top of page
รูปภาพนักเขียนKHON

การพัฒนาภาวะผู้นำในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA

People Magazine | วารสารการบริหารฅน 3/2561

การศึกษาเรื่องของแนวโน้มในอนาคตของการพัฒนาความเป็นผู้นำ ซึ่งเราเชื่อว่าการพัฒนาผู้นำระดับอาวุโสโดยใช้วิธีการพัฒนาภาวะผู้นำแบบดั้งเดิม ซึ่งได้แก่ การฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน การมอบหมายงาน การสอนงาน และการเป็นพี่เลี้ยง เป็นสิ่งที่ล้มเหลงในระยะเวลาอันสั้น การที่จะพัฒนาความสามารถของผู้นำนั้น เราจะต้องทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA วิธีการฝึกอบรมต่างๆ นั้นจะต้องแทรกในเรื่องภาวะผู้นำในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA จะต้องมีการพัฒนาความรู้ทั่วทั้งองค์กรและเพิ่มความเร็วของการเรียนรู้เหล่านั้น รวมทั้งมีวิธีการเรียนรู้ในงานเฉพาะ


นักทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความสามารถจะต้องวางแผนการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำใหม่ให้รองรับกับสภาพแวดล้อมแบบ VUCA ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราควรให้ความสำคัญน้อยลงในเรื่องของพฤติกรรม ขีดความสามารถ ความคิดรวบยอดและการพัฒนาจิตใจ แต่ในการพัฒนาความเป็นผู้นำควรจะมุ่งเน้นไปที่ความคล่องแคล่วว่องไว การเรียนรู้ความตระหนักในตนเอง การเผชิญหน้ากับความคลุมเครือและความคิดเชิงกลยุทธ์ ถ้าเราต้องการทำเช่นนั้น นักทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความสามารถ อาจจะต้องเริ่มต้นที่กระบวนการคัดเลือก


ขั้นตอนที่ 1 จ้างผู้นำที่มีความคล่องแคล่วว่องไว

นักทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความสามารถ จะต้องประเมินความคล่องตัว ความคล่องแคล่วว่องไวและทักษะการคิดที่ซับซ้อนในระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกโดยใช้รูปแบบการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างที่ออกแบบมาจากตัวอย่างในการทำงานที่ผ่านมา


ตัวอย่างบางคำถามที่แนะนำ:

> ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่คุณสามารถทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความคลุมเครือ คุณมีความสุขในการทำงานกับสภาพแวดล้อมแบบนี้หรือไม่ และคุณได้เรียนรู้อะไร

> ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อคุณมีความต้องการอย่างแน่วแน่ที่จะทำอะไรบางอย่าง คุณมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องตัดสินใจในกรณีที่เร่งด่วน เหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่คุณจะต้องพิจารณาเมื่อต้องทำการตัดสินใจ และผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร

> คุณมีวิธีการตัดสินใจอย่างไร ระหว่างคุณต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจหรือคุณการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่คุณมีอยู่ในมือ ให้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรณีที่คุณได้ตัดสินใจอย่างรวดเร็วบนพื้นฐานของข้อมูลที่คุณมีอยู่ และสถานการณ์ที่คุณเลือกจะเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจ รูปแบบการตัดสินใจแบบไหนที่เป็นตัวคุณและทำไมคุณจึงเลือกวิธีการตัดสินใจแบบนั้น

> ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในกรณีที่คุณจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตส่วนตัวของคุณเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการทำงานที่มีความสำคัญ คุ ณมีวิธีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรและผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคืออะไร


นักทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความสามารถ สามารถกำหนดคำถามอื่นๆ ที่ใช้ประเมินทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้สมัคร ความตระหนักรู้ในตนเอง การเปิดใจกว้างพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการติดต่อสื่อสารข้ามหน้าที่และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA สิ่งที่สำคัญคือการดึงผู้นำที่มีทักษะและความสามารถเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในองค์กรของเรา


ขั้นตอนที่ 2 พัฒนาผู้นำที่มีอยู่ให้กลายเป็นผู้นำที่มีความคล่องแคล่วว่องไว

การฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน การมอบหมายงาน การสอนงาน และการเป็นพี่เลี้ยง ยังคงใช้อยู่ในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน แต่การพัฒนาผู้นำแบบ VUCA นั้น นักทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความสามารถ จะต้องมุ่งเน้นโปรแกรมที่ช่วยพัฒนาในเรื่องความคล่องแคล่วว่องไวในการปรับตัวการคิดนวัตกรรม การทำงานร่วมกัน การสื่อสาร การเปิดใจกว้างยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ผู้นำต้องการที่จะพัฒนาตามโปรแกรมที่ได้ออกแบบไว้อย่างรวดเร็ว (ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง


นักทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความสามารถมีส่วนร่วมในการวางแผนเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่เป็นไปได้ แล้วนำมาพัฒนาโปรแกรมภาวะผู้นำ วางแผนสถานการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกี่ยวข้องกับโครงการในปัจจุบัน ฉายภาพเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะเป็นไปได้และตัดสินใจเลือกวิธีการว่าองค์กรจะตอบสนองหรือจะไม่ตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้น การวางแผนในสถานการณ์ต่างๆ นั้นสามารถช่วยระบุความรู้ ทักษะคุณลักษณะอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา


หลักของการพัฒนาภาวะผู้นำในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA นั้น จะต้องให้ผู้นำฝึกอบรมในสถานการณ์ที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างความท้าทายและการแก้ไขปัญหา สิ่งนี้จะทำให้ผู้นำมีความเชื่อมั่นในตนเองเมื่อพวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน


แบบจำลองสถานการณ์เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเมื่อนำมาใช้ในการพัฒนาภาวะผู้นำในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA เพราะพวกเขาจะได้มีโอกาสในการฝึกทักษะในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีภัยคุมคาม เป็นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย แบบจำลองสถานการณ์อาจจะได้มาจากการแสดงบทบาทสมมติในห้องเรียน ศูนย์การประเมิน ภาพจำลองเสมือนจริง การใช้แบบจำลองสถานการณ์นั้น สามารถช่วยทำให้ผู้นำประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของพวกเขาได้ และทำให้พวกเขาตระหนักถึงทักษะของตัวเองและช่องว่างที่จะต้องปรับปรุงได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้วเพื่อพัฒนาความร่วมมือและการส่งเสริมให้คิดนอกกรอบ นักทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความสามารถควรพิจารณาในเรื่องของการหมุนเวียนงานที่จะช่วยให้ผู้นำคิดเกินขอบเขตการทำงานของพวกเขา


ขั้นตอนที่ 3 การสร้างวัฒนธรรมองค์การที่เน้นการให้รางวัลสำหรับคนที่ปรับพฤติกรรมตาม VUCA เพื่อรักษาพนักงานให้มีคล่องแคล่วว่องไว

เพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA องค์กรจะต้องทำมากกว่าการจ้างงานและการพัฒนาผู้นำให้มีความคล่องตัว แต่จะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีการให้รางวัล เมื่อผู้นำมีพฤติกรรมตามที่ต้องการ นักทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความสามารถ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรแบบ VUCA โดยการให้รางวัลในการคิดค้นนวัตกรรม มีพฤติกรรมคล่องแคล่วว่องไวทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้ดี การออกแบบระบบการจัดการผลการปฏิบัติงาน ควรจะสะท้อนถึงการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมแบบ VUCA ด้วย


รางวัลสำหรับพฤติกรรมที่ต้องการรวมถึงการมีสิ่งจูงใจนอกเหนือไปจากเงินเดือนหรือการเลื่อนตำแหน่งหรือการมอบหมายงานพิเศษที่ชื่นชอบ ความสำคัญของการกำหนดรางวัลในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA ไม่มีได้กฎเกณฑ์ที่ตายตัว แต่จะให้ผลตอบแทนที่ดึงดูดใจสำหรับผู้นำที่ประสบความสำเร็จโดยเน้นในเรื่องของปรับตัวและคล่องตัว


การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการให้ผลตอบแทนแก่ผู้นำที่สามารถปรับตัวและมีความคล่องตัวนั้น จะเริ่มขยายและดึงดูดให้ผู้นำเหล่านั้นคิดค้นนวัตกรรมและและมีความคล่องตัวในธุรกิจปัจจุบัน นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ธุรกิจมีการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในช่วงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเรียกว่าสภาพแวดล้อมแบบ VUCA


อ้างอิง : Kirk Lawrence. (2013). Developing Leaders in a VUCA Environment. UNC Executive Development.2013, 7-11
ดู 571 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comentários


bottom of page