top of page

การเชื่อมโยงมนุษย์กับเทคโนโลยี (Connecting Humanity & Technology)

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | nutavootp@gmail.com

ในอดีตการทำงานส่วนใหญ่ต้องอาศัยพละกำลังและทักษะของมนุษย์หรืออาจผสมผสานกับแรงงานของสัตว์ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทช่วยให้งานทำได้รวดเร็วในปริมาณที่มากขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในการเลือกใช้เทคโนโลยีต้องเข้าใจก่อนว่าเทคโนโลยีที่จะใช้นั้นคืออะไร นำมาใช้งานได้อย่างไร และที่สำคัญคือในที่สุดแล้วการควบคุมเทคโนโลยีจะกลายเป็นการถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีหรือไม่

มนุษย์มีข้อจำกัดทางด้านกายภาพ ถึงแม้จะมีขนาดสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น สามารถคิด มีจินตนาการที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ แต่เมื่อเทียบกับปัญญาประดิษฐ์หรือสมองกลอัจฉริยะ AI (Artificial Intelligence) ที่สามารถทำงานได้เกือบทุกอย่างที่มนุษย์เคยทำและอาจทำได้ดีกว่า เช่น แต่งเพลง เขียนนวนิยาย สามารถเล่นหมากล้อมชนะคนได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วเราก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่เป็น AI หรือเครื่องกลต่างๆ ควรเป็นเช่นไร ในด้านบวก นี่อาจจะเป็นโอกาสที่เราไม่ต้องทำงานที่เราไม่อยากทำ หรือที่เรียกว่างาน 3D (Dirty, Dangerous, Difficult) แต่ในอีกด้านหนึ่งมนุษย์อาจกลายเป็นส่วนเกินที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป


ที่ผ่านมา บริษัทใหญ่ระดับ Corporation จะแสวงหาแรงงานที่มีค่าแรงถูกในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อตั้งโรงงานผลิตและส่งออกสินค้า แต่ในปัจจุบันระบบ Automation ที่มีราคาถูกลงและประสิทธิภาพสูงขึ้น กำลังสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Reshoring ซึ่งบริษัทที่เคยหาแหล่งแรงงานราคาถูก ได้เริ่มย้ายฐานการผลิตกลับไปตั้งที่ประเทศแม่ เนื่องจากต้นทุนในการติดตั้งระบบ Automation ที่ไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ ไม่ได้แพงไปกว่าการใช้แรงราคาถูก มีความผิดพลาดในกระบวนการผลิตน้อยกว่า แถมสินค้ายังมีความน่าเชื่อถือจากการใช้ชื่อประเทศผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง และที่สำคัญคือไม่ต้องกังวลเรื่องการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงของคนงานอีกต่อไป


มนุษย์มีศักยภาพทางด้าน Social Intelligence, Emotional Intelligence และ Intellectual Intelligence ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ยังได้เปรียบเทคโนโลยีอยู่เพราะ AI ยังทำไม่ได้ เช่น การทำงานแบบเป็นทีม การตัดสินใจโดยใช้วิจารณญาณ และการกระตุ้นรวมพลังสู่เป้าหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ AI อาจจะสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องอาศัยการหลอมรวมมนุษย์กับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน (Singularity) ผ่านทางการสื่อสารระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Brain-Computer Interface หรือ BCI ซึ่งอาจไปถึงขั้นมนุษย์สามารถดาวน์โหลดข้อมูลในสมองรวมถึงจิตใจมาเก็บไว้ใน Machine เมื่อเสียชีวิต และมีร่างใหม่ ก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลกลับเข้าไปใหม่ได้ครบถ้วน แม้กระทั่งดาวน์โหลดสมองไว้ในระบบ Cloud เพื่อใช้ประโยชน์รวมกันก็ได้


BCI จะแตกต่างจาก AI ที่เป็นการทำงานของระบบ Algorithm อย่าง Chat Bot จะเป็นระบบถาม-ตอบอัตโนมัติ มีการเรียนรู้และสามารถตอบคำถามได้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในเชิงจริยธรรมแล้ว AI ยังไม่สามารถใช้วิจารณญาณได้ ต้องอาศัย BCI ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับ AI ซึ่งปัจจุบันก้าวหน้าไปถึงขึ้นไม่ต้องใช้สายระโยงระยางในการเชื่อมต่อ แค่สัญญาณจากเปลือกสมองก็สามารถสั่งการได้แล้ว


ความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีเป็นไปได้ 3 สมมุติฐาน คือ ถ้าหากเทคโนโลยีมีการพัฒนามากกว่าสมองของมนุษย์ ก็จะคล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง “The Matrix” ที่เครื่องจักรกลเป็นตัวควบคุมมนุษย์ ส่วนสมมุติฐานที่สองคือ มนุษย์ยังคงควบคุมเครื่องจักรกล เช่น แขนกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมจะทำหน้าที่เฉพาะเรื่องไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งกำลังพัฒนาไปในแบบที่เรียกว่า Collaborative Robot หรือ CoBot ที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก ทำงานร่วมไปกับมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ช่วยทำงานบ้าน สมมุติฐานที่สาม คือการอยู่ร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์แบบเป็นเนื้อเดียวกัน เช่นมนุษย์ที่ไม่สามารถเดินได้ ใส่ชุดอุปกรณ์ที่ออกแบบให้เหมาะกับสรีระและอาศัย BCI เพื่อสั่งการอุปกรณ์เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น


ศิลปินชื่อ นีล ฮาร์บิสสัน (Neil Harbisson) เกิดมากับโรคตาบอดสี เป็นมนุษย์คนแรกที่ติดตั้งอุปกรณ์คล้ายๆ กับ เสาอากาศ แทนที่จะเห็นโลกเป็นสีเทา กลับสามารถแปลงสีต่างๆ เป็นความถี่ที่ได้ยินได้ นอกจากฟังสีได้แล้ว ยังสามารถฟังใบหน้าผู้คนและรูปภาพได้อีกด้วย ซึ่ง นีล ฮาร์บิสสัน ได้กล่าวไว้ในประเด็นการเชื่อมโยงมนุษย์กับเทคโนโลยีอย่างน่าสนใจว่า “แทนที่จะใช้เทคโนโลยีหรือสวมใส่เทคโนโลยีเป็นประจำ มนุษย์กำลังจะเริ่มเป็นเทคโนโลยี (Instead of using technology or wearing technology constantly, we will start becoming technology)”

ฐานเศรษฐกิจ Online, 2561. ‘การเชื่อมโยงมนุษย์กับเทคโนโลยี’, 21 กรกฏาคม 2561.
HR Society Magazine. ‘การเชื่อมโยงมนุษย์กับเทคโนโลยี (Connecting Humanity & Technology)’. ธรรมนิติ. Vol. 16, No 189, หน้า 18-21, กันยายน 2561
ดู 2,624 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page