top of page
  • รูปภาพนักเขียนMhusom

โควิด-19

อัปเดตเมื่อ 6 ต.ค. 2563

บทเรียนจากอดีตสู่แนวทางแห่งอนาคต

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกใบนี้ต้องเผชิญหน้ากับโรคติดต่อ และโรคระบาด...อันที่จริงในอดีตที่ผ่านมาโลกต้องผ่านโรคติดต่อ และโรคระบาดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แถมถ้าพูดถึงโรคติดต่อแล้วเราจะพบว่าโรคติดต่อนั้นมีความสม่ำเสมอแฝงมาด้วยอยู่เสมอ...คือ มาตามฤดูกาล เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดต่าง ๆ โรคไข้เลือดออก หรือโรคยอดฮิตของเด็ก ๆ ในช่วงเปิดเทอมทั้งหลาย แต่ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและรุดหน้าไปอย่างมากในปัจจุบัน ประกอบกับลักษณะของโรคนี้เองส่งผลให้โรคระบาดอย่างโควิด-19 ครั้งนี้มีผลกระทบรุนแรงอย่างมากอย่างที่เราไม่เคยเห็นการคุกคามทางสาธารณสุขอื่น ๆ ในอดีตเคยสร้างขึ้นมาก่อน


White Paper ที่ออกโดย World Economic Forum ร่วมกับ Harvard Global Health Institute เมื่อเดือนมกราคม 2019 เสนอว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความเสี่ยงต่อโรคติดต่อ อันเนื่องจากการขยาตัวทางด้านการค้าและการท่องเที่ยว ความหนาแน่นของประชากร การถูกบังคับให้ย้ายถิ่นที่อยู่ ไม่ว่าจะด้วยปัญหาทางด้านเชื้อชาติ การเมือง หรือสงคราม การย้ายถิ่นฐาน การทำลายป่า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก โดยเฉพาะในช่วง 30 ปีย้อนหลังจะพบว่ามีการอุบัติของโรคกำเนิดใหม่ และโรคระบาดเกิดขึ้นอยู่บ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังได้นำเสนอเรื่องที่น่าสนใจอีกมากเกี่ยวกับโรคระบาด ความพร้อมของรัฐบาลต่าง ๆ และภาคธุรกิจ รวมไปถึงข้อเสนอในการรับมือโรคติดต่อและโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งจะได้นำมาเล่าให้ได้อ่านกันอีกหากมีโอกาส


ดังนั้นสรุปแล้วนักวิชาการเชื่อแน่ว่าในอนาคตเราคงต้องได้พบเจอโรคระบาดกันได้อีกอย่างแน่นอน และอาจจะเป็นโรคชนิดใหม่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนก็เป็นได้ และขนาดของการระบาดจะส่งผลกระทบในระดับโลกได้ด้วย


เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เจอเอกสารย่อสำหรับการบรรยายสรุปของ McKinsey & Company ในประเด็น Global Health and Crisis Response เกี่ยวกับกรณี Covid-19 ซึ่งให้มุมมองและแง่คิดที่ดีเกี่ยวกับการมองดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นไป โดยส่วนที่น่าสนใจส่วนแรกในเอกสารฉบับนี้ คือ ข้อพิจารณาหลักจากพัฒนาการของโรคทั้งสิ้น 4 ประเด็น และนัยสำคัญที่จะมีต่อสังคม ได้แก่

1. มีหลักฐานที่เพิ่มขึ้นถึงจำนวน และบทบาทของผู้ป่วยที่ไม่มีอาการและการแพร่เชื้อโดยผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ดังนั้นจึงน่าจะมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องคงรักษาระยะห่างทางสังคมกันต่อไปอย่างจริงจังอีกระยะหนึ่ง

2. โดยทั่วไปแล้วภูมิอากาศและฤดูกาลพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้ ถึงแม้ว่ามันจะมีผลอยู่บ้างก็ตาม ดังนั้นการแทรกแซงทางสาธารณสุขยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่มีความจำเป็น

3. นวัตกรรมชุดทดสอบเชื้อที่มีการพัฒนากันขึ้นมาอาจช่วยขยายขีดความสามารถในการเฝ้าระวังโรคนี้ได้อย่างมาก นอกจากนี้ยังอาจช่วยให้เราสามารถแบ่งกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงออกจากคนที่มีภูมิต้านทานได้ และจะช่วยทำให้เรามีกลุ่มคนที่สามารถกลับมาฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดลงไปได้

4. หลายประเทศในเอเชียเริ่มอนุญาตให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ภายใต้การควบคุมทางสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดภายในประเทศ แต่ยังคงมาตรการที่เข้มงวดสำหรับการเดินทางข้ามพรมแดนประเทศเอาไว้ก่อนอันเนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏว่าหลังจากการจำกัดการเดินทางของประชาชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ หลายประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้ดี แต่หลังจากผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ลงกลับพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น และจำนวนมากเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ


ดังนั้นในประเทศเราเองก็น่าจะมีโอกาสเห็นลักษณะดังกล่าวในสังคมเช่นกัน


อีกประเด็นที่น่าสนใจในเอกสารชุดนี้คือเรื่องการวางแผน และการจัดการตอบโต้ต่อสถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง McKinsey & Co. ได้ว่าผู้นำองค์การจำเป็นต้องคิด และทำใน 5 เรื่องต่อไปนี้ ซึ่งสรุปได้เป็น 5R’s ดังนี้เลย


Resolve ผู้นำจำเป็นจะต้องระบุปัญหาหรือผลกระทบโดยตรงที่โควิด-19จะนำมาสู่พนักงาน ลูกค้า เทคนิควิธีที่องค์การใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ รวมไปถึงคู่ค้าทางธุรกิจขององค์การด้วย ซึ่งโดยหลักแล้วเรื่อง Resolve จะเป็นการค้นหาผลกระทบโดยตรงทางสังคมจิตใจที่โรคระบาดนี้มีต่อพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าขององค์การ และการดูแลสภาพคล่องขององค์การ รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า พร้อมทั้งตัวอย่างมาตรการที่องค์การในต่างประเทศใช้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ ให้กับพนักงาน คู่ค้า และลูกค้านั้นสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้จากรายชื่อเอกสารอ้างอิงท้ายบทความนะคะ


Resilience ผู้นำจะต้องคาดการณ์ให้ได้ถึงประเด็นอุปสรรคปัญหาระยะใกล้ทางด้านการจัดการเงินสด และแผนรับมือปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างที่ต้องพักกิจการในช่วงโควิด-19 และช่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิ-19 โดยอาจเริ่มต้นจากการกำหนดและลำดับความเสี่ยงหลัก ๆ ของภาคธุรกิจหรือกิจการ จากนั้นกำหนด Business Scenarios โดยละเอียดสำหรับความเสี่ยงลำดับต้น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ดำเนินการตรวจสอบสถานทางการเงินต่าง ๆ พร้อมทั้งกำหนดกรอบเพื่อวางแผนทางการเงิน ออกแบบแผนแทรกแซงในสถานการณ์ต่าง ๆ องค์การอาจสร้าง Cash Management Dashboard ขึ้นเพื่อให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของเงินสดอย่างชัดเจน และควบคุมการไหลเวียนของกระแสเงินสดเพื่อจำกัดความเสียหายขึ้นหากเกิดปัญหาในอนาคต สุดท้ายคือการสร้าง Resilience Dashboard สำหรับติดตามตัวชี้วัดทางธุรกิจหลักทั้งหลายเพื่อปรับตัวให้ทันต่อพลวัตรของสถานการณ์


Return เมื่อสถานการณ์โควิด-19ดำเนินไป และผลกระทบจากสถานการณ์มีความชัดเจนมากขึ้น ผู้นำต้องสร้างแผนอย่างละเอียดเพื่อกลับมาดำเนินกิจการให้เร็วที่สุด โดย McKinsey & Co. เสนอแผนฟื้นฟูธุรกิจ 6 ขั้นเอาไว้ ทั้งนี้ในบทความชิ้นนี้จะสรุปออกมาให้อย่างสั้น ๆ นะคะ ตัวเต็มสามารถค้นได้จากอ้างอิงเช่นกันค่ะ

1. Restarting Supply Chain นอกจากการเปิดระบบ Supply Chain แล้ว อีกสิ่งที่ต้องทำคือการสร้างเชนทางเลือกเอาไว้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถจัดการให้เกิดการหมุนวัตถุดิบจำเป็นต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการผลิต และส่งสินค้าออกถึงมือลูกค้าได้

2. Separation of Region ต้องมีการแบ่งพิจารณาการกลับมาดำเนินกิจการเป็นโซน ๆ ไป ทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ว่ามีความพร้อมที่จะดำเนินกิจการอะไรได้บ้างมากน้อยเพียงใด

3. Testing and Transparency ต้องสร้างให้เกิดความโปร่งใส่ และความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคระบาดภายในพื้นที่เพื่อให้บุคลากรที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์สามารถปฏิบัติงานได้

4. Infection Reduction Norms ต้องสร้างนิสัยลดการแพร่ระบาดของโรคให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานปฏิบัติตนเองทั้งในการทำงาน และการใช้ชีวิตปกติอย่างปลอดภัยอยู่เสมอ คือ ทั้งไม่เสี่ยงต่อการรับและแพร่โรคนั่นเอง

5. Health System Capacity ต้องแน่ใจว่าสามารถรักษาความสามารถทางด้านสาธารณสุขเอาไว้ได้ นั่นหมายถึงต้องพร้อมรับมือในสถานการณ์ปัจจุบัน และพร้อมขยายขอบเขตการบริการทางสาธารณสุขหากจำเป็น

6. Rehiring and Retraining ต้องเตรียมพนักงานให้พร้อมรับมือความต้องการที่มาพร้อม Next Normal ที่จะเกิดขึ้นจากโควิด-19


Reimagination ผู้นำต้องเริ่มคิดใหม่ว่าอะไรจะเป็น Next-normal นั่นหมายความว่าต้องนึกให้ออกว่าอะไรที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดที่จะเกิดขึ้น และนัยสำคัญที่การเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลกระทบให้องค์การต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งนี้อาจต้องพิจารณาทั้งในมุมของผู้บริโภค ซัพพลายเชน รัฐบาล กฎหมาย และระเบียบของรัฐ องค์การ และมูลค่าองค์การ ว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่าง ๆ นี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อองค์การ ให้องค์การต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นไร


Reform ผู้นำต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎระเบียบ และสภาพแวดล้อมเชิงการแข่งขันที่อาจเปลี่ยนแปลงไปภายในกลุ่มธุรกิจที่องค์การดำเนินธุรกิจอยู่


แต่การจัดการทั้ง 5 Rs ที่กล่าวถึงไปนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นฐานที่เป็นการทำงานแบบทีมของทีม (Team-of-teams approach) ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่าศูนย์กลางประสาท (Nerve Center) นั่นเอง เหตุเพราะการดำเนินธุรกิจในภาวะปกตินั้นไม่สามารถรองรับความจำเป็นในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางแบบนี้ได้ดีเพียงพอ อันเนื่องจากมีหลายอย่างที่ต้องทำพร้อม ๆ กัน การพึ่งพาคนเพียงคนเดียวในการนำพาองค์การจึงเป็นไปได้ยาก


McKinsey & Co. จึงเสนอว่า Team of Teams ประกอบด้วย 4 ทีมที่ทำหน้าสำคัญ โดยแบ่งตามจุดมุ่งเน้น 2 จุด ได้แก่ จุดมุ่งเน้นเรื่องการดำเนินกิจการในภาวะปัจจุบัน และจุดมุ่งเน้นเรื่องการวางแผนเพื่ออนาคต โดยทีมทั้ง 4 ได้แก่

1. Deliver Team ทีมนี้เป็นทีมลงมือทำอย่างแท้จริง ทำหน้าที่ในการส่งมอบสินค้า และบริการอย่างรวดเร็วไร้ที่ติโดยยึดเอาลำดับความสำคัญตามที่ทีมตัดสินใจได้กำหนดไว้

2. Decide Team ทีมนี้เป็น “สหทีม” คือ เป็นทีมที่รวมเอาทีมปฏิบัติการมาร่วมกัน ทำหน้าที่ในการประกับประคองให้บรรลุเป้าหมายการส่งมอบสินค้าและบริการ และทำหน้าที่ในการเลือกแผนยุทธศาสตร์ให้ทีม Deliver

3. Discover Team ทำหน้าที่เป็นทีมวางแผนธุรกิจ (Scenario Planning) ซึ่งประเมินความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว พร้อมทั้งระบุว่านัยสำคัญของสถานการณ์ที่คาดการณ์ต่อองค์การเป็นอย่างไร และกำหนด Scenario plan สำหรับทีมอื่น ๆ

4. Design Team ทำหน้าที่ในการออกแบบแผนกลยุทธ์ที่มีรายละเอียดพร้อมสำหรับการนำเอาไปปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้โดยให้สอดคล้องกับ Scenario Plans ที่ออกมาจากทีม Discover


สุดท้ายอยากจะฝากมุมมองถึงภาพอนาคตให้ท่านผู้อ่านได้มีไว้เป็นไกด์ไลน์สำหรับการวางแผนในอนาคตต่อไป ที่ผ่านมาร่วม 3 เดือนกับสถานการณ์โควิด-19 เจ้าโรคระบาดนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่าง ๆ ทั้งทางสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึงสภาพแวดล้อมบนโลกของเราอย่างมาก ศูนย์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้เสนอสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการมาถึงของโควิด-19 ดังนี้

1. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงเทคโนโลยีจักรกลอัจฉริยะจะเข้มแข็ง และมีอำนาจมากกว่าเดิม

2. อุตสาหกรรมที่อาจจะฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสายการบินเนื่องจากธรรมชาติของโรคระบาด ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นถึงโอกาสอันดีในการปรับปรุงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ภายในกิจการ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในการให้บริการ และรูปแบบสำหรับการให้บริการในอนาคตได้

3. วัฒนธรรมการทำงานแบบ Remote Working หรือ Work From Home จะเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในสังคม

4. การลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมการทำงานกลายเป็นเรื่องสำคัญขององค์การเพื่อให้สามารถรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่เริ่มคาดการณ์ได้ยากขึ้น

5. ระบบสาธารณสุข และการพัฒนาระบบสาธารณสุขคือหัวใจสำคัญของสังคมทุกระดับที่ละเลยความสำคัญไปไม่ได้

6. ธุรกิจต่าง ๆ อาจต้องมีการวางแผนการดำเนินธุรกิจให้ลดการพึ่งพาต่างชาติลง หรือต้องวางแผนรองรับให้มีกระแสรายได้ หรือสินค้า และวัตถุดิบจากภายในประเทศด้วย

7. ช่องทางการขายสินค้า และบริการผ่านเครือข่ายออนไลน์กลายเป็นสิ่งจำเป็นของธุรกิจ


ความไม่แน่นอนทั้งหลายบนโลกนี้คือสิ่งที่แน่นอนเสมอ สิ่งที่มนุษย์ และองค์การต่าง ๆ ที่อาจมีชีวิตได้ยืนยาวกว่ามนุษย์คือการเรียนรู้ ปรับตัว และเตรียมพร้อมอยู่เสมอถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสิ่งที่เราคาดไม่ถึง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะผ่าน และเรียนรู้ไปด้วยกันได้อย่างดีค่ะ


ช่วงนี้ขอให้รักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และจิตใจให้แข็งแรงนะคะ


McKinsey and Company. (2020, April). COVID-19: Implications for Business. Retrieved from McKinsey and Company: https://www.mckinsey.com/business-functions/risk/our-insights/covid-19-implications-for-business
McKinsey and Company. (2020, April 3). COVID-19: Briefing Materials - Global Health and Crisis Response. Retrieved from McKinsey and Company: https://www.mckinsey.com/~/media/mckinsey/business%20functions/risk/our%20insights/covid%2019%20implications%20for%20business/covid%2019%20march%2030/covid-19-facts-and-insights-april-3.ashx
World Economic Forum in Collaboration with Havard Global Health Instituute. (2019, January). Outbreak Readiness and Business Impact: Protecting Lives and Livelihoods across the Global Economy. Retrieved from WeForum: http://www3.weforum.org/docs/WEF%20HGHI_Outbreak_Readiness_Business_Impact.pdf

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page