top of page
รูปภาพนักเขียนMhusom

สู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง: เปลี่ยนตัวเอง ยกระดับตัวตน และสังคมสู่อนาคต

อัปเดตเมื่อ 7 ต.ค. 2563

ธนิสา แดงสี | People Magazine 2/2560

3 อุปนิสัยที่จะยกระดับจากสภาวะการเป็นอิสระ ไปสู่สภาวะที่สูงขึ้นอีกขั้น นั่นคือสภาวะการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จากนั้นเราจะพูดกันถึงอุปนิสัยสุดท้ายของ The 7 Habits อันเป็นอุปนิสัยที่จะเสริมสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน


นิสัย 3 อย่างสู่การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

เมื่อเราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องคอยมองหาผู้ให้การอุปการะ เลี้ยงดู และปกป้องเราแล้ว ความสำเร็จในชีวิตจะเกิดขึ้นก็เมื่อเขาได้สัมพันธ์กับผู้อื่น ในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ มนุษย์ต้องอาศัยอุปนิสัยที่สำคัญ 3 อุปนิสัย


ในการที่เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นนั้น ลำดับแรกเราจำเป็นต้องมีวิธีคิดแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (Think Win-Win) ซึ่งเป็นความคิดที่เชื่อว่าในการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ แต่ในทุกความสัมพันธ์ที่มีคู่สัมพันธ์ทุกฝ่ายต่างก็ได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น วิธีคิดแบบนี้มีฐานความคิดว่าเรามีทรัพยากรให้แบ่งปันกันและกันได้อย่างพอเพียงโดยไม่ต้องเบียดบังใคร การแก้ปัญหาและสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานความคิดแบบได้ประโยชน์ร่วมกันนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีระหว่างคู่สัมพันธ์ และสร้างให้เกิดความผูกพันต่อข้อตกลงหรือความสัมพันธ์

ลองจินตนาการว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรหากคุณต้องทำงานกับคนที่ไม่แม้แต่ที่จะพยายามเข้าใจปัญหาหรือสถานการณ์ที่คุณกำลังเผชิญ ทั้งที่คุณก็พูดสิ่งนั้นออกไปอย่างตรงไปตรงมา และชัดเจนที่สุดแล้วก็ตาม แล้วคุณจะรู้สึกอย่างไรเมื่อคนคนนั้นพยายามให้คุณเข้าใจปัญหาหรือสถานการณ์ของเขาบ้าง... หรือคิดถึงหัวหน้างานคนหนึ่งของคุณ ที่พยายามสอนสั่งให้คุณใช้วิธีที่เขาแนะนำในการแก้ปัญหา แต่หัวหน้าของคุณก็ไม่เคยรู้เลยว่าปัญหาจริงๆ ที่คุณกำลังเผขิญอยู่มันคืออะไร... เชื่อได้เลยว่าเราส่วนใหญ่คงอยากหลีกเลี่ยงหัวหน้าแบบนี้ หรือเพื่อนร่วมงานแบบนี้


เราส่วนใหญ่มักคิดถึงทางแก้ปัญหาของผู้อื่นโดยใช้กรอบประสบการณ์และตัวตนของตัวเราเองเป็นที่ตั้ง ดังนั้นต่อให้เราเก่งสักแค่ไหน เราจะพบว่าหลายครั้งคำแนะนำของเราก็ไม่ได้เกิดประโยชน์กับตัวผู้รับคำแนะนำนั้น และไม่ได้ต่อยอดให้เกิดความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จยั่งยืนต่อมา


นี่นำมาสู่อุปนิสัยที่ 5 ที่เรากำลังจะพูดถึง นั่นคือการเปิดใจรับฟังและเข้าใจผู้อื่นก่อนที่จะให้ผู้อื่นพยายามเข้าใจเรา (Seek First to Understand, Then to Be Understood) ซึ่งหมายถึง เราต้องเรียนรู้ที่จะเป็นนักฟังที่ดี (ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยินเสียงของคนอื่น) การเป็นนักฟังที่ดีในที่นี้คือการฟังด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง และพร้อมที่จะเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพยายามถ่ายทอดสื่อสารออกมา การทำเช่นนี้จะทำให้คู่สัมพันธ์ของเรารู้สึกได้ว่าเรามีความสนใจเขาอย่างจริงใจ เราเองก็จะได้รับทราบถึงความรู้สึกและความคิดที่แท้จริงของคู่สัมพันธ์ และจะทำให้คุณสามารถให้คำแนะนำและมีแนวทางในการสร้างสัมพันธ์ที่เหมาะสมในที่สุด


ความสัมพันธ์ที่เรามีจะสร้างคุณค่าเป็นที่ประจักษ์รับรู้ในสังคม และนำมาซึ่งความสำเร็จของบุคคลในฐานะการเป็นบุคคลที่สร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคมได้ ก็ต่อเมื่อเรามีความเชื่อมั่นว่าการร่วมมือเป็นการรวมพลังทรัพยากรที่สร้างสรรค์สังคมให้ก้าวไปสู่สังคมที่วัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น หรือ Synergize ผลลัพธ์ของความร่วมมือกันจะให้ผลทบเท่าทวีคูณต่อสังคม ซึ่งเราจะสามารถรวบรวมพลังจากความสัมพันธ์ได้ ก็ด้วยการอาศัยการคิดแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน และการเปิดใจยอมรับเป็นพื้นฐานนั่นเอง


สร้างวงจรของการพัฒนา และความสำเร็จที่ยั่งยืน

อุปนิสัยทั้ง 6 ที่ได้กล่าวไปแล้วไม่อาจทำให้บุคคลประสบความสำเร็จได้อย่างถาวร เราต้องอาศัยอุปนิสัยสุดท้าย นั้นคือ การใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอ (Sharpen the Saw) ซึ่งมุ่งหวังที่จะกระตุ้นเตือนให้เราต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง


ในการพัฒนาตนเองนั้น อาจแบ่งได้เป็น 4 มิติ คือ

1. การพัฒนาทางกายภาพ (Physical Dimension) ซึ่งเป็นการดูแลเอาใจใส่สุขภาพร่างกายให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์

2. การพัฒนาทางด้านจิตใจ (Spiritual Dimension) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการทบทวนตัวเองถึงค่านิยม และเป้าหมายในชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ

3. การพัฒนาทางด้านสมอง (Mental Dimension) เป็นการพัฒนา เรียนรู้ และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมองได้ทำงานและพัฒนาต่อเนื่อง

4. การพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ (Social/Emotional Dimension)


ความสัมพันธ์กับความเชื่อมั่น

ความสัมพันธ์ทั้งหลายนั้นล้วนแต่ตั้งอยู่บนความเชื่อมั่น เชื่อถือ ที่คู่สัมพันธ์มีให้แก่กัน ซึ่งความเชื่อมั่นนี้เป็นผลมาจากผลรวมของอุปนิสัย และสมรรถนะของบุคคล ดังนั้นในทรรศนะของ Covey จึงเห็นว่าในระบบความสัมพันธ์มีสิ่งที่เรียกว่า Emotional Bank ซึ่งเก็บเงินฝากที่เรียกว่า ความเชื่อมั่นเอาไว้ เราสามารถฝาก-ถอนความเชื่อมั่นออกจากบัญชีที่คู่สัมพันธ์ของเราถืออยู่ได้ ไม่ว่าคู่สัมพันธ์ของเราจะเป็นหัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน พนักงาน คนรัก ลูก พ่อ-แม่ เพื่อน ฯลฯ


ฝาก (สร้าง) ความเชื่อมั่น

เราสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อมั่น เชื่อถือในตัวเราได้ด้วยการ

1. “เป็น” คนที่มีจิตใจดี มีจรรยามารยาทที่เหมาะแก่กาละและเทศะ

2. “เป็น” คนที่กล้าที่จะให้คำมั่นสัญญาและสามารถรักษาคำมั่นที่ให้ไว้กับผู้อื่นได้

3. แสดงให้เห็นความคาดหวังที่ชัดเจน

4. ต่อหน้าผู้อื่น “เป็น” อย่างไร ลับหลังอย่างอื่นก็ “เป็น” เช่นนั้น

5. กล้าที่จะขอโทษเมื่อทำผิด


ถอน (ทำลาย) ความเชื่อมั่น

เมื่อเราสร้างความเชื่อมั่นได้ เราก็สามารถทำลายความเชื่อมั่นที่ผู้อื่นมีต่อเราได้เช่นกัน เราสามารถทำลายความเชื่อมั่นที่ผู้อื่นมีต่อเราได้ (หากต้องการ) ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. “เป็น” คนจิตใจคับแคบ ประพฤติตนอย่างไร้มารยาท

2. ไม่กล้าให้คำมั่นสัญญา หรือให้คำสัญญาไปอย่างส่งๆ แต่ไม่รักษาคำมั่นสัญญานั้น

3. ไม่เคยแสดงความคาดหวังที่ชัดเจนให้ผู้อื่นได้ทราบ

4. ไม่มีความสัตย์ซื่อ หลายมาตรฐาน โกหกหลอกลวงอยู่เป็นนิจ

5. เย่อหยิ่ง ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร


บทส่งท้าย

มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีการพัฒนามาไกลกว่าสัตว์อื่นใดในโลกนี้ มนุษย์ต้องการที่จะนับถือเชื่อมั่นศรัทธาในตนเองได้ และต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตสังคม ดังนั้นเพื่อพัฒนาให้มนุษย์ก้าวสู่ความสำเร็จได้ จำเป็นที่มนุษย์คนนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนะต่อตนเองเสียก่อน กล้าที่จะออกไปรับผิดชอบและดูแลชีวิตตนเอง กล้าที่จะตั้งเป้าหมาย และมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นอย่างเป็นระเบียบ ก้าวเข้าไปมีความสัมพันธ์เพื่อพัฒนาสังคมร่วมกันผ่านการมีความคิดแบบ Win-Win และเปิดใจให้กว้างออก และเหนือไปกว่านั้นคือต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองในทุกๆด้าน


สิ่งที่จะลืมเสียไม่ได้คือการหยอดกระปุกสร้างยอดฝากความเชื่อมั่นใน Emotional Bank Account ของบุคคลต่างๆที่คุณมีความสัมพันธ์ด้วย


วันนี้คุณสร้าง / ทำลายฐานความสำเร็จในชีวิตของคุณไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว?

ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page