top of page
รูปภาพนักเขียนKHON

ดุจฝนชโลมดินที่แห้งผาก

อัปเดตเมื่อ 25 ธ.ค. 2563


พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์นักปรัชญา หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านได้ประทานให้ เป็นหลักปรัชญาที่แท้จริง เน้นการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบันมนุษย์เราเต็มไปด้วยสิ่งที่ทำให้ไม่เข้าใจแก่นของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ว่าจิตใจ สภาพความเป็นอยู่ สังคมที่ถูกต้องคืออะไร ซึ่งพระองค์ท่านได้ประมวลไว้ภายใต้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


สิ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานหลังจาก ที่ภาวะเศรษฐกิจในปี 40 ซึ่งฝ่ายต่างๆ พยายามทำความเข้าใจ ถึงเรื่องพอเพียง คำว่าพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นหมายถึงอะไร จึงได้รวบรวมนักเศรษฐศาสตร์พยายามนำพระราชดำรัสองค์ดังกล่าวมาประมวล และกราบบังคมทูลถามพระองค์ท่านโดยเขียนไปกว่า 40 หน้าถึงเกี่ยวกับคำว่า พอเพียง หรือเศรษฐกิจพอเพียง และกว่า 2 เดือน เหลือกลับมาเพียงกระดาษแผ่นเดียว และมาตีความต่ออีกว่าแปลว่าอะไร โดยนำนักวิชาการ นักวิเคราะห์ นักเรียนทุนทั้งหลาย มานั่งขบคิด แกะความจากกระดาษแผ่นเดียว กระทั่งกลายเป็นสิ่งที่เห็น เรียกว่ารูป 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ถ้ามีชีวิตที่สมดุลทุกด้านแล้วชีวิตจะยั่งยืน การจะอยู่สมดุลได้ต้องรู้จักพอประมาณ มีหลักคิดในเชิงเหตุและผล ต้องรู้จักสร้างภูมิคุ้มกันเรียกว่า Risk Analysis และมนุษย์จะอยู่ได้ต้องมีความรู้ด้านคุณธรรมเป็นเครื่องประคับประคองโดยพื้นฐาน


ในปี 2537 ขณะนั้นมีโครงการทฤษฎีใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกเป็นทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ทดลองทำที่สระบุรี พระองค์ท่านมีความคิดว่าทำอย่างไรให้เกษตรกรที่ขาดน้ำมีชีวิตที่พออยู่พอกิน คำว่า “พออยู่พอกิน” จึงเป็น key word ที่สะท้อนว่าพระองค์ท่านคิดอะไรอย่างไรที่จะให้คนทุกระดับพออยู่พอกิน ถึงแม้ว่ากระแสโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่เราก็พออยู่พอกิน ถึงเวลาก็มีอาหารกิน มีน้ำใช้ ฝนตกน้ำไม่ท่วม หน้าแล้งน้ำก็ไม่แล้ง จึงนำไปสู่หลักคิด แล้วก็ตั้งคำถามว่าใช้ได้อย่างไร สามารถใช้ได้ทุกระดับ ทุกที่ ทุกเรื่องของชีวิตหรือไม่ ถึงเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficient Economy)


“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เกษตรสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในแต่ละเรื่องที่พระองค์ทรงเขียน เกษตรกรอ่านแล้วสามารถทำตามได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญา เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3 อ่านและลองคิดดู จะเห็นได้ว่าเกษตรกรต้องรู้ตั้งแต่พื้นฐาน


ทฤษฎีที่ 1 จัดการแบ่งน้ำอย่งไร รู้ว่าฝนตกอย่งไร ดิน น้ำมีการระเหยอย่างไร ดินมีสภาพอย่างไร จัดสัดส่วนปลูกอย่างไร เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องของจัดการทรัพยากรดิน น้ำ พืช สัตว์ อย่างมีระบบเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องรู้การจัดการเวลา การเก็บออม ก็จะทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย พึ่งตัวเองได้มากที่สุด “แม้ไม่ใช่เกษตรกร เพียงแต่เรียนรู้การเป็นเกษตรกร” สามารถจัดการสิ่งที่อยู่รอบตัวเราได้ ทฤษฎีในขั้นที่ 2 เป็นการพูดถึงการอยู่ร่วมกันในชุมชน หมู่บ้าน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน หากเราแข็งแรงคนอื่นอ่อนแอ...เราก็อยู่กับคนอื่นไม่ได้ คนอื่นแข็งแรง...เราอ่อนแอก็เป็นภาระเขา ต้องทำให้ทุกคนแข็งแรง ทำให้ชุมชนแข็งแรง ซึ่งจะส่งผมไปถึงทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 คือทำอย่างไรจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นการบ่งบอกว่าพอเพียง ไม่เพียงแต่อยู่ได้ด้วยตนเอง แต่ยังต้องอยู่ให้ได้กับผู้อื่น เป็นเรื่องทฤษฎีสัมพันธภาพของมนุษย์ ทั้งนี่เป็นสะท้อนการคิดอย่างพอเพียง โดยคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และมีระบบ ซึ่งนเป็นกรอบใหญ่ให้เห็นจากตัวอย่างที่พระองค์ทรงปฏิบัติ


พระองค์ท่านมีวิธีคิดแบบชาวพุทธ และได้รับอิทธิพลวิธีคิดจากตะวันตก เป็นคนไทยที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศ แต่พระองค์ท่านก็เข้าใจประเทศไทยได้อย่างถ่องแท้ เพราะท่านเข้าใจ รับรู้ และเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นปรัชญาพอเพียง คือ การสอนให้ปรับกระบวนทัศน์ ความคิด ทัศนคติ ค่านิยมให้สมดุล หากเรายังติดในกับดักเดิมๆ เรื่องอยากยิ่งใหญ่ อยากร่ำรวย อยากสบาย อยากอยู่เหนือกว่าทุกคน แต่ในความเป็นจริงของโลกไม่เป็นเช่นนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ในกระบวนทัศน์ของพระองค์ท่านเสนอหลักความคิดสมดุล คือการเอาตัวเป็นที่ตั้ง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เรียกว่า “บูรณาการ”


พระองค์ท่านทรงเป็นครูที่ชอบตั้งคำถาม เพื่อให้คิดแล้วตอบ....มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีองคมนตรีท่านหนึ่งตามเสด็จพระองค์.....และได้รับคำถามกลับไปนอนคิดอยู่เป็นอาทิตย์ กระทั่งองคมนตรีท่านนั้นกลับมาบังคมทูลว่า “จนด้วยเกล้า สติปัญญาน้อย ขอถวายบังคมลาออกจากการเป็นองคมนตรี” แต่พระองค์ไม่ทรงพระราชทานนุญาติ.....แต่กลับอธิบายให้เข้าใจในสิ่งที่ได้ตั้งคำถามไปให้เข้าใจว่าเป็นอย่าง....สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงใช้หลัก “ปุจฉาวิสัชนา” ในการสอนให้คิดโดยการตั้งคำถามให้ตอบ


เรื่องการจัดการ เทคนิค ในการทำงานต่างๆ ของพระองค์ท่านได้ถูกรวบรวมไว้มากมาย กระทั่งได้รับรางวัลจากองค์กรสหประชาชาติ ซึ่งความรู้เหล่านี้เรียกว่า ศาสตร์พระราชา ที่รัฐบาลได้นำขึ้นมาพูดเป็นนโยบายหลัก ด้านการพัฒนาคนก็ได้รับรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (Human Development Lifetime Achievement Award) ซึ่งเป็นการเทิดทูนในฐานะที่พระองค์ท่านพัฒนาคนที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา อยากจะให้คนมีชีวิตที่ปลอดภัยและสันติสุข การเป็นนักพัฒนาของพระองค์จะสังเกตได้จากสิ่งที่พระองค์ทรงพาทำ คือชวนไปคิดด้วยกัน แลกเปลี่ยนกัน ทำไปด้วยกันเป็นหมู่คณะ ข้าราชการ ชาวบ้าน เป็นต้น ซึ่งในโครงการพระราชดำริทั้งหลาย จะเห็นทำไมพระองค์ท่านจะเลือกทำในสิ่งที่ ราชการยังคิดไม่ถึง ยังไม่ได้ทำ หรือคงอีกนานกว่าจะได้ทำ ด้วยความรู้ยังไม่พอ งบประมาณไม่พร้อม พระองค์ท่านก็จะริเริ่ม โดยเริ่มจากความคิดว่าจะให้อยู่แบบมั่นคง ยั่งยืนได้อย่าง แต่ก่อนชาวเขาชาวดอยตัดไม้ ปลูกฝิ่น พระองค์ก็เข้าไปริเริ่มโครงการต่างๆ เปลี่ยนแนวคิดให้รู้จักทำในสิ่งที่ยั่งยืน โดยอาศัยความสมดุลธรรมชาติ สร้างให้เกิดความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นก็เปลี่ยนไปได้


หลักการทรงงานของพระองค์ท่าน คือการทำอะไรต้องมีการวางแผน แล้วลงมือปฏิบัติ ด้วยความรู้ ทำด้วยใจรัก ที่สำคัญต้องทำให้ทุกคนเห็นชอบร่วมกัน จึงจะมีพลังรู้รักสามัคคี นี่คือหลักพื้นฐานที่พระองค์ท่านได้ถ่ายทอดไว้ จะเห็นว่าพระองค์ท่านชัดเจนว่า “ทำอะไร เพื่อใคร ได้อะไร” แล้วจะเห็นปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้เป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม พระองค์ท่าจะถามเสมอว่า ใครเป็นเจ้าภาพ เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ พระองค์ท่านจะมอบหมายและกำหนดเสมอ เพราะการใดสำเร็จต้องมีคนพร้อมที่จะรับผิดและรับชอบ “ผู้รับผิดชอบต้องมีความรู้ หากไม่รู้อย่าทำ....มีความรู้ ลงมือทำ อยากรู้ลึกต้องลงมือปฏิบัติ”

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


การพัฒนาคนคือการทำให้เขาเป็นคนดี คนเก่งในความหมายด้วยตัวเอง และเดินทางไปอย่างถูกต้อง เน้นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคม เปลี่ยนวิธีคิด โดยใช้ความรู้ในการลงมือปฏิบัติเอง ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่จุดมุ่งหมายในการพัฒนา แต่เป็นเพียงวิถีทางไปสู่จุดหมายใหม่ ไปสู่สิ่งที่ต้องปรับตัวใหม่ เฉกเช่นคำสอนในพุทธศาสนา ที่สอนให้คนบริหารการเปลี่ยนแปลงเพราะชีวิตเป็นอนิจจัง เราต้องปรับตามสภาพไปเรื่อยๆ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์ขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์ดีขึ้น ทำหน้าที่ให้ดีขึ้น นี่คือจุดมุ่งหมายของการพัฒนา


หลัก 3 Step เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เป็นหลักพื้นฐานการทำงาน ซึ่งการทำอะไรก็ตามเราต้องเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองมีก่อน เข้าใจชีวิต สิ่งแวดล้อม และเราไม่ได้ทำคนเดียว การเปลี่ยนแปลงต้องเข้าใจสภาพที่มีอยู่ ต้องทำให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับเราได้ ต้องให้คนที่เกี่ยวข้องเข้าใจกับเรา ร่วมมือกับเรา การกระทำจึงจะเกิดขึ้นและนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง


ในการแก้ปัญหา จะพบ่วามันไม่ได้มีคำตอบเดียว ทุกอย่างในโลกมีความหลากหลาย และหลายคำตอบสำหรับปัญหา สิ่งสำคัญคือให้แต่ละคนได้เลือกคำตอบที่เหมาะกับตัวเอง การพัฒนานั้นต้องเริ่มที่คนเป็นศูนย์กลาง ต้องให้เห็นว่าเขาเป็นเจ้าของปัญหา ให้คนจัดการปัญหาเอง การพัฒนายั่งยืนต้องให้พึ่งตัวเองให้มากที่สุด แต่ความเป็นจริงก็ไม่สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ทั้งหมด จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ต้องพึ่งพากัน ไม่เบียดเบียนกัน ให้ทุกฝ่ายมีบทบาท บริหารแบบองค์รวม องค์รวมคือ การทำอะไรก็ตามต้องคิดถึงมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำอะไรก็ตามให้ทุกฝ่ายที่มีผลกระทบนั้นกระทบในทางดีให้มาก กระทบในทางลบให้น้อยที่สุด นี่คือการมองในองค์รวม ความร่วมมือไม่ใช่ขอ ต้องพยายามทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าเราทำอะไร มีประโยชน์กับเค้าอย่างไร


การมองเรื่องของการพัฒนาควรมองเป็นแบบ Collective Problem เป็นเรื่องของส่วนร่วมไม่ใช่ Individual Problem หลักคิดการพัฒนาที่แท้จริงที่จะยั่งยืนได้ ต้องสร้างความเข้าใจทุกพื้นที่ แล้วจะเชื่อมโยงกันอย่างไร เป็นการสร้างทุนความเข้มแข็งในการอยู่ร่วมกันในสังคม ความคิดนี้เป็นความเดียวกับ Joseph Stiglitz ในหนังสือ Make Globalization ที่ชี้ให้เห็นถึง ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่ตกอยู่ภายใต้สภาวการณ์โลก แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นหากมองเรื่องพัฒนาในอย่างมีส่วนร่วมแล้ว ต้องช่วยให้ประเทศเหล่ามีการพัฒนาในระดับที่ดีขึ้น เข้าใจประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากร หรือยากจน


สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการพระราชดำริ คือ 1. ต้องมีความรู้ ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่พร้อมใช้ และพอเพียง 2. ต้องมีหลีกคิดที่ดีในการพัฒนาในการกำหนดโครงการ ต้องมีการจัดความสัมพันธ์ฝ่ายต่างๆ ให้เหมาะสม ในแต่ละระดับ 3. เน้นความร่วมมือทุกฝ่าย ไม่ใช่การสั่งการ มีการทำร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีผลลัพธ์ร่วมกัน มีเอกภาพในการตัดสินใจ กำหนดขอบเขตผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน


ความโชคดีที่ได้เกิดเป็นคนไทย มีพุทธศาสนาที่สอนในเรื่องของความจริง และอยู่กับความจริง ได้เกิดในประเทศที่ไม่ต้องเผชิญกับภัยธรมชาติต่างๆ คำถามคือ แล้วเราจะทำอะไรเมื่อต้องดำรงชีวิตต่อไป ต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความรู้ ความตั้งใจที่จะพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องด้วย “ศาสตร์พระราชา”


วารสารการบริหารฅน | ฉบับที่ 4/2559 | ศาสตร์พระราชา กับการบริหารทรัพยากรมนุษย์

ดู 39 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page