่) ลับ...ทำงานอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ?...แบบคนญี่ปุ่น

อัปเดตเมื่อ 17 ก.พ. 2564

เรื่องมาจากการรับพัสดุ

เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสได้รับพัสดุที่ส่งมาจากเพื่อนชาวญี่ปุ่น อันเนื่องจากไวรัสโคโรน่า เลยทำให้เพื่อนไม่สามารถ เดินทางมาเที่ยวตามที่ได้วางแผนกันไว้ได้ เพื่อไม่ให้เสียความตั้งใจของเพื่อน ซึ่งอยากฝากขนมมาให้หลาน ๆ จึงตัดสินใจ ส่งของฝากมาให้ดูต่างหน้าแทนก่อน ปรากฎว่า เมื่อบรรดาลูก ๆ แกะกล่องพัสดุออกมา ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันทั้งคู่ว่า ทำไมป้าเรียวโกะจะต้องห่อของมาซะสวยหรูเชียว เด็ก ๆ คงจะไม่คุ้นเคย เมื่อเทียบกับพัสดุไปรษณีย์ที่เราสั่งซื้อของออนไลน์ เพราะเห็นความพิเศษมาตั้งแต่หีบห่อที่ได้รับมา เมื่อสัมผัสแรก เลยกลายเป็นหัวข้อสนทนาระหว่างแม่ลูก โดยสอดแทรกสาระต่าง ๆ ตามมา แม่เลยถือโอกาส เล่าความหลังเมื่อครั้งที่ได้เคยร่วมงานกับองค์กรสัญชาติญี่ปุ่นมาก่อนเป็นเวลา 10 กว่าปี การได้อยู่ในวัฒนธรรมความเป็นสไตล์ ญี่ปุ่น จึงพอจะเข้าใจและพอที่จะซึมซับมาได้บ้าง เรียกได้ว่าฝังเข้าเส้นมาโดยไม่รู้ตัวอย่างจริงจัง

ความพิเศษอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่น มองเห็นสิ่งใกล้ตัวเป็นเรื่องใหม่และไม่ธรรมดา พูดอย่างนี้อาจจะยังทำให้เห็นเป็นภาพไม่ได้ชัดนัก ถ้างั้นก็จะลองยกตัวอย่างงานแม่บ้านให้ดูสักหน่อย หลายครั้งที่เราเดินไปหาของใช้ในครัวที่ร้านขายของเบ็ดเตล็ดทั่วไปแบบร้านของคนญี่ปุ่น เราจะพบเจอสิ่งของแปลก ๆ หน้าตาไม่คุ้นเคยและอยากรู้ว่าเขามีไว้ทำอะไร หรือเอาไปใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ใด คำถามที่ผุดขึ้นมานั้นจะกระจ่างในทันที เมื่อคุณพลิกด้านฉลากมาดู จะปรากฎรูปภาพแนะนำการใช้งานอย่างง่าย ๆ เพียง ใช้ภาพประกอบ 1-3 ภาพเท่านั้น แล้วเราก็จะถึงบางอ้อ บางอันถึงกะแอบแซวลอย ๆ ออกมา หรือไม่ก็พึมพำเบา ๆ ในความช่างคิด และช่างประดิษฐ์ ของคนที่นำเสนอไอเดียในการสร้างนวัตกรรมนั้นออกมา


อย่างงานแม่บ้าน คุณแม่หลาย ๆ คน ถ้าได้มีโอกาสลองทำข้าวกล่องไปกินที่ทำงาน หรือฝากลูกๆ เวลาไปโรงเรียน เราจะเห็นความช่างประดิษฐ์ประดอย และใส่ความพิเศษลงไปในข้าวกล่องของลูก ๆ ทั้ง ๆ ที่คุณลูก ๆ เอง บางครั้งก็แอบอึ้งไปเมื่อเปิดกล่องข้าวมื้อกลางวันออกมา งานเล็ก ๆ เหล่านี้ปลูกฝังมาถึงเรา และทำให้เราตระหนักรู้ในหน้าที่ของเรา ทำให้เรารู้จักโฟกัสอยู่ที่งานของเรา รับผิดชอบงานในหน้าที่เราให้ดี อย่าส่งความผิดพลาดใด ๆ ของเราออกไป หรือไปสร้างความรบกวนให้แก่ผู้ที่ต้องรับช่วงงานต่อจากเราอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนในขั้นตอนการทำงานจริง ๆ คนญี่ปุ่นมักมีสายงานตามลำดับขั้น และไม่นิยมการทำงานแบบ one man show การที่มีคนในขั้นตอนต่อไป ช่วยตรวจสอบงานของเราอีกทีหนึ่ง เป็นการดูให้รอบคอบก่อนส่งมอบงานนั้นไปยังขั้นตอนต่อไปอีก การส่งมอบทัศนคติต่อคนทำงานด้วยกันเป็นสิ่งสำคัญ คนตรวจงานจึงไม่ใช่คนจับผิด แต่เป็นคนช่วยเราอีกขั้นตอนหนึ่งต่างหาก และในมุมมองของผู้ตรวจสอบงาน หากพบเจอข้อผิดพลาด คนในองค์กรสไตล์ญี่ปุ่นมักจะวางแผนและประชุมร่วมกัน เพื่อหาสาเหตุของปัญหา เพื่อร่วมกันระดมความคิด และแก้ปัญหาให้จบแบบถึงรากถึงโคน เพื่อไม่ให้ปัญหานั้นเกิดซ้ำอีก นี่เรียกว่าเป็นลักษณะเด่นของคนสไตล์ญี่ปุ่นอย่างแท้จริง


อีกตัวอย่างหนึ่งที่พอจะเด่นชัดในงานสไตล์ญี่ปุ่น คือ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาตรงจุดใดก็แล้วแต่ เราจะสามารถรู้ได้ในทันทีว่าพลาดตรงจุดใด หรือตรงขั้นตอนใด เพราะเมื่อเกิดปัญหาตรงจุดนั้นแล้ว จะส่งผลกระทบติดตามต่อกันมา แต่สไตล์คนญี่ปุ่นมักจะลึกลงไปกว่าสิ่งผิวเผินที่เห็น คือไม่ใช่แค่รู้ว่าใครทำผิด แต่ต้องการทราบให้ลึกไปกว่านั้น ที่เขาผิดพลาดเกิดเพราะจากสาเหตุใด นั่นเป็นเพราะเขาต้องการรู้ให้ถึงแก่นถึงรากของปัญหา เพื่อแก้ไขและไม่ให้เกิดมันซ้ำอีก


ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นเด่นชัดคนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการเก็บรักษา และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ดังนั้น กระบวนการรีไซเคิลขยะของคนญี่ปุ่น จึงค่อนข้างชัดตั้งแต่การจัดเก็บ เขาจะกำหนดวันเก็บขยะไว้ชัดเจน เช่น

วันจันทร์ เก็บขยะทั่วไป เช่นเศษอาหาร ใบไม้ วัสดุที่ย่อยสลายได้

วันอังคาร เก็บพลาสติก ขวด จิปาถะที่เป็นพลาสติก

วันพุธ เศษแก้ว กระเบื้อง กระป๋อง โลหะ

วันพฤหัส ขยะมีพิษ เช่น อุปกรณ์อิเล็กโทรนิค แผงวงจร สายไฟ เป็นต้น

หากมีบ้านใดนำขยะที่ต้องการทิ้งไปวางไว้ผิดวัน นอกจากคุณจะไม่ได้ถูกเก็บขยะนั้นแล้ว คุณจะได้รับจดหมายแจ้งตารางวันที่จัดเก็บขยะให้ถูกต้องอีก เพื่อให้คุณได้ทราบการจัดเก็บตามขั้นตอนที่ถูกต้องในครั้งต่อ ๆ ไป


ความสุภาพ สุขุม สงบนิ่งเย็น คงเป็นอิทธิพลจากนิกายเซนที่คนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมา รวมถึงการสื่อสารในสไตล์ของเขาด้วยเช่นกัน สังเกตได้จากอีเมลที่คุณได้รับ แม้ว่าจะเป็นอีเมลที่ถูกตำหนิก็ยังสุภาพ และระมัดระวังรอบคอบในการสื่อสารแบบสุขุม ไม่ได้นุ่มนวล แต่ชัดเจนในทุกประเด็นที่ต้องการสื่อออกไป เรียกได้ว่า แยกประเด็นได้ชัดเจน เหตุผลก็คือว่า หลักการในการเขียนเมล หรือการสื่อสารของคนญี่ปุ่น เขามักจะโน้ตเป็นข้อ ๆ จดไว้ก่อนให้ครบทุกประเด็น แล้วค่อยมาเรียบเรียงเป็นประโยคจัดวางแบบเรียงลำดับความสำคัญ และเรียงความอ่านแบบสละสลวย ดังนั้นการจับประเด็นจากอีเมลที่ได้รับจึงสำคัญมาก สำหรับผู้ร่างและผู้รับสาร ซึ่งหลักการเขียนให้ครอบคลุมตรงตามวันตถุประสงค์นั้นไม่ยาก คือตอบคำถามให้ครบตามหลัก 5W 1H


มีอีกหลากหลายประเด็นที่จะสามารถหยิบยกเอามาพูดคุยกันได้ เพราะถ้าองค์กรที่ชื่อเป็นญี่ปุ่น แต่ผู้บริหารยังเป็นคนไทย หรือต่างชาติบริหารงาน การจัดการ และวัฒนธรรมการทำงานจะแตกต่างไปจากการบริหารงานสไตล์ญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง หรือดูง่าย ๆ เลย แค่คุณได้รับอีเมลสักฉบับจากองค์กรญี่ปุ่น คุณจะสามารถรู้ได้ทันทีว่าองค์กรนั้นสไตล์ไหน เพราะญี่ปุ่นที่แท้ทรูจะชัดเจนมากจากสไตล์การเขียนเมลนั่นเอง


นี่ยังไม่นับรวมพวกงานฝีมือต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นงานของหญิงหรือชาย อย่างเช่น งานไม้, งานประดิษฐ์, งานขายไอเดียต่าง ๆ ต้องยอมรับว่าเวลาที่เราเลือกชิ้นงาน แล้วถูกใจในการสร้างสรรค์ หรือการออกแบบ ต้องยอมรับว่างานฝีมือของคนญี่ปุ่นมักมีความเก๋ไก๋ ช่างคิด รู้จักเอาสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเสริมแต่งอยู่อย่างมีชั้นเชิง และคนไทยเราไม่น้อยที่นิยมชมชอบการออกแบบสไตล์ญี่ปุ่น ความเป็นสไตล์มินิมอลนั่นแหละที่ถูกจริต กับคนไทยอย่างมาก ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นเด่นชัด ก็ต้องพูดถึงงานไม้เฟอร์นิเจอร์ที่คนแต่งบ้านส่วนใหญ่ มักจะต้องมีชิ้นงานสไตล์มินิมอลแบบญี่ปุ่น รวมอยู่ในของแต่งบ้านด้วย เรียกว่าเป็นของร่วมสมัยของคนในยุคปัจจุบัน


ถ้างานศิลปะเป็นการแสดงความมีอารยะ ก็ต้องยอมรับว่างานของคนญี่ปุ่น ถือว่าเป็นงานที่มีอารายะอย่างสูงเพราะเราแทบจะไม่ค่อยเห็นงานหยาบ ๆ หลุดออกมาให้แสดงให้เห็น จำได้ว่าสมัยตอนที่ยังเป็นเด็ก คุณพ่อก็จะมีของสะสมที่เพื่อนญี่ปุ่นให้มาเก็บไว้ ถ้านับอายุของสะสมก็เทียบกับครึ่งชีวิตของคน ๆ หนึ่งแล้ว ทุกวันนี้ชิ้นงานนั้นยังอยู่เกือบจะสมบูรณ์ไม่เสื่อมไปตามการเวลาแม้ว่าจะเป็นของทำมือก็ตาม นั่นยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพที่ถ่ายทอดมาผ่านงานศิลปะ และรวมไปถึงการเลือกใช้วัตถุดิบ


นี่เองน่าจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นที่ปลูกฝังและลงรากลึกไปในตัวคนทุกคน ซึ่งไม่เลือกเว้นว่าคน ๆ นั้นจะทำ หรือจะประดิษฐ์อะไรออกมา งานนั้นจะสะท้อนถึงคุณภาพและแสดงถึงความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะพยายามให้งานนั้นออกมาดี ไม่ใช่แค่ดีเท่านั้น แต่ดีที่สุดที่จะสามารถทำได้ เราถึงได้เห็นความเอาจริงเอาจัง และความตั้งใจยิ่ง ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับคนญี่ปุ่น เป็นการฝึกนิสัยที่ดีในการสร้างความเพียรให้เกิดขึ้นในตัวเราด้วย เพียรในที่นี้คือ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค หรือล้มเลิกไปในกลางครัน แต่เพียรในที่นี้คือ ได้พิจารณา หรือพยายามทำอย่างดีที่สุดแล้วเท่าที่เราสามารถจะทำได้เอง


โดย ต้นไม้ของแง่งคิด

ดู 125 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page