top of page
รูปภาพนักเขียนDr. Nutavoot Pongsiri

พลเมืองเครือข่าย (Netizen)

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | Nutavootp@gmail.com

เว็บไซต์ Smart Insight รายงานว่า มีผู้ใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์สม่ำเสมอ (Active Users) ประมาณเดือนละ 3,484 ล้านคน หรือ 45% ของจำนวนประชากรโลก ที่ใช้งานมากที่สุด คือ Facebook ประมาณ 2,320 ล้านคน ตามมาด้วย Instagram มากกว่า 1,000 ล้านคน และ Twitter อยู่ที่ 326 ล้านคน จำนวนผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เช่น กรณี Arab Spring ที่นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลบางประเทศในตะวันออกกลาง ระหว่างการประท้วงมีการ Tweet มากกว่า 2 ล้านครั้งต่อวัน หรือ กรณีบริษัท Cambridge Analytica นำข้อมูลผู้ใช้ Facebook มาวิเคราะห์เพื่อกำหนดกลยุทธ์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น


นักเขียนอเมริกัน ไมเคิล ฮอเบน (Michael Hauben) เรียกกลุ่มผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ว่า ‘พลเมืองเครือข่าย’ หรือ ‘Netizen’ ซึ่งเกิดจากการรวมคำในภาษาอังกฤษ 2 คำ คือ Internet และ Citizen ในบางประเทศจะมีชื่อเฉพาะ เช่น เกาหลีใต้จะเรียก K-netizen หรือ Knetz เมื่อใดก็ตาม ‘Netizen’ มีสิ่งที่สนใจร่วมกันในประเด็นใด ก็จะติดเครื่องหมาย Hashtag (#) เพื่อเชื่อมโยงกลายเป็นเครือข่ายบนโลกออนไลน์ขนาดใหญ่ เช่น กรณี Weinstein Effect ที่มีการติดแฮชแท็ก ‘#MeToo’ ในการส่งต่อข้อความถึง 12 ล้านครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเปิดโปงพฤติกรรมของนักสร้างภาพยนต์ระดับตำนาน ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศดาราหญิงมายาวนาน แฮชแท็ก #MeToo กลายเป็นปรากฏการณ์ไวรัล จนนิตยสาร TIME ถึงกับจัดให้เป็นบุคคลแห่งปี 2017


ในอดีต สังคมแบ่งชนชั้นตาม "ฐานันดรศักดิ์" (The Estate) ออกเป็น 4 ประเภท ฐานันดรที่ 1 สำหรับกษัตริย์ และขุนนาง ฐานันดรที่ 2 คือกลุ่มนักบวชหรือผู้นำทางศาสนา ฐานันดรที่ 3 เป็นสามัญชนทั่วไป และฐานันดรที่ 4 ใช้กับสื่อสารมวลชนซึ่งทำหน้าที่กระจกเงาสะท้อนปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลได้เปิดพรมแดนการสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่ายในทุกที่ทุกเวลา ‘พลเมืองเครือข่าย’ จากสามัญชนบางส่วนได้กลายเป็น ‘นักข่าวพลเมือง’ อาศัยช่องทางที่เปิดกว้างรายงานและแสดงความคิดเห็นของตนเองในที่สาธารณะ กลายเป็นกลุ่มชนชั้นใหม่เรียกว่า ‘ฐานันดรที่ 3.5’ ซึ่งบางครั้งได้รับความนิยมมากกว่าสื่อสารมวลชนเนื่องจากสามารถให้ข้อเท็จจริงทั้งเนื้อหาและภาพอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมุมมองที่หลากหลาย อีกทั้งยังให้ผู้ติดตามเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ หลายคนจึงชอบอ่านข้อเขียนของ Blogger โดย ‘พลเมืองเครือข่าย’ มากกว่ารอรายงานข่าวจากสื่อมวลชนทั่วไป


ข้อได้เปรียบอีกประการของ ‘พลเมืองเครือข่าย’ คือ การใช้งานในระบบออนไลน์จะอยู่บนหลักพื้นฐานของ ‘ความเสมอภาคทางเน็ต (Net Neutrality)’ ผู้ให้บริการเช่น แอมะซอน กูเกิล ยูทูป ส่งข้อมูลไปตามเส้นทางที่ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นเจ้าของ ‘ความเสมอภาคทางเน็ต’ กำหนดให้เจ้าของอินเทอร์เน็ตต้องให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของกูเกิล หรือจากบริษัทขนาดเล็ก ต่างก็สัญจรไปบนเส้นทางเดียวกัน ด้วยความเร็วเท่ากัน ผู้ให้บริการไม่สามารถเลือกว่าจะให้บริการเป็นพิเศษแก่ใครได้ ‘ความเสมอภาคทางเน็ต’ ทำให้เกิดการแข่งขันสร้างนวัตกรรม ช่วยให้กิจกรรมบนโลกออนไลน์ของ ‘พลเมืองเครือข่าย’ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว


นอกจาก ‘ความเสมอภาคทางเน็ต’ ‘กลุ่มความร่วมมือด้านสิทธิและหลักการอินเทอร์เน็ต (Internet Rights and Principles Dynamic Coalition)’ หรือ IRPC จากภาครัฐ ธุรกิจและประชาชนในหลายประเทศ ได้ร่วมกันประกาศหลักการอินเทอร์เน็ตและสิทธิพื้นฐานของ ‘พลเมืองเครือข่าย’ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา จัดการ และดูแลอินเทอร์เน็ต โดยประยุกต์จากหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เช่น สิทธิในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย สิทธิในการค้นหา ได้รับ และแจ้งข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี สิทธิในการคบค้าสมาคมกันบนอินเทอร์เน็ต สิทธิในการแสดงความเป็นส่วนตัว สิทธิในการเข้ารหัส และสิทธิที่จะไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้รวมถึงต้องปราศจากการถูกสอดส่องตรวจตรา และได้รับการคุ้มครองข้อมูล นอกจากนี้ ความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมบนอินเทอร์เน็ต จะต้องได้รับการส่งเสริม เพื่ออำนวยความเป็นพหุลักษณ์ในการแสดงออก ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเป็นอิสระจากการถูกจัดลำดับ กรอง และควบคุมการจราจรอย่างแบ่งแยก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการค้า การเมือง หรือเหตุผลอื่นใด


สำหรับประเทศไทยได้มีการก่อตั้ง ‘เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network)’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เพื่อสนับสนุนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูล สิทธิในการคิดและแสดงออก สิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิในการร่วมออกแบบนโยบาย และสิทธิในการเป็นเจ้าของและใช้ทรัพยากร เครือข่ายดังกล่าวมีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ติดตามประเด็นเทคโนโลยีและการสื่อสารที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน วิจัยเชิงนโยบายและรณรงค์ขับเคลื่อนบนฐานงานวิจัย พัฒนาทักษะผู้ใช้เน็ตและสื่อพลเมือง รวมทั้งเปิดพื้นที่ความคิดเห็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ นโยบายสื่อ และวัฒนธรรมดิจิทัล


ฐานเศรษฐกิจ. “พลเมืองเครือข่าย (Netizen)”, CEO Focus, The Disrupt, หน้า 22, 18 พฤษภาคม 2562

HR Society Magazine. “พลเมืองเครือข่าย (Netizen)”. ธรรมนิติ. Vol. 17, No 198, หน้า 30-34, มิถุนายน 2562


ดู 174 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page