top of page

อย่าหยุดเรียนรู้! วิธีคิดที่จะพาตัวคุณให้รอดในยุคนี้

"คลาน เดิน วิ่ง พูด เข้าโรงเรียน มหาวิทยาลัย เรียนจบ ทำงาน เกษียณ" เรามักเข้าใจว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาที่ถูกกำหนดไว้ ความรู้ที่ได้จากระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่เราสามารถใช้ไปได้ตลอด แต่จริงๆแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ยุคปัจจุบันนี้ความรู้มีอายุการใช้งานที่สั้นมาก แม้ว่าคุณอาจได้รับการพัฒนาหรือฝึกอบรม จากองค์กรของคุณบ้าง แต่โดยมากไม่ได้เกิดจากการต้องการที่จะเรียนรู้ด้วยตัวของคุณเอง ทำให้หลายครั้งสิ่งที่เรียนรู้ไป อาจไม่ได้นำกลับมาใช้งานอย่างจริงจัง เพราะผู้เรียนก็ไม่ได้มีความสนใจในการเรียนรู้ตั้งแต่ต้น

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการกล่าวไว้ว่า

“We now accept the fact that learning is a lifelong process of keeping abreast of change. And the most pressing task is to teach people how to learn.”

การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ ตลอดช่วงที่เรามีชีวิต การเรียนรู้ช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่ยากคือการรู้จัก “วิธีการเรียนรู้” ความเป็นจริงมนุษย์ถูกสร้างให้เรียนรู้ด้วยตนเองอยู่แล้วตั้งแต่พวกเรายังเป็นเด็ก


การเรียนรู้โลกกว้างด้วยตนเองผ่านประสาทสัมผัสเป็นสิ่งที่ติดตั้งมาตั้งแต่พวกเราจำความได้ แต่เมื่อเราเข้าสู่ระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นเพราะการศึกษาขโมยเวลาการเรียนรู้โลกกว้างของเรา หรือบางครั้งเราเองก็กรอบความคิดว่าการเรียนคือการเข้าโรงเรียน หรือการอบรมในสถาบันต่าง ๆ แต่ไม่ได้ตระหนักว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ทั้งช่วงชีวิตของเราหรือที่เรียกว่า Lifelong Learning

จากการศึกษาของ IBM พบว่าภายในปี 2025 คนทำงานอย่างน้อย 12 ล้านคน จะต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดทักษะใหม่ ซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีได้เข้ามาแทนที่การทำงานโดยมนุษย์อย่างสมบูรณ์ นั่นหมายความว่า ถ้าวันนี้คุณสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ก่อนใคร แม้ว่าจะไม่ได้มีใครบอกให้คุณเรียน คุณอาจจะเข้าใจเรื่องนี้ก่อนคนอื่น รวมถึงอาจเป็นประตูสู่การได้ทำงานที่คุณต้องการในองค์กรชั้นนำก็เป็นไป

ไม่หยุดเรียนรู้แบบ "ชัชชาติ"

อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 ที่เพิ่งจะชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ด้วยบุคลิกลักษณะของความเป็น "อาจารย์" มากกว่าการเป็นนักการเมืองไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร อาจารย์ก็มักจะมีมุมมองและมีความรู้ให้แก่ผู้ที่รับฟังอยู่เสมอ รวมถึงนิสัยที่ชอบซักถาม ชอบฟัง และงานอดิเรกที่ชอบอ่านหนังสือ ทำให้อาจารย์เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่หยุดเรียนรู้ พยายามเรียนรู้ในหลายๆด้านไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับงานที่ตนเองทำโดยตรงหรือไม่ เรามาลองวิเคราะห์กันดูว่า "ผู้ว่า" มีโอกาสที่จะเรียนรู้ระหว่างที่สวมบทบาทต่าง ๆ ในชีวิตอย่างไร

จบการศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์

ทำให้มีความรู้เรื่องวิศวกรรมโดยเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา

เป็นอาจารย์ในคณะวิศวกรรมโยธา

ทำให้ได้เรียนรู้ และเข้าใจผู้เรียน และเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่

เป็นผู้บริหารในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่

ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจ ที่เชื่อมโยงกับการก่อสร้าง และทักษะในด้านการเข้าใจคน บริหารคน

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทำให้รู้และเข้าใจการบริหารระบบราชการ ระบบการเมือง และวิธีการเข้าถึงประชาชน

การดูแลบุตรชายที่การได้ยินผิดปกติ

ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องภาษามือ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการได้ยิน และได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างของคนในสังคม

การวิ่งออกกำลังกาย

ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องสุขภาพ ร่างกาย วิธีการวิ่ง การทำสมาธิ

การมีประสบการณ์หรือได้รับมอบหมายให้ทำงานเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ บุคลิกและนิสัยชอบเรียนรู้ เช่นอาจารย์ชัชชาติ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการเรียนรู้หลายๆศาสตร์นั้นมีประโยชน์และสามารถนำความรู้ทุกเรื่องมาบูรณาการและใช้ในงานในอนาคตที่เราไม่รู้ว่าจะมีงานอะไรรอเราอยู่ได้

สำหรับคำว่า "การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning)" ไม่มีคำจำกัดความที่แน่ชัดว่าเป็นความรู้ ทักษะ หรือคุณลักษณะ แต่ผมคิดว่าเกิดขึ้นจากวิธีคิดแบบ Growth mindset หรือความคิดที่ไม่หยุดอยู่นิ่ง มีความสงสัยในเรื่องที่เป็นประโยชน์ และพยายามหาคำตอบด้วยตัวเอง ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับงานโดยตรง หรือไม่เกี่ยวกับงานก็ตาม


คนที่ชอบเรียนรู้ด้วยตัวเองจนเป็นนิสัย ไม่ว่ามีเรื่องอะไรเข้ามา ก็สามารถที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

เริ่มฝึกวิธีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อเราเห็นว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะช่วยให้เรา "รอด" และเป็นที่ต้องการขององค์กร ซึ่งมีวิธีที่ช่วยสร้างนิสัยชอบเรียนรู้ ดังนี้

1. เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ผ่านงานอดิเรก หรือการเรียนรู้ที่ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเกี่ยวกับงานปัจจุบันที่ทำอยู่ เช่น การเรียนภาษาต่างประเทศ การจัดแผนท่องเที่ยวและการเดินทาง การเดินทางไปที่ที่วัฒนธรรมแตกต่างจากที่เราอยู่


2. เป็นอาสาสมัครทำงานในงานที่คนอื่นไม่ทำ พยายามทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ หรือเรียกว่าออกจาก Comfort Zone


3. สะท้อนความคิดของตัวเองอยู่เสมอ ด้วยการทบทวนสิ่งที่ตัวเองคิด ตัดสินใจ ว่าเราคิดครบถ้วนหรือยังหรือมีอคติ ซึ่งวิธีที่จะช่วยเปิดโลกให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ คือการลองเข้าร่วมการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมที่หลากหลาย หรือเข้าร่วมกิจกรรมโต้วาที ซึ่งจะต้องมีคนที่คิดไม่ตรงกับคุณเสมอ วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถเรียนรู้ความแตกต่าง และปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ บางเรื่องของตัวคุณเองได้


4. อ่านหนังสือ ฟัง Podcast หรือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การอ่านหนังสือนอกจากจะให้ความรู้ หรือช่วยหาวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับเราได้แล้ว ยังช่วยเปิดมุมมองให้เราได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแนวไหนก็ตามม

กระตุ้นให้คนในองค์กรเป็น Lifelong Learner กับความเข้าใจผิด

ความกลัว เป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาใช้เพื่อทำให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องของการเรียนรู้ องค์กร มักจะขู่พนักงานที่ไม่ชอบเรียนรู้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงในการตกงาน ทำให้พนักงานใช้ความกลัวเป็นแรงกระตุ้นในการเรียนรู้ บทความของ Harvard Business Review (HBR) พบว่าการให้พนักงานรู้สึกถึงความหลงใหลในการเป็นผู้บุกเบิกสิ่งใหม่ ๆ หรือ Passion of the explorer เป็นสิ่งที่ได้ผลมากกว่าในการกระตุ้นให้พนักงานสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองได้มากกว่าการใช้ความกลัว เมื่อพนักงานรู้สึกว่าได้รับโจทย์ที่ท้าทาย และได้รับโอกาสในการทดลองทำแล้วสำเร็จ พนักงานจะรู้สึกภาคภูมิใจและมีความอยากที่จะต่อยอดผลงานของตัวเอง การกระตุ้นอีกรูปแบบคือ พนักงานมีความสามารถในการหาผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยไขคำตอบให้ได้ ก็จะอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งการหาผู้เชี่ยวชาญตามความสนใจของพนักงานองค์กรอาจมีส่วนร่วมในการช่วยจัดหาให้ได้

หน้าที่ขององค์กรในการสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยพนักงานแบบ Lifelong Learning

เมื่อเราดูเด็ก ๆ ที่กำลังเล่นกันอย่างสนุกในสนามเด็กเล่น หรือกองทราย สิ่งที่อยู่ในสมองของเด็กกลุ่มนี้ คือ ความสงสัยใคร่รู้ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การกล้าคิดกล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ และความต้องการในการรู้จักและเชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ โดยไม่ได้มีกรอบที่ถูกตีเส้นสิ่งทำได้หรือทำไม่ได้ สิ่งที่องค์กรสามารถทำได้ก็คือ การเปิดพื้นที่ให้กับพนักงาน ได้มีโอกาสที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ได้คิดต่อยอดด้วยตนเอง องค์กรควรจะเปิดรับ และชื่นชมคนที่ใฝ่รู้ และสามารถสร้างบรรยากาศแห่งพื้นที่ปลอดภัยในการกล้าสงสัยและกล้าถาม มีการจัดกิจกรรมให้พนักงานได้ทดลอง ทำอะไรใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง พยายามจัดเตรียมทรัพยากรให้พนักงานสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น ระบบฐานข้อมูล ห้องสมุดออนไลน์ ระบบ E-Learning เพื่อให้พนักงานสามารถเรียนรู้เมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ

องค์กรที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้ตามความสนใจ และมีการจัดเตรียมทรัพยากรไว้อย่างพร้อมเพรียง จะทำให้พนักงานกล้าคิด กล้าทำ และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้องค์กรนั้นสามารถเติบโตในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และอยากยกตัวอย่างของ อาจารย์ชัชชาติให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะสวมบทบาทต่าง ๆ แต่ทางเลือกที่จะเก็บเกี่ยวหรือเลือกที่จะเรียนรู้เป็นทางเลือกที่คุณเลือกเอง และมันจะเป็นประโยชน์กับตัวคุณเองในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย

 

ที่มา

ดู 361 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page