ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | Nutavootp@gmail.com
แม้ว่าในภาษาละตินจะแบ่งคำนาม ออกเป็น 3 เพศ คือ เพศชาย (Masculine) เพศหญิง (Feminine) และไม่มีเพศ (Neutral) แต่บรรทัดฐานทางสังคม ประเพณี ค่านิยม ภาษา และวัฒนธรรม กำหนดให้ต้องระบุว่าตนเองเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง เท่านั้น ในสังคมทุกวันนี้ ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่พบเห็นทั่วไป ซึ่งถ้าแบ่ง ตามเพศกำเนิด เพศสภาพ และรสนิยมทางเพศ จะได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ Lesbian-Gay-Bisexual-Transgender หรือ ‘LGBT’
อย่างไรก็ตาม เพศสภาพในสังคมไม่ได้มีแค่ ชาย หญิง และ LGBT เท่านั้น ปัจจุบันมีเพศสภาพใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า LGBT+ เช่น Queer Intersex Pansexual Asexual นอกจากความหลากหลายทางเพศสภาพแล้ว บางกลุ่มคนยังมีความเลื่อนไหลทางเพศ (Gender Fluid) คือเปลี่ยนแปลงได้ และมีความคลุมเครือ ไม่จำกัดว่าตนเองเป็นเพศใด เรียกว่า Non-binary ดังนั้นจึงมีคำถามว่าอะไรเป็นตัวกำหนดความเป็นเพศของเรากันแน่ อีกทั้ง คนรุ่นใหม่มีความเป็นปัจเจกและเคารพในความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ต้องการให้มีการเลือกปฏิบัติจากความคิดที่ล้าหลังว่า เพศใดมีบทบาททางสังคมมากกว่ากัน จนนำไปสู่แนวคิดใหม่นั่นคือ ‘ความเป็นกลางทางเพศสภาพ (Gender - Neutral)’ ซึ่งเป็นการเซ็ตซีโร่ความเป็นเพศให้อยู่ตรงกลาง โดยไม่ระบุเพศใดเพศหนึ่งชัดเจน ซึ่งแนวคิดดังกล่าว กลายเป็นอีกหนึ่ง Social Movement ที่รณรงค์ให้ไม่ใช้สภาพแวดล้อมทางสังคม สถาบัน ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อ เป็นตัวสร้าง หรือกำหนดบทบาททางเพศของแต่ละคนอีกต่อไป
กระแสนิยมความเป็นกลางทางเพศสภาพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในหลายรูปแบบ เช่น
1. ห้องน้ำที่ไม่แบ่งแยกเพศสภาพ (Gender-Neutral Toilet) ที่มีสัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยม มีใช้อย่างแพร่หลายในมหาวิทยาลัยและสถานที่ราชการของรัฐ แม้กระทั่งในทำเนียบขาว ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองกลุ่มคนข้ามเพศ ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวเอง
2. การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบบไม่ระบุเพศ (Gender-Neutral Style) แฟชั่นเริ่มมีความลื่นไหลไปมาระหว่างความเป็นผู้ชายและความเป็นผู้หญิง จึงมีเสื้อผ้าที่ไม่ว่าเพศใดก็ใส่ได้อย่างเท่าเทียม เป็นการให้นิยามใหม่ที่ไม่ได้ถูกยึดโยงกับเรื่องเพศสภาพ เช่น แบรนด์ Ungendered Collection ของ ZARA ภายใต้แนวคิด “ไม่ว่าใครก็ใส่ได้”
3. ผลิตภัณฑ์ความงามที่ไม่แบ่งเพศ (Gender-Neutral Beauty) บรรจุภัณฑ์สินค้าของผู้หญิงส่วนใหญ่จะ มีสีหวานและรูปดอกไม้ ในขณะของผู้ชายจะเป็นสีเทา และน้ำเงินเป็นหลัก ผลิตภัณฑ์ Gender-Neutral ที่กำลังได้รับความนิยม เช่น Panacea ของเกาหลีใต้ที่มีบรรจุภัณฑ์มีสีขาวเป็นหลัก หรือ แบรนด์ Non- Gender Specific (NGS) โฆษณาว่าเป็น ‘Brand for All Humans’
4. สัญลักษณ์แทนการสื่อสารทางอารมณ์แบบไร้เพศสภาพ (Gender-Neutral Emoticons) เว็บไซต์ Emojipedia เปิดตัว Emoji ชุดใหม่ที่เน้นความเป็นกลางทางเพศสภาพ เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ Emoji ที่สะท้อนความเป็นตัวเองได้มากที่สุด มีทั้งภาพผู้ชายจับมือกัน ผู้หญิงจับมือกัน แทนที่จะมีแค่คู่หญิงชายตามที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
5. การเลี้ยงลูกแบบไม่จำกัดกรอบทางเพศ (Gender-Neutral Parenting หรือ GNP) ศิลปินดาราหลายคน เช่น นักร้อง Pink ออกมาประกาศว่า จะเลี้ยงลูกให้เป็น Gender Neutral ที่บ้านจะไม่มีการแขวนป้าย หรือกำหนดสัญลักษณ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ เธออยากให้ลูกสาวมีอิสระในการค้นหาและเลือกเพศของตัวเอง เพราะการกำหนดเพศสภาพนั้นทำให้มีข้อจำกัดในอนาคต เช่น การเลือกประกอบอาชีพ และการทำหน้าที่ในสังคม
6. โรงเรียนอนุบาล ‘ไร้เพศ' (Neutral-Gender Kindergarten) โรงเรียน Egalia Pre-school ในสวีเดน ใช้สรรพนามเรียกชื่อนักเรียนว่า ‘พวกเขา’ นิทานคัดเฉพาะเรื่องที่ตัวละครไม่ถูกกำหนดบทบาทที่แบ่งแยกเพศชัดเจน เช่น เจ้าหญิง เจ้าชาย พระเอก นางเอก ผู้บริหารของโรงเรียน เชื่อว่าการเรียนการสอนแบบเป็นกลางทางเพศสภาพนี้ ช่วยเปิดกว้างทางความคิดและส่งเสริมการเป็นตัวตนให้กับเด็ก ๆ โดยไม่มีการจำกัด หรือคาดหวังเรื่องใดก็ตามโดยใช้เพศสภาพเป็นหลัก
ปัจจุบันบางประเทศ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย เนปาล และไต้หวันไปไกลกว่าแค่การยอมรับความหลากหลายทางเพศสภาพ โดยยินยอมให้พลเมืองของตนสามารถระบุว่าเป็น “คนไม่มีเพศ (Gender-Free)” ในหนังสือเดินทางได้แล้ว เช่นเดียวกับ รัฐแคลิฟอร์เนีย และโอเรกอนในสหรัฐอเมริกา ที่พ่อแม่สามารถระบุว่าลูกของตน ‘ไม่มีเพศ’ ในสูติบัตรได้เช่นกัน และประชาชนสามารถเลือกไม่ระบุเพศใดเพศหนึ่งชัดเจนในใบขับขี่ของรัฐได้
สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558 ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ขณะที่ (ร่าง) พระราชบัญญัติคู่ชีวิต เปิดให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ แต่การจะก้าวไปถึงขั้นยอมรับความเป็นกลางทางเพศสภาพ (Gender-Neutral) ในสังคมไทย น่าจะยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ
ฐานเศรษฐกิจ. “ความเป็นกลางทางเพศสภาพ (Gender – Neutral)”, CEO Focus, The Disrupt, หน้า 23, 19 เมษายน 2562
HR Society Magazine. “ความเป็นกลางทางเพศสภาพ (Gener-Neutral)”. ธรรมนิติ. Vol. 17, No 196, หน้า 14-17, เมษายน 2562
Comments