top of page
  • รูปภาพนักเขียนKHON

ถอดรหัส “พระมหาชนก” ตอนที่ 2

อัปเดตเมื่อ 25 ธ.ค. 2563

ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี | วารสารการบริหารฅน 4/2559

ถอดรหัส “พระมหาชนก” จากมุมมองด้านการพัฒนามนุษย์และองค์การอัจฉริยภาพอันสร้างสรรค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


คติธรรมการพัฒนามนุษย์ตามแนวทาง “การฟื้นฟูต้นมะม่วง”

ภาวะผู้นำที่ดีย่อมแตกต่างจากปุถุชนธรรมดาทั่วไปทั้งหลาย เมื่อเห็นภัยพาลคืบคลานเข้ามาหรือเห็นปัญหาเกิดขึ้น ปุถุชนมักจะตื่นตระหนก ร่ำร้องโวยวาย กล่าวโทษใส่ร้ายกัน คนเหล่านี้มัก “พลิกวิกฤติให้กลายเป็นหายนะ” ในทางตรงข้ามผู้ที่มีภาวะผู้นำคือผู้ที่ตั้งอยู่ในสติสัมปชัญญะ ใช้ปัญญา เรียกระดมผู้รู้มาช่วยกันขบคิดเพื่อแสวงหาทางออกและฟื้นฟูกู้ปัญหาเหล่านั้น พระมหาชนกคือแบบอย่างแห่งภาวะผู้นำ เมื่อเห็นปัญหา แม้ตนเองจะมีความทุกข์ใจหนักหนากับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ตั้งสติเรียกระดมปราชณ์ราชบัณฑิต แล้วเตือนสติว่าแทนที่จะมานั่งพร่ำบ่นเสียอกเสียใจ แต่ควรจะมาช่วยกันคิดและดำเนินการ “พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส” มากกว่า ในตอนนี้ พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดอีกครั้งเมื่อทรงนำเสนอ “แนวทางการฟื้นฟู้ต้นมะม่วง” อย่างเป็นระบบถูกต้องตามหลักวิชาถึง 9 วิธีการ ดังที่ปรากฏในตอนที่ 35


(ตอนที่ 35) อุทิจจพราหมณ์มหาศาลรีบมาเฝ้าพระราชา พร้อมด้วยลูกศิษย์สองคน คือ จารุเตโชพราหมณ์และคเชนทรสิงหบัณฑิต สองคนนี้ คนแรกชำนาญการปลูก คนที่สองชำนาญการถอน ทันใดที่มาถึง คเชนทรสิงหบัณฑิตก็ทรุดลงแทบพระบาทของพระราชาแล้วทูลว่า “ข้าพระองค์ผิดไปเอง เมื่อเหล่าอมาตย์ขอให้ข้าพระองค์ช่วยเก็บมะม่วงถวายพระอุปราช ข้าพระบาทจึงนำเอา “ยันตกลเก็บเกี่ยว” มาใช้ มิได้คิดว่าจะทำให้ต้นมะม่วงถอนรากโค่นลงมา พระพุทธเจ้าข้าขอรับ.” พระราชตรัสว่า: “อย่าโทมนัสไปเลย อาจารย์ผู้ดำริการ ต้นมะม่วงโค่นไปแล้ว ณ บัดนี้ปัญหาคือ ฟื้นฟูต้นมะม่วงได้อย่างไร เรามีวิธีเก้าอย่างที่อาจใช้ได้ หนึ่ง เพาะเม็ดมะม่วง สอง ถนอมรากที่ยังมีอยู่ให้งอกใหม่ สาม ปักชำกิ่งที่เหมาะแก่การปักชำ สี่ เอากิ่งดีมาเสียบยอดกื่งของต้นที่ไม่มีผลให้มีผล ห้า เอาตามาต่อกิ่งของอีกต้น หก เอากิ่งมาทาบกิ่ง เจ็ด ตอนกิ่งให้ออกราก แปด รมควันต้นที่ไม่มีผลให้ออกผล เก้า ทำ ‘ชีวาณูสงเคราะห์’ ท่านพราหมณ์มหาศาล จงให้พราหมณ์อันเตวาสิกไปพิจารณา” อุทิจจพราหมณ์รับสนองพระราชโองการ ว่า: ข้าพระองค์ผู้ทรงภูมิปัญญา จะให้คเชนทรสิงหบัณฑิตนำเครื่อง ‘ยันตกล’ ไปยกต้นมะม่วงให้ตั้งตรงทันที และจะให้จารุเตโชพราหมณ์เก็บเม็ดและกิ่ง ไปดำเนินการตามพระราชดำริ” พระราชโปรดให้สองคนนั้นรีบไป แต่ขอให้พราหมณ์มหาศาลคอยรับพระราชดำริต่อไป


มีประเด็นที่ผู้เขียนสนใจและเห็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในตอนที่ 35 นี้ก็คือ


วิธี 9 อย่างในการฟื้นฟูต้นมะม่วง ผู้เขียนได้เคยสอบถามความคิดเห็นจากนักวิชาการด้านการเกษตรบางท่าน พบว่าแนวทางการฟื้นฟูต้นมะม่วงทั้ง 9 วิธีการนั้น ถือเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญและล้ำลึกอย่างยิ่งในวิชาการทางเกษตรศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประพันธ์ “พระมหาชนก” ได้ศึกษาค้นคว้าศาสตร์ทางด้านนี้มาอย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความนี้มิได้เป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจทางการเกษตร แต่ผู้เขียน – ในฐานะของนักวิชาการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ – ใคร่ขอตั้งข้อสังเกตในที่นี้ว่านี่คือ “รหัสนัยที่ลึกซึ้ง” ยิ่งนักและน่าจะเป็นรหัสนัยที่นักวิชาการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การพึงขบคิดตีประเด็นให้แตกว่าจะถอดรหัสแนวทางการ “ฟื้นฟูต้นมะม่วง” ทั้ง 9 วิธีการให้ออกมาเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับการ “ฟื้นฟูทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ” ได้อย่างไร?


เนื่องด้วยภูมิปัญญาอันมีขอบเขตจำกัดของผู้เขียนเอง ในที่นี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอแนวทางการถอดรหัสการฟื้นฟูทรัพยากรมนุษย์ตามแนวทางการฟื้นฟูต้นมะม่วงทั้ง 9 วิธี โดยเป็นการนำเสนอในลักษณะของการยกร่างเป็น “ประเด็นตั้งต้น” (Proposition) เพื่อที่จะเชื้อชวนให้บุคคลทั่วไป รวมทั้งปราชณ์ ผู้รู้ นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานที่เชี่ยวชาญและที่สนใจในด้านการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ จะได้เข้ามาร่วมกันขบคิดถกแถลงแสวงหาทางออกร่วมกันว่า “แนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรมนุษย์และองค์การ” แต่ละข้อของ “การฟื้นฟูต้นมะม่วง” ทั้ง 9 ข้อ แท้ที่จริงแล้วคืออะไร มีนัยยะความหมายอะไร และมีเครื่องมือที่เหมาะสมด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การอะไรที่จะใช้เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรมนุษย์และองค์การได้อย่างไรบ้าง? ทั้งนี้ ใคร่ขอให้ผู้อ่านจินตนาการถึงบริบทองค์การที่กำลังเผชิญกับปัญหาคุณภาพของบุคลากรตกต่ำ แม้บางองค์การจะเป็นองค์กรที่มีศักยภาพดี แต่บุคลากรบางกลุ่มกลับไร้ผลงาน คนดีคนเก่งถูกทำลายเสียขวัญกำลังใจจนหมดพลังในการทำงาน คำถามคือ เราจะฟื้นฟูคนและองค์การเหล่านี้ – โดยใช้แนวทางการฟื้นฟูต้นมะม่วง 9 ข้อ – อย่างไร? ในการนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางการตีความตามหลักการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การเป็นการตั้งต้น ดังนี้


1. เพาะเม็ดมะม่วง (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษว่า Culturing the seeds) ผู้เขียนใคร่ขอถอดรหัสนัยนี้ในเชิงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่าการ “เพาะเม็ดมะม่วง” น่าจะหมายถึง “การบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่” หรือ “การพัฒนาบุคลากรพันธุ์ใหม่” ขึ้นมา


2. ถนอมรากที่ยังมีอยู่ให้งอกใหม่ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษว่า Nursing the roots so they grow again) ผู้เขียนใคร่ขอถอดรหัสนัยนี้ในเชิงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การว่า “ราก” หมายถึง องค์ความรู้ ภูมิปัญญา ขีดความสามารถดั้งเดิม (Competence) ที่องค์กรมีอยู่ เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะขาดการเอาใจใส่ดูแลและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเท่านั้น (คล้ายๆกับ การที่สังคมไทยเคยมีภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่ขาดการเหลียวแล เพราะมัวแต่หลงไหลได้ปลื้มไปกับภูมิปัญญาตะวันตก จนในที่สุดภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เป็น “รากเหง้า” ที่แท้จริงถูกละเลย หรือถูกทำลายสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย)


3. ปักชำกิ่งที่เหมาะแก่การปักชำ. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษว่า Culturing (cutting) the branches) การปักชำกิ่งคือการตัด/นำกิ่งที่เหมาะสมไปปักลงในวัสดุชำเพื่อให้เกิดรากขึ้นมา เป็นวิธีการที่ง่าย ได้ผลเร็วและต้นทุนต่ำ จุดสำคัญจุดหนึ่งในที่นี้คือ การได้มาซึ่ง “กิ่งที่เหมาะ” แก่การปักชำ หากจะถอดรหัสนัยนี้ในเชิงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ ก็อาจตีความได้ว่า “กิ่งที่เหมาะ” ก็คือ กลุ่มคนที่เป็นกลุ่ม “คนดีคนเก่ง”


4. เอากิ่งดีมาเสียบยอดกิ่งของต้นที่ไม่มีผลให้มีผล. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษว่า Grafting on the other tree.) การเสียบยอดคือการนำเอากิ่งของยอดพันธุ์ที่ดีไปเสียบทาบกับยอดของต้นที่ไม่มีผล โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อให้ได้ผลผลิตจากต้นเดิมที่เร็วกว่าการเริ่มปลูกใหม่ หากจะถอดรหัสนัยนี้ในเชิงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ ก็อาจตีความได้ว่า “กิ่งดี” คือกลุ่มคนที่เป็นกลุ่ม “คนดีคนเก่ง” ซึ่งหมายถึงกลุ่ม “ดาวดวงเด่น” และ “กลุ่มม้างาน” อันเป็นกลุ่มที่เหมาะแก่การขยายพันธุ์


5. เอาตามาต่อกิ่งของอีกต้น. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษว่า Bud-grafting on the other tree.) การต่อกิ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกแบบหนึ่ง โดยเอาตาของต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีคุณภาพดีไปติดที่ต้นหรือกิ่งของอีกต้นหนึ่งซึ่งเป็นชนิดเดียวกันเพื่อหวังให้เกิดต้นตอหรือกิ่งที่มีคุณภาพดีในต้นไม้นั้น หากจะถอดรหัสนัยนี้ในเชิงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ ก็อาจตีความได้ว่า “ตา” หมายถึงแง่คิด มุมมอง คุณลักษณะที่ดีของบุคลากรกลุ่มที่มีคุณภาพ


6. เอากิ่งมาทาบกิ่ง. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษว่า splicing (approach grafting) the branches.) การทาบกิ่ง เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ให้ได้ต้นพันธุ์ดีซึ่งมีลักษณะทางสายพันธุ์เหมือนต้นแม่วิธีหนึ่ง โดยกิ่งพันธุ์ดีจะทำหน้าที่เป็นลำต้นของต้นพืชใหม่ ส่วนต้นตอที่นำมาทาบติดกับกิ่งของต้นพันธุ์ดีจะทำหน้าที่เป็นระบบราก เพื่อหาอาหารให้กับต้นพันธุ์ดี หากจะถอดรหัสนัยนี้ในเชิงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ ผู้เขียนมีความเห็นว่าสามารถตีความได้หลายประการ

> การระดมกลุ่มคนดีคนเก่งให้มาทำงานร่วมกันในลักษณะ Talent Project Team หรือ Talent Taskforce

> การพัฒนาบุคลากรกลุ่มคนดีคนเก่งที่มีคุณภาพให้เป็น “วิทยากรต้นแบบ”

> การเอาความรู้ เทคนิค ประสบการณ์ของบุคลากรมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบ่งปันร่วมกัน (Knowledge sharing)


7. ตอนกิ่งให้ออกราก. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษว่า layering the branches.) การตอนกิ่งคือการทำให้กิ่งหรือต้นพืชเกิดรากขณะที่ติดอยู่กับต้นแม่ ทำให้ได้ต้นพืชใหม่ ที่มีลักษณะทางสายพันธุ์เหมือนกับต้นแม่ทุกประการ เมื่อถอดรหัสนัยนี้ในเชิงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ ผู้เขียนมีความเห็นว่าสามารถตีความได้ว่า การ “ตอนกิ่งให้ออกราก” คือการที่องค์กรเสริมสร้าง “กลุ่มคนดีคนเก่ง” ที่เคย “ถูกบั่นทอนจนสูญเสียขวัญ เสียกำลังใจและความมั่นใจ” ให้กลับมามีพลัง มีความเข้มแข็ง มีความมั่นใจที่จะกลับมาสร้างสรรค์ผลงานที่ดีได้อีกครั้งหนึ่ง


8. รมควันต้นที่ไม่มีผลให้ออกผล. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษว่า Smoking the fruitless tree, so that it bears fruit..) การรมควันเป็นภูมิปัญญาโบราณ ที่กระทำในช่วงที่ใบมะม่วงสะสมอาหารไว้เต็มที่แล้ว การรมควันจะเร่งให้ใบแก่ของมะม่วงหลุดร่วงก่อนเวลาปรกติ ก่อนที่ใบจะร่วง อาหารที่สะสมที่ใบจะเคลื่อนย้ายกลับไปสะสมที่ปลายยอด ทำให้มีสภาพเหมาะสมแก่การผลิตาดอก นอกจากนี้ยังพบว่า ในควันไฟมีแก๊สเอทิลีน (ethylene) ซึ่งเป็นสารตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้มะม่วงออกดอกอีกด้วย ผู้เขียนใคร่ขอถอดรหัสนัยนี้ในเชิงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การว่าหมายถึง “การบำบัดฟื้นฟูคนที่มีแววมีศักยภาพได้ฉายแววหรือเปล่งศักยภาพของตนขึ้นมาอีกครั้ง”


9. ทำ ‘ชีวาณูสงเคราะห์’ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษว่า Culturing the cells in a container.) ชีวาณูสงเคราะห์ บ้างก็ว่าหมายถึงการนำเอาเซลล์ของเนื้อเยื่อออกมาเพาะใหม่ บ้างก็ว่าคือการปลูกเนื้อเยื่อ บ้างก็หมายถึงการเพาะพันธุ์ในหลอดแก้ว สรุปโดยรวม น่าจะหมายถึงการการเพาะเซลล์ที่จะได้มาซึ่งพันธุ์ไม้ใหม่ที่มีความแกร่งกล้าและให้ดอกออกผลได้ดีกว่าเดิม ผู้เขียนใคร่ขอถอดรหัสนัยนี้ในเชิงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การว่าหมายถึงการที่องค์กรริเริ่มโครงการบ่มเพาะสร้างสรรค์ค่านิยม วัฒนธรรมองค์การใหม่ อันเป็นค่านิยมวัฒนธรรมที่เหมาะกับยุคสมัย และจะช่วยสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์การอย่างยั่งยืนในอนาคต


หลักการฟื้นฟูต้นมะม่วงด้วย 9 วิธีการ สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดแบบ “มนุษย์นิยม” (Humanism) และ “มนุษยธรรมนิยม” (Humanitarianism) ที่ให้ความเอาใจใส่ดูแลบุคลากรครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีผลงานดีหรือยังไม่มีผลงานชัดเจนก็ตาม ด้วยหลักความคิดพื้นฐานในแง่บวกที่เชื่อว่าคงไม่มีมนุษย์คนใดที่อยากเป็นคนไม่เก่งไม่ดี มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่อยากเป็นคนดีคนเก่ง และมนุษย์ทุกคนย่อมสามารถพัฒนาฟื้นฟูได้ องค์กรที่ดีจึงควรมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการเปิดโอกาสและพัฒนาบุคลากรเพื่อดึงเอาความสามารถและความดีงามของบุคลากรออกมา


ติดตามเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ วารสารการบริหารฅน People Magazine Vol.4.2559

Cover Story - ถอดรหัส “พระมหาชนก” จากมุมมองด้านการพัฒนามนุษย์และองค์การ

อัจฉริยภาพอันสร้างสรรค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผู้เขียน ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี | คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า

ดู 2,504 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page