top of page
รูปภาพนักเขียนชัยทวี เสนะวงศ์

กระบวนทัศน์ของผู้นำในการบริหารองค์กร ศตวรรษที่ 21

ชัยทวี เสนะวงศ์ | People Magazine 3/2556

สังคมโลกในศตวรรษที่ 21 จะเป็นสังคมดิจิทัลที่มีความเป็นโลกาภิวัตน์สูง Thomas L.Friedman ผู้เขียนหนังสือ “The World is Flat” สรุปว่า ถึงแม้ว่าตามลักษณะทางกายภาพโลกจะกลม แต่วิถีการดำรงชีวิตและการทำงาน โลกของเราจะแบนราบ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จะส่งผลให้คน องค์กร และประเทศต่างๆ มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น การติดต่อสื่อสารระหว่างกันจะทำได้สะดวก รวดเร็วขึ้น การบริหารองค์กรสามารถแสวงหาโอกาส รวมถึงการใช้ทรัพยากร ความรู้ทุกรูปแบบ จากทุกแห่งบนโลกใบนี้ กำแพง อุปสรรค นานาประการที่เคยขวางกั้นความร่วมมือและการแข่งขันจะค่อยๆลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความสำเร็จหรือความล้มเหลว ของการบริหารองค์กรจะอยู่ที่ว่าผู้บริหารจะมีความสามารถในการมองอนาคตอย่างไร แล้วฉกฉวยโอกาสของการแบนราบดังกล่าวมาสร้างมูลค่า ประโยชน์ ความได้เปรียบในการแข่งขัน ต่อองค์กรได้มากกว่ากัน


และ Subir Chowdhury ผู้เขียนหนังสือ “Management 21C : New Vision for the New Millennium”สรุปว่าการบริหารองค์กรในศตวรรษที่ 21 จะมีความยุ่งยากสลับซับซ้อน ความไม่แน่นอน ความกำกวม และการเปลี่ยนแปลง เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะองค์กรจะต้องเผชิญกับปัจจัย สภาวะแวดล้อมภายนอกที่ควบคุมไม่ได้หลากหลายขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถ้าผู้นำไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ที่ดีพอจะมีผลกระทบมาสู่ความสามารถในการแข่งขัน และการปฏิบัติงานขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ฉะนั้น ผู้นำในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีการพัฒนาภาวะการนำให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ความสามารถในการนำ(Lead)ของผู้นำจะต้องเริ่มจากการมีกระบวนทัศน์ที่กว้างไกลคิดนอกกรอบ ที่สอดรับกับทิศทางของกระแสโลก ทั้งนี้เพื่อแสวงหากลยุทธ์ใหม่ๆในการนำพาองค์กรให้อยู่รอดปลอดภัย และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งกระบวนทัศน์ที่ผู้นำยุคใหม่ต้องใส่ใจหรือปรับเปลี่ยน เพื่อความสำเร็จในการบริหารองค์กร ควรมีดังต่อไปนี้


1. การบริหารองค์กรควรเป็นไปในลักษณะที่มองจากภายนอกสู่ภายใน(Outside In Approach): ผู้นำที่ทันสมัยจะต้องติดตามและทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมของสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แล้วสร้างความเชื่อมโยงให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบต่อขีดความสามารถขององค์กรอย่างไร จากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ นักอนาคตวิทยา หลายๆสำนักพยากรณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่สำคัญๆที่เรียกว่ากระแสโลก (Global Megatrend) ที่ผู้นำจะต้องให้ความสำคัญ มีดังนี้

1.1 ระบบเศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้ความรู้ (Knowledge Economy/Creative Economy) มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ องค์กรต่างๆจะต้องพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานขององค์กรไปในลักษณะของ Less For More คือใส่ทรัพยากรต่างๆ (Input) เข้าไปในกระบวนการปฏิบัติงานน้อยๆ แล้วใช้ความรู้ ภูมิปัญญา รังสรรค์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (Output) ที่มีปริมาณ คุณภาพ และมูลค่าเพิ่ม ที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ


1.2 สภาวะโลกร้อน (Global Warming) จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการบริหารองค์กรมากยิ่งขึ้น เพราะมนุษยชาติกำลังบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่สมดุล ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2556 ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่ทำการศึกษาถึงสภาพอากาศวิปริต จำนวน 12 ครั้ง ตั้งแต่ภัยแล้งในสหรัฐอเมริกาและแอฟริกา ไปจนถึงฝนตกหนักในยุโรป ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากใช้พลังงานฟอสซิลของมนุษย์ มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศวิปริตถึง 6 จาก 12 ครั้ง การแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนได้ดีที่สุดแต่ยากที่สุด จะต้องเริ่มจากตัวเองก่อนด้วยการสร้างจิตสำนึกให้คน ต้องรู้จักการลด ละ เลิกการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย แล้วใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติที่น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นทิศทางของระบบเศรษฐกิจในกระแสโลกจะเป็นเศรษฐกิจแนวระบบนิเวศที่การบริหารองค์กรจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Go Green) สภาวะโลกร้อนจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรที่จะอยู่รอดในอนาคต


1.3 โลกาภิวัฒน์ (Globalization) จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจ จากภูมิภาคหนึ่งไปสู่อีกภูมิภาคหนึ่ง มีความรวดเร็วขึ้น โลกจะเปิดกว้างมากขึ้น เพราะฉะนั้นการบริหารองค์กรของผู้นำที่นอกจากจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความเป็นสากลมากขึ้นแล้ว จะต้องมีความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ (Business Model) ให้สอดรับกับความเป็นโลกาภิวัฒน์ของโลกอย่างเหมาะสมด้วย


1.4 การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร (Demographics) ที่โลกจะมีคนสูงอายุมากขึ้น และมีอัตราการเกิดที่มีแนวโน้มลดลง สังคมโลกจะมีทิศทางที่กลายเป็นสังคมของผู้สูงอายุ (Aging Society) และมีโอกาสที่จะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน นอกจากจะมีปัญหาในเรื่องโครงสร้างอายุของประชากรแล้ว โลกยุคนี้ยังเป็นยุคที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่วิถีการดำรงชีวิต ทัศนคติ แนวคิดและผลประโยชน์ ผู้นำยุคใหม่ต้องเปิดใจยอมรับและเรียนรู้ที่จะบริหารความแตกต่างหลากหลายทั้งปวง มาก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กรให้ได้ ไม่ใช่ปฏิเสธ ต่อต้าน ผลักไส ความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้น การที่จะบริหารความแตกต่างหลากหลายได้ดี ผู้นำจะต้องคลาย ลดละ ความยึดติด ถือมั่นในความคิด ความเชื่อ หรือความดีของตนลงบ้าง เพราะหากยังยึดติด ถือมั่นอยู่ก็จะทำให้การยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้อื่นเป็นไปได้ยาก


1.5 การเชื่อมต่อกันของสังคมโลก (Connectivity) ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ จะทำให้โลกแคบลงด้วยการติดต่อสื่อสารที่มีการเชื่อมโยงกันในรูปแบบของเครือข่าย (Network) ที่ทั้งรวดเร็วขึ้นและราคาถูกลง ทำให้การทำงานของสังคมโลกกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบทำงานกันไปในลักษณะที่ทำกันที่ไหน วัน เวลา อะไรก็ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน


1.6 การพัฒนาการทางระบบเศรษฐกิจส่งผลให้ช่องว่างระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมืองแคบลง ผลักดันให้วิถีชีวิต โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคของความเป็นสังคมเมือง (Urbanization) ที่มีคนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น มีความสนใจในสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น


1.7 ความมั่นคงทางด้านพลังงานและอาหาร โลกในอีกไม่ช้าจะต้องพบกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานเพราะพลังงานฟอสซิลกำลังจะหมดลง และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ส่งผลกระทบให้อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารและน้ำในอนาคต หลายๆประเทศกำลังเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานและอาหาร ซึ่งอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสของธุรกิจที่จะคิดค้นนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิล และการผลิตอาหาร น้ำ ที่ไม่พึงพิงหรือพึงพิงแต่น้อยจากแหล่งอาหารทางธรรมชาติ


1.8 ผู้บริโภคมีความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้น (Great Expectation) ทั้งคุณภาพ ราคา รูปลักษณ์ การบริการ และอรรถประโยชน์ ในตัวสินค้าและบริการขององค์กร และในเวลาเดียวกันก็พร้อมที่จะเปลี่ยนใจไปใช้สินค้า บริการ ชนิดอื่นๆหรือชนิดเดียวกันของคู่แข็งขันได้ง่ายขึ้น เมื่อความคาดหวังของตนเองไม่ได้รับการตอบสนอง องค์กรยุคใหม่จะต้องมีการแปลงโฉมงานการบริหารลูกค้าไปในทิศทางที่มองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ที่เน้นสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ดีที่สุดมากกว่าผลิตสินค้าที่ดีที่สุด และเน้นการบริการลูกค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่าเน้นยอดขาย


2. เศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่ Internet จะเปลี่ยนสังคมโลก: มีการประมาณการกันว่าปัจจุบันประชากรโลกใช้ Internet ประมาณ 2 พันล้านคน และมีโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในโลกกว่า 6.8 พันล้านเครื่อง เทคโนโลยีดิจิทัลจะนำไปสู่การผลิตสินค้าและบริการทำที่ไหนก็ได้ในโลก ด้วยราคาที่ถูกลง มีความรวดเร็วมากขึ้น เช่น บริษัทในสหรัฐอเมริกาเอาต์ซอร์ซงานโอเปอเรเตอร์ ไปทำที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย หรือประชาชนในแคนาดา สามารถจ้างนักบัญชีจากเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ เป็นต้น เทคโนโลยีดิจิทัลจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆในการบริหารองค์กร ดังนี้

2.1 ระบบ Internet จะทำให้การเข้าถึงความรู้ เปิดกว้างเป็นเรื่องง่ายและราคาถูกลง สำหรับทุกคน การที่คนมีความรู้มากขึ้นเรื่อยๆจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการทำธุรกิจ ประเด็นก็คือผู้นำยุคใหม่จะใช้ Internet ให้เป็นประโยชน์หรือสร้างโอกาสต่อองค์กรได้อย่างไร


2.2 ระบบ Internet จะทำให้การติดต่อสื่อสาร และการเชื่อมโยงของมนุษยชาติในโลกเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว เพียงปลายนิ้วคลิก ระบบ Internet จะก่อให้เกิดการสร้างเครือข่าย (Networking) ในการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และค้าขายระหว่างกัน ทั้งกับคนที่เคยรู้จักกันและไม่เคยรู้จักกัน หรือเห็นหน้าเห็นตากันมาก่อน การเชื่อมโยงแบบเครือข่ายจะสร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นการซื้อ ขาย การลงทุน ซึ่งกำลังเป็นกระแสของโมเดลธุรกิจยุคศตวรรษที่ 21 ในการสร้างมูลค่า (Value) และความมั่งคั่ง (Wealth) ขององค์กร


2.3 เทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้การผลิตสินค้าและบริการ จะแบ่งออกเป็นสองลักษณะใหญ่ๆ คือ สินค้าที่นับวันราคาจะยิ่งถูกลงไปเรื่อยๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น เครื่องคิดเลข เป็นต้น และสินค้าที่ราคานับวันยิ่งแพงไปเรื่อยๆ ได้แก่ สินค้าและบริการที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้และนวัตกรรม ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายๆ เช่น การรักษาพยาบาล งานที่ปรึกษาฯด้านต่างๆ การขายอาหารตามสั่ง เป็นต้น ผู้นำจะต้องวิเคราะห์ให้ชัดว่าองค์กรของตนเองอยู่ในธุรกิจประเภทไหนและควรมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างไร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กร


3. สร้างความสมดุลทางการบริหารระหว่าง Hierarchy และ Collaboration: การบริหารองค์กรยุคใหม่ที่ผู้นำจะต้องพบกับความไม่แน่นอน ความหลากหลาย ความยืดหยุ่น การเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะคนจะมีความหลากหลายมากกว่ายุคก่อน ๆ ทั้งด้านเพศ เชื้อชาติ อายุ โครงสร้างทางสังคมและความคิดเห็นต่าง ๆ การบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จผู้นำจะต้องผสมผสานภาวะการนำที่ต้องมีทั้งการควบคุมบังคับบัญชา (Hierarchy) และการสร้างความร่วมมือร่วมใจ (Collaboration) ในการปฏิบัติงานอย่างลงตัวตามสถานการณ์ ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่มีความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะเป็นองค์กรที่ประสานความร่วมมือร่วมใจกันได้ดีที่สุด การบริหารองค์กรยุคใหม่ที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านภาวะการนำแบบควบคุม สั่งการ ไปสู่การเชื่อมโยงและความร่วมมือร่วมใจกันทั้งภายในและระหว่างองค์กร เพราะว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยี การตลาด การผลิต การบริการ การบริหารคน จะมีความสลับซับซ้อนมากเสียจนไม่อาจที่ใครคนใดคนหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง จะมีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จได้โดยลำพัง


4. จุดเปลี่ยนของความสามารถในการแข่งขัน: องค์กรในยุคโลกาภิวัตน์ ความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กรจะเปลี่ยนผ่านจาก ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงานถูกๆ เทคโนโลยี สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ อัตราภาษี ที่มีความใกล้เคียงกันในตลาดโลกและการย้ายฐานการผลิตหรือกิจการจะทำได้โดยง่ายๆ มาสู่

4.1 ความสามารถในการรังสรรค์นวัตกรรม (Innovation) ในตัวผลิตภัณฑ์ การบริการ และกระบวนการทำงาน ได้มากกว่าองค์กรอื่นๆ เช่น Apple และ Samsung เป็นต้น การพัฒนานวัตกรรมจะต้องเริ่มจากการหาความรู้ใหม่ๆ ความคิดเห็นของลูกค้า ความคิดเห็นของพนักงานรุ่นใหม่ๆ การวิจัยหรือพัฒนา การนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายนอกองค์กรมาทดลองใช้ และนอกจากนี้ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้สร้าง ส่งเสริม บรรยากาศในการทำงานที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมด้วย การค้นพบสิ่งใหม่ๆอาจจะยังไม่เป็นนวัตกรรมเสมอไป เพราะนวัตกรรมจะต้องประกอบด้วยการคิดค้นสิ่งใหม่ๆที่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ด้วย


4.2 การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) องค์กรที่มีความเป็นธรรมาภิบาลจะสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ให้กับนักลงทุนได้ว่า การบริหารจัดการองค์กรจะทำไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรในทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม สมดุล เท่าเทียมกัน องค์กรที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน ทำให้องค์กรสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว


5. การปฏิบัติงานจะต้องประกอบไปด้วยภาระรับผิดชอบ (Accountability) และความรับผิดชอบ (Responsibility): การปฏิบัติงานให้ประสบผลสำเร็จท่ามกลางความยุ่งยาก สลับซับซ้อน (Complexity) สูง ต้องการผู้นำที่จะต้องเป็นต้นแบบ (Role Model) ของการปฏิบัติงานใน 2 มิติ คือ

มิติที่ 1 ภาระรับผิดชอบ หมายถึง การปฏิบัติงานตามภาระงาน อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ขยายความได้ว่าในการปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทำความเข้าใจให้ท่องแท้เสียก่อนว่างานที่ตนเองต้องปฏิบัติคืออะไร มีกระบวนการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร ตัวชี้วัดและเป้าหมายของงานอยู่ตรงไหน รวมทั้งงานนั้นๆต้องใช้ความรู้ ความสามารถ อย่างไรจึงจะทำงานให้ประสบผลสำเร็จ


มิติที่ 2 ความรับผิดชอบ หมายถึง การใช้อำนาจและความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน เป็นสิ่งสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติงานให้ประสบผลสำเร็จ ความรับผิดชอบเป็นเรื่องของจิตใจถ้าคนมีใจให้กับงาน เขาก็จะแสดงพฤติกรรมในการทุ่มเท มุ่งมั่น ขยันขันแข็ง พัฒนาตนเอง โดยไม่มีใครต้องคอยมาบังคับ เพื่อทำงานตามภาระรับผิดชอบให้ประสบความสำเร็จ คนถ้าไม่มีใจให้กับงาน องค์กร ก็จะแสดงพฤติกรรมในการทำงานออกมาทางลบ ผลสัมฤทธิ์ของงานจะออกมาในทางดีคงเป็นไปได้ยาก


6. การบริหารคนแบบองค์รวม (Whole Person): ปัญหาด้านหนึ่งของผู้นำในการบริหารคน ก็คือผู้นำไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ (Aspiration) ความทุ่มเท่ลงไหล (Passion) ต่องานให้เกิดขึ้นในตัวพนักงาน ในการที่ต้องแสดงความสามารถ ความฉลาด ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อสร้างผลงานที่โดดเด่นออกมาได้ เพราะผู้นำจำนวนมากยังมีกรอบแนวคิดที่มองคนเป็น “เพียงแค่วัตถุ” หรือ “ทรัพยากร” ที่ต้องคอยควบคุมและกระตุ้นจึงจะทำงาน แต่ในความเป็นจริงความเป็นคนจะประกอบไปด้วยสี่มิติที่เรียกว่าองค์รวม คือ กาย สติปัญญา จิตใจ และจิตวิญญาณ มนุษย์จะผูกใจและทุ่มเทให้กับงาน องค์กร มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าตนเองได้รับการปฏิบัติอย่างไรในทั้งสี่มิติ ฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำจะต้องมาทำความเข้าใจ ให้ความสำคัญในการบริหารความเป็นองค์รวมของคน ดังมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

6.1 มิติด้านกาย (Body) คนเมื่อมาทำงานปัจจัยพื้นฐานที่คนคาดหวังก็คือต้องการค่าตอบแทน ทั้งที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไปเพื่อการยังชีพ องค์กรก็ต้องมีหน้าที่เข้ามาดูแลเพื่อตอบสนองความต้องการของคน การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานจะมีมุมมองซึ่งไม่ค่อยจะสอดคล้องกันสองด้าน คือด้านผู้รับ(พนักงาน)ก็ต้องการได้มากๆเข้าไว้ ด้านผู้จ่าย(องค์กร)ก็ต้องการจ่ายอย่างเหมาะสมหรือบางองค์กรก็จ่ายน้อยๆเข้าไว้ ถ้าทั้งสองด้านไม่สมดุลกันการปฏิบัติงานก็จะไม่ราบรื่น แนวคิดของการจ่ายค่าตอบแทนที่จะทำให้ทั้งฝ่ายผู้รับและผู้จ่ายพอใจในระดับหนึ่ง จะต้องอยู่บนพื้นฐานสองประการ คือ

6.1.1 การจ่ายค่าตอบแทนบนพื้นฐานของความเป็นธรรมในมิติต่างๆ เช่น เป็นธรรมต่อภาระงาน เป็นธรรมต่อค่าครองชีพ เป็นธรรมต่อความสามารถในจ่ายของผู้จ่าย เป็นธรรมในตลาดแรงงาน เป็นธรรมต่อความสามารถของคนทำงาน และเป็นธรรมในการที่จะจูงใจให้พนักงานทุ่มเทให้กับงาน เป็นต้น

6.1.2 เมื่อองค์กรมีหลักในการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแล้ว องค์กรยังต้องมีหน้าที่ในการสื่อความหรืออธิบายความให้พนักงานเข้าใจด้วยว่า เพราะอะไรหรือทำไมองค์กรจึงมีแนวคิดในการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบนี้ เพราะความเข้าใจจะนำมาซึ่งการยอมรับ


6.2 มิติด้านสติปัญญา (Mind) เนื่องจากว่าการทำงานสมัยใหม่พนักงานจะต้องมีความรู้ สติปัญญา ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ มากกว่าแต่ก่อน และประกอบกับวิทยาการด้านต่างๆ เทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว พนักงานจึงต้องการโอกาสในการได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถจากองค์กร ซึ่งการพัฒนาพนักงานเป็นการลงทุนขององค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมให้พนักงานในการทำงานที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนในอนาคต ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับก็คือผลสำเร็จของงานจากพนักงานในระยะยาวนั่นเอง องค์กรควรมีกระบวนการพัฒนาพนักงานให้มีความพร้อมทางด้านสติปัญญา (Disciplined Mind) ที่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คิดเป็นทำเป็นในสองลักษณะ คือ

6.2.1 พัฒนาความรู้ ความชำนาญในศาสตร์วิทยาการสาขาวิชาชีพต่างๆ ให้พนักงานมีความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้วิทยาการแขนงต่างๆเพื่อตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

6.2.2 พัฒนาความสามารถเชิงพฤติกรรมของพนักงานในการแสวงหาความรู้และทักษะ อย่างต่อเนื่อง (Unending training to perfect a skill) ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานสามารถมีสมรรถนะในการทำงานที่เหมาะสม ทันยุค ทันสมัย สอดคล้องกับกระแสโลกอยู่เสมอ


6.3 มิติด้านจิตใจ (Heart) การบริหารคนที่จะได้ใจของคนจะอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับในคุณค่าของคน การให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น การอ่อนน้อมถ่อมตน การให้ความเคารพยอมรับในความแตกต่างทั้งระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม การเปิดใจที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น การทำงานร่วมกันด้วยใจที่อยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งการบริหารคนที่จะครองใจของคนนั้น ผู้นำจะต้องมีทักษะทางด้านอารมณ์ (Emotional Intelligence) และทักษะด้านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Intelligence) องค์กรใดที่สามารถบริหารคนจนได้ใจของคนจะก่อให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่มีความสมานฉันท์ สงบสุข จะเป็นพลังอันมหาศาลในการหล่อหลอมความร่วมมือร่วมใจ ให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงาน


6.4 มิติด้านจิตวิญญาณ (Spirit) องค์กรที่บริหารคนใน 3 มิติ ดังกล่าวข้างต้นได้ดี จะนำมาซึ่งความรู้สึกของพนักงานในแง่มุมที่ว่าเขามีความหมาย มีคุณค่าต่อองค์กร จะทำให้พนักงานตอบโจทย์ของตนเองได้ว่า ทำไมเขาเลือกมาทำงาน ณ องค์กรแห่งนี้ และทำไมเขาถึงจะต้องอยู่ทำงานอย่างทุ่มเทให้กับองค์กรต่อไป อาจเรียกรวมๆว่าเขามีจิตวิญญาณที่ดีให้กับองค์กร จิตวิญญาณจะเป็นตัวกำหนด กำกับพฤติกรรมของคน ถ้าคนมีจิตวิญญาณที่ดีต่อองค์กร ก็จะนำมาซึ่งพฤติกรรมการทำงานที่ผูกใจ รัก และทุ่มเทให้กับงาน องค์กร องค์กรก็จะได้รับผลงานที่ดีๆจากพนักงาน ขีดความสามารถขององค์กรก็จะมีแต่พัฒนาสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ ผู้นำก็จะบริหารองค์กรไปได้ด้วยความราบรื่น


การบริหารองค์กรยุคใหม่ที่ผู้นำส่วนใหญ่มีความมุ่งมั่นที่จะบริหารองค์กรให้มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (High Performance Organization) ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการเป็นองค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศคือการทำในสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่แรก (Do the right thing at the first time) การที่องค์กรจะทำในสิ่งที่ถูกต้องได้จะต้องเกิดมาจากการที่ผู้นำต้องมีกระบวนทัศน์หรือกรอบแนวคิด (Paradigm) ที่ถูกต้องเสียก่อน กระบวนทัศน์ของคนจะเปรียบเสมือนเข็มทิศที่เป็นต้นน้ำในการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงาน ถ้าคิดถูกโอกาสทำถูกก็มีความเป็นไปได้สูง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าการบริหารองค์กรในศตวรรษที่ 21 ให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายๆอีกต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งแรกๆที่ผู้นำยุคใหม่ควรปฏิบัติคือการมานั่งทบทวนกระบวนทัศน์ของตนเองบ่อยๆเสียก่อนว่ามีความสอดคล้องกับกระแสโลกหรือไม่อย่างไร ที่ต้องกระทำบ่อยๆเพราะกระแสโลกเป็นพลวัตรที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กระบวนทัศน์ใหม่จะต้องเป็นกรอบความคิดที่มองจากภายนอกมาสู่ภายใน (Outside In) แล้วปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการปฏิบัติงานขององค์กรให้สอดรับกับกระแสโลก เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในโลกจำนวนไม่น้อยเริ่มกลายเป็นโรงงานร้าง เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีไอที ที่เปลี่ยนจากชิพประมวลผล หรือเซมิคอนดักเตอร์ มาสู่ยุคโมบายเทคโนโลยี บนสมาร์ตโฟนที่หาซื้อได้ง่ายๆ บริษัทฟูจิสุ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกก็ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างมากเช่นกัน บริษัทฯเริ่มมีการปรับเปลี่ยนบิสซิเนสโมเดลของตัวเองไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นแนวโน้มแห่งอนาคตคือสินค้าจำพวกอาหารโดยเฉพาะ “อาหารเพื่อสุขภาพ” โดยฟูจิสุได้ทำการศึกษาวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ผักกาดหอมพันธุ์ใหม่ที่มีโปแตสเซียมต่ำ จาก 490 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เหลือเพียง 69 มิลลิกรัม เพื่อตอบสนองตลาดที่มีความต้องการผักอนามัยที่ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคตับเรื้อรัง ฟูจิสุใช้โรงงานเก่าที่เออิสุ วากามัตสึ เริ่มทดลองปลูกผักกาดหอมมาตั้งแต่ปี 2012จนประสบความสำเร็จ และจะทำในเชิงพาณิชย์ในปีหน้าเป็นต้นไป การคิดถูกและทำถูกของผู้นำจะเป็นการสร้างโอกาสและพัฒนาขีดความสามารถให้กับองค์กรที่จะก้าวไปข้างหน้าสู่ความสำเร็จที่ไกลขึ้น เร็วขึ้น กว้างขึ้น และลึกขึ้นในอนาคต อย่างยั่งยืนสืบไป

ดู 31 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page