ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึงคำว่า 4.0 ถ้าไม่พูดถึง 4.0 ก็คงตกเทรนแน่นอน ถ้าจะอธิบายขยายความแบบเข้าใจง่ายๆ คือ Thailand 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม…. ซึ่งกว่าจะมาเป็น Thailand 4.0 ก็ต้องผ่าน 1.0 2.0 และ 3.0 กันมาก่อน
>>> Thailand 1.0 ก็คือยุคของเกษตรกรรม คนไทยปลูกข้าว พืชสวน พืชไร่ เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ นำผลผลิตไปขาย สร้างรายได้และยังชีพ
>>> Thailand 2.0 ซึ่งก็คือยุคอุตสาหกรรมเบา ในยุคนี้เรามีเครื่องมือเข้ามาช่วย เราผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องดื่ม เครื่องเขียน เครื่องประดับเป็นต้น ประเทศเริ่มมีศักยภาพมากขึ้น
>>> Thailand 3.0 (ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน) เป็นยุคอุตสาหกรรมหนัก เราผลิตและขายส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ ก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมน เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเน้นการส่งออก
ในช่วงแรก Thailand 3.0 เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันกลับเติบโตเพียงแค่ 3-4% ต่อปีเท่านั้น ประเทศไทยจึงตกอยู่ช่วงรายได้ปานกลางมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ในขณะที่ทั่วโลกมีการแข่งขันที่สูงขึ้น เราจึงต้องเปลี่ยนสู่ยุค Thailand 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยให้กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง
ในปัจจุบันประเทศไทยยังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” จึงต้องการปรับเปลี่ยนเป็น “ทำน้อย ได้มาก” ก็จะต้องเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” และเปลี่ยนการขับเคลื่อนประเทศจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม อย่างการเกษตรก็ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการเปลี่ยนจาก SMEs แบบเดิมไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูงเปลี่ยนจากรูปแบบบริการแบบเดิมซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่บริการที่มีมูลค่าสูงเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้และทักษะสูง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ในการขับเคลื่อนเช่นกัน
ภายใต้เกณฑ์การบริหารระบบคุณภาพขององค์กร อย่างเช่น TQA, PMQA, SEPA, EdPex, ISO9001:2015 ต่างก็พูดถึงการจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมเช่นกัน ในอดีตที่ผ่านมามีการกำหนดยุคสมัยของการจัดการความรู้ไว้เป็น 3 ยุค
ยุคที่ 1 Pre-SECI เป็นการจัดการความรู้ที่เน้นสารสนเทศเป็นหลัก ยุคนี้ประมาณ 20-25 ปีที่ผ่านมา
ยุคที่ 2 SECI แบ่งความรู้ออกเป็นสองประเภทคือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และ ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) เน้นความรู้ ฝังลึก ออกมาเป็นความรู้ชัดแจ้งและวงกลับไปเป็นเกลียวความรู้เพื่อยกระดับความรู้ให้สูงขึ้นไปเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาในกระบวนการปฏิบัติงาน
ยุคที่ 3 Post SECI เน้นการผสานของความรู้ต่าง ๆ โดยไม่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน เน้นความรู้ที่ต้องการใช้ในเวลานั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิผล (Effectiveness) หรือผลลัพธ์ของงาน
มาถึงปัจจุบันหรืออาจเรียกว่าการจัดการความรู้ในยุค 4.0 นั้น จะไม่สามารถแยกจากการบวนการปฏิบัติได้จะต้องเชื่อมโยงกับองค์กรเป็นเนื้อเดียวกัน เชื่อมโยงพันธกิจ ยุทธศาสตร์ ระบบการบริหารคุณภาพ สมรรถนะหลัก ระบบพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลูกค้า ผู้รับบริการรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรและที่สำคัญจะต้องรวบรวมและถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการสร้างนวัตกรรมและกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ขององค์กรให้ได้
ระบบการจัดการความรู้ขององค์กรควรมีกลไกการแบ่งปันความรู้ของบุคคลากรและองค์กรเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะรักษาผลการดำเนินการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยน โดยที่องค์กรจะต้องกำหนดว่าความรู้ใดสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงาน และมีการแบ่งปันถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสนเทศที่เป็นความรู้ส่วนบุคคลที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคลากร และขณะเดียวกันองค์กรต้องสร้าง การเรียนรู้ระดับองค์กร (Organizational Learning) ให้เกิดการใช้องค์ความรู้และทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้การเรียนรู้ฝังลึกลงไปในวิถีการปฏิบัติงานขององค์กร
ที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นอย่างยิ่งการจัดการความรู้ในยุค 4.0 ก็ต้องอาศัยผู้นำองค์กรที่เป็น 4.0 เช่นกันถึงจะขับเคลื่อนการจัดการความรู้ไปถึง 4.0 ได้ โดยผู้นำ 4.0 จะมีต้องมีคุณสมบัติคือสนุกกับการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ตลอดชีวิต การคิดเชิงวิจารณญาณ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการทำงานต่างวัฒนธรรมในทำนองเดียวกันผู้นำซึ่งนำคนทำงานฐานความรู้ก็ต้องปรับเปลี่ยนสไตล์ของภาวะผู้นำจากเดิมๆ เป็นแบบใหม่ๆ นั่นแหละเราจะเห็นการจัดการความรู้ไปถึง 4.0 อย่างแท้จริง
ผู้เขียน สราวุฒิ พันธุชงค์ | วารสารการบริหารฅน 1/2560
コメント