top of page

คุณลักษณะของ “Digital Organization”

อัปเดตเมื่อ 7 ต.ค. 2563

ชัยทวี เสนะวงศ์ | chaitawees@gmail.com

จากการที่ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากประเทศไทย 1.0 ที่เน้นภาคการเกษตร ประเทศไทย 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา ประเทศไทย 3.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก มาสู่ปัจจุบันประเทศไทย 4.0 ที่เป็นโมเดลของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ต้องใช้ความรู้ (ปัญญา) ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (อินเตอร์เน็ต) มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน โมเดลธุรกิจ กระบวนปฏิบัติงานต่างๆ ขององค์กรเพื่อเพิ่มผลิตภาพ รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (อินเตอร์เน็ต) ซึ่งผู้เขียนจะขอเรียกรวมๆว่าเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ จะเรียกระบบเศรษฐกิจลักษณะนี้ว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)”


การที่จะอยู่รอดและประสบความสำเร็จใน Digital Economy องค์กรต่างๆ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการแปลงโฉมองค์กร (Digital Transformation) ให้มีขีดความสามารถ มีศักยภาพ พัฒนาองค์กรให้เป็น Digital Organization หรือ Smart Enterprise ซึ่งกำลังเป็นประเด็นท้าทายขององค์กรต่างๆที่มีแนวคิดที่จะปฏิรูปองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล ในปัจจุบันว่า ทำไมองค์กรจึงจะต้องพัฒนาเป็นองค์กรดิจิทัล องค์กรจิดิทัลนั้นหมายถึงอะไร มีลักษณะอย่างไร ถ้าจะพัฒนาองค์กรให้เป็นดิจิทัลจะต้องมีขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง จะต้องปรับแนวคิด และพัฒนาพนักงานให้มีสมรรถนะใหม่อย่างไร และที่สำคัญจะบริหารองค์กรดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จยั่งยืนได้อย่างไร การที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ผู้เกี่ยวข้องในการออกแบบหรือแปลงโฉมองค์กรใหม่ จะต้องรู้จักและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับองค์กรดิจิทัลเสียก่อน เพื่อกำหนดจุดอ้างอิง (Benchmark) และทำการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ในสถานะขององค์กรปัจจุบัน แล้วค่อยมากำหนดกลยุทธ์ในการแปลงโฉมองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล


จากรายงานการวิจัยเมื่อปี ค.ศ. 2016 ของ MTT Center for Digital Business ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา Capgemini ชื่อ “Becoming a Digital Organization: The Journey to Digital Dexterity” ที่ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ไปศึกษา สัมภาษณ์ผู้บริหาร ประมาณ 150 องค์กรที่มีลักษณะเป็นองค์กรดิจิทัล เช่น Samsung, airbnb, Taco Bell, Apple, Boeing, intel, Roche, Nike เป็นต้น ซึ่งพอจะสรุปคุณลักษณะเด่นๆ ขององค์กรดิจิทัลได้ดังนี้

1. ความหมายขององค์กรดิจิทัล: องค์กรดิจิทัลจะหมายถึงมิติในการพัฒนาองค์กรในสองมิติ คือ

1.1. Digital Capability: ความสามารถขององค์กรในการเลือก สรรหา เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เช่น Social Media, Mobile Device, Cloud Computing, Artificial Intelligence, Augmented, Reality, Virtual Reality เป็นต้น มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการปฏิบัติการในองค์กร เพื่อเป็นการผูกใจทั้งพนักงานและลูกค้า ปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เพิ่มผลิตภาพในการดำเนินงานขององค์กร หรือ ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เป็นต้น


1.2. Digital Dexterity: เป็นความสามารถขององค์กรในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เลือกและสรรหามาให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแผนกลยุทธ์ขององค์กร หรือเพิ่มคุณค่าต่อกระบวนการปฏิบัติงานขององค์กรซึ่ง Digital Dexterity นี้จะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรดิจิทัล


2. คุณลักษณะขององค์กรดิจิทัล: องค์กรดิจิทัลจะมีคุณลักษณะที่แตกต่างไปจากองค์กรอนาล็อก (Analog) ในภาพใหญ่ๆ ที่เรียกว่า “M – PWR” ดังมีรายละเอียดคราวๆต่อไปนี้

M – PWR Characteristics of a Digital Organization


2.1. Mindset (M) : เป็นความมุ่งมั่น ชัดเจน ขององค์กรที่จะต้องมีแนวคิดแบบ “Digital – First” ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรทุกภาคส่วนมีแนวคิดหรือความต้องการที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อน พัฒนาองค์กร ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น ลดความสูญเสีย เพิ่มความเร็ว และพัฒนาคนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานกับเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Co-Creation) ในการรังสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นกับการมีแนวคิดในการปฏิรูปองค์กรดิจิทัล จะขอตัวอย่างกรณีศึกษาของบริษัทฟูจิตสึ ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเร่งการปฏิรูปและขับเคลื่อน องค์กรใน 3 มิติ คือ


ระบบอัจฉริยะ: ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลประเภท Artificial Intelligence (AI) เพื่อการสรรหา เรียนรู้ข้อมูลที่เป็นลักษณะ Big Data กลั่นกรอง วิเคราะห์ ข้อมูลเชิงลึก และนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาทำงานร่วมกันกับคน เพื่อช่วยให้คนตัดสินใจได้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น มีกระบวนการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากกว่าเดิม


การเชื่อมต่อ: ปรับปรุงให้กระบวนการปฏิบัติงานขององค์กรมีการเชื่อมต่อ ติดต่อ อย่างมีประสิทธิภาพทั้งภายในและภายนอก องค์กร เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบยืดหยุ่น ที่ทำงานที่ไหน เมื่อไร ก็ได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง


การมุ่งเน้นลูกค้า : เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆที่น่าประทับใจในการสร้างความผูกใจของลูกค้า (Customer Engagement) ในแต่ละราย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลลักษณะ Connected Services เช่น AI, Internet of Things (IoT), Cloud, และมีระบบรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลที่ดี เป็นต้น


2.2 Practices (P): องค์กรดิจิทัลจะมีบรรทัดฐาน (norms) ในกระบวนการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มคุณค่าและสร้างความแตกต่าง จากองค์กรอื่นๆ ใน 3 มิติหลักๆ คือ

2.2.1 Digitized Operations : กระบวนการปฏิบัติงานขององค์กรดิจิทัลจะต้องออกแบบมาให้เป็นกระบวนการปฏิบัติงานที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีตรรกะที่เป็นเหตุเป็นผลที่อธิบายได้ การใช้ความคิดในการปฏิบัติงานจะต้องเป็นไปในลักษณะ Critical Thinking หรือ Systematic Thinking ลดการใช้ดุลยพินิจ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน (Platform) เช่น การเป็น Paperless Office การนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ประเภท Blog, Intranet, Line, Whatsapp, Social Media ต่างๆมาใช้ในการติดต่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร การใช้เทคโนโลยีประเภท AI, VR, AR มาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด นำหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติต่างๆมาช่วยการปฏิบัติงานของพนักงาน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องต้นทุน เพิ่มความเร็ว และสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างความแตกต่างซึ่งจะนำมาซึ่งการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันตามมา

2.2.2 Collaborative Learning : การปฏิบัติงานจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ มองภาพกว้าง ลดการทำงานแบบอาณาจักร ตัดสินใจแบบไซโล พร้อมสำหรับการทำงานข้ามสายอาชีพเพื่อสร้างนวัตกรรม การแก้ปัญหาและตัดสินใจที่รวดเร็วบนพื้นฐานของข้อมูล การจะเป็นเช่นนี้ได้องค์กรจะต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานที่มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น เน้นการทำงานร่วมกันในแนวราบ ลดขั้นตอนการทำงาน เพิ่มอำนาจการตัดสินใจ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระหว่างผู้ปฏิบัติงาน นำข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานมาเป็นบทเรียนในการพัฒนางานในครั้งต่อๆไป กระตุ้นให้คนกล้าคิดสร้างสรรค์

2.2.3 Data-Driven Decision : พื้นฐาน (Platform) ของกระบวนการพัฒนางาน การแก้ปัญหา ตัดสินใจขององค์กรดิจิทัลจะต้องมีวัฒนธรรมการทำงานที่อ้างอิง เชื่อมโยงกับข้อมูล (Data Driven Culture) เสมอๆ พนักงานจะต้องทำตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ที่จะต้องเริ่มด้วยการสรรหา รวบรวมข้อมูลลักษณะ Big Data สร้างตัวชี้วัด (Data Metric) วิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) เปรียบเทียบกับสิ่งที่องค์กรอ้างอิง วิเคราะห์ช่องว่างของข้อมูล (Gap Analysis) ระหว่างข้อมูลปัจจุบันกับข้อมูลอ้างอิง ปรึกษาหารือกันเพื่อพัฒนางานสร้างบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) เพื่อเพิ่มคุณค่าของงาน ยกตัวอย่างเช่น Tesco Lotus ในอังกฤษที่มีสาขากว่า 3,500 สาขา แต่ละสาขามีสินค้ามากกว่า 40,000 รายการ เทสโก้ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเป็นอย่างมาก จึงพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลแบบทันที (Real Time Data Analytics) เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย ทำให้เทสโก้สามารถพยากรณ์ยอดขายได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงกว่าในอดีต ส่งผลให้เทสโก้สามารถลดต้นทุนในการสต๊อกสินค้า ออกแบบชั้นวางสินค้าที่กระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้ดีขึ้น และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า (Logistic) ที่ช่วยให้ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ในแต่ละสาขาลงได้ อย่างมาก

2.3 Workforce (W): องค์กรดิจิทัลจะมีมุมมองต่อพนักงานที่กว้างขวางกว่าเดิม จากองค์กรอนาล็อคที่มีมุมมองว่าพนักงานเป็นเพียงผู้รับจ้าง (Employee) ที่องค์กรจ้างมาปฏิบัติงานไปวันๆ มาสู่มุมมองที่มองว่าพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร พนักงานทุกๆ คนเป็นเจ้าของงานที่มีส่วนสำคัญในผลสำเร็จขององค์กรเพราะฉะนั้นองค์กรดิจิทัลจะต้องสร้างบรรยากาศที่ผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัว เริ่มด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันประสบความสำเร็จ (Co-Creation) นโยบาย โครงสร้างองค์กร สำนักงานและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานต่างๆต้องออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานที่มีลักษณะของความยืดหยุ่นสูง เน้นการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลิตภาพ องค์กรดิจิทัลจะต้องมีกระบวนการคิดที่ว่าต้องส่งเสริมให้คนกล้านำเสนอความคิดใหม่ๆอย่างมีเหตุผลด้วยความเชื่อมั่นจากความเชี่ยวชาญในประสบการณ์ของตน กล้ารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดเพื่อให้เกิดการเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง กล้าที่จะมองแตกต่างจากคนอื่น กล้าที่จะท้าทาย สมมุติฐาน ความเชื่อเดิมๆ ด้วยข้อมูลชุดใหม่ๆ ประสบการณ์ที่แตกต่าง กล้าแลกเปลี่ยนแบ่งปัน เรียนรู้ ประสบการณ์ ความรู้ ระหว่างกันในมุมมองที่หลากหลาย แตกต่าง ด้วยความกระตือรือร้น อยากรู้ อยากเห็น ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย จะทำให้องค์กรอยู่กับที่รอวันตายในอนาคต ลักษณะเด่นๆ ในความแตกต่างขององค์กรดิจิทัลในการบริหารคน จะมีดังนี้

2.3.1 Technology Experience: องค์กรดิจิทัลจะต้องวางพื้นฐานการพัฒนาพนักงานให้มีความรู้ ความสามารถด้านดิจิทัล (Digital Literacy)ให้เท่าเทียมกันในทุกๆกลุ่มและช่วงอายุ ไม่เพียงแต่เน้นการพัฒนาให้พนักงานมีความรู้ในเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Analytics, Artificial Intelligence, Machine Learning, Social and Mobile Technology, Internet of things เป็นต้น แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีประสบการณ์ด้วยการลงมือปฏิบัติในเทคโนโลยีเหล่านั้นด้วย ต้องกล้าที่จะส่งเสริมให้คนกล้าที่จะลองผิด ลองถูกได้ แต่ต้องรู้จักควบคุมและมีวิธีการบริหารความเสี่ยงในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

2.3.2 Digital Skills: องค์กรดิจิทัลจะต้องพัฒนาให้พนักงานมีทักษะ มีตรรกะ เป็นเหตุเป็นผล ที่จะตระหนักได้ว่าใน กลยุทธ์ด้านต่างๆที่องค์กรออกแบบมา กระบวนการปฏิบัติงานใดๆ หรือในการแก้ปัญหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะต้องใช้ข้อมูลชุดไหน เทคโนโลยีดิจิทัลอะไรมาช่วยในช่วงเวลาไหน และเมื่อเลือกใช้เทคโนโลยีได้แล้วองค์กรจะต้องพัฒนาให้พนักงานมีความพร้อม มีทักษะ มั่นใจ ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านั้นอย่างผู้ชำนาญการ เพื่อประหยัดเวลาในการปฏิบัติงาน และเพื่อความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2.3.3 High Engagement: ด้วยในโลกดิจิทัลงานประจำซ้ำๆ งานง่ายๆ ส่วนมากจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยี งานที่เหลือที่จะต้องใช้คนทำงานจะต้องการคนที่มีทักษะ ต่างๆเหล่านี้ มีความคิดเชิงวิเคราะห์ สามารถแก้ปัญหาที่สลับสับซ้อนได้ มีความคิดสร้างสรรค์ บริหารอารมณ์ตนเองได้ดี สามารถทำงานประสานงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีความคิดเชิงบวก มีจิตใจที่ใส่ใจในการบริการ มีการเจรจาต่อรองที่ดี และมีความยืดหยุ่นทางความคิด ซึ่งการจะพัฒนาให้คนมีทักษะดังกล่าวได้จะไม่ใช่แค่การพัฒนาให้คนมีความรู้ทางหลักการ วิชาการ แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องพัฒนา ออกแบบ กระบวนการผูกใจคน (Workforce Engagement) ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ และจิตวิญญาณ จะต้องดูแลให้คนเป็นอย่างดีที่ไม่ใช่ด้วยผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูแลจนถึงจิตใจ เช่น การให้เกียรติ ให้ความรัก เอื้ออาทรต่อกัน สร้างบรรยากาศในที่ทำงานที่ให้ความมีอิสระ ยืดหยุ่น มีวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของคน เปิดโอกาสให้แสดงและเคารพในความคิดเห็น เป็นต้น จนคนมีความคิดว่าเขาเป็นเจ้าของงานที่มีส่วนสำคัญต่อการประสบความสำเร็จหรือ ล้มเหลวขององค์กรไม่ใช่เป็นแค่ลูกจ้างทำงานกินเงินเดือนไปวันๆ ถ้าองค์กรสามารถดูแลให้พนักงานมีความคิดเช่นนี้ได้ คนจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน เป็นไปในลักษณะเชิงบวกที่มีแรงจูงใจ ความรับผิดชอบ ด้วยตนเอง และถ้าองค์กรพัฒนาในเรื่องของสติปัญญาเพิ่มเข้าไป จะทำให้คนผูกใจไว้กับงาน ไม่ใช่เอาร่างกายมาทำงานไปวันๆ การทำงานก็จะประสบผลสำเร็จไปได้ด้วยดี

2.4 Resources (R): นอกเหนือไปจากคน (พนักงาน) แล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูล จะเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างมากต่อองค์กรดิจิทัล ทรัพยากรเหล่านี้จะส่งผลต่อการ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งในเบื้องต้นองค์กรดิจิทัลจะต้องพัฒนาให้องค์กรมีความพร้อมใน 3 ด้าน คือ

2.4.1 Real-Time Customer Data: การมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่ ถูกต้อง เหมาะสม ทันกาล จะเป็นประเด็นสำคัญในการออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาด องค์กรดิจิทัลจะต้องเร่งพัฒนานวัตกรรม ในการเสาะหา และวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าแบบทันกาล (Real-Time Data Analytics) เพื่อให้เข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้า และสามารถพยากรณ์พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้ จะพัฒนามาสู่การสร้างความผูกใจของลูกค้า (Customer Engagement) นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการผลิตสินค้า การสต๊อกสินค้า ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่ง รักษาสิ่งแวดล้อม

2.4.2 Integrated Operations Data: ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งขององค์กรดิจิทัลคือการตัดสินใจในการแก้ปัญหา ปรับปรุงงาน ที่ต้องมีความรวดเร็ว ทันกาล (Real-Time Decision Making) ด้วยการใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (Data-Centric) ระบุ วิเคราะห์ นำเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหา การจะทำเช่นนี้ได้องค์กรจะต้องสร้างฐานข้อมูลของกระบวนการปฏิบัติงานด้านต่างๆขององค์กรที่เชื่อมโยงกัน สะดวก รวดเร็ว ต่อการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ เช่น ระบบการบริหารห่วงโซ่อุปทานโดยเชื่อมโยงของคำสั่งซื้อของลูกค้าส่งมายังโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ที่ เครื่องจักรสามารถสื่อสารกับเครื่องจักรด้วยกันเองได้ในกระบวนการผลิต โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากคน จะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพ และเมื่อผลิตสินค้าเสร็จสินค้าก็จะถูกจัดส่งไปให้ลูกค้าโดยทันที สามารถลดสินค้าคงคลัง และสร้างความพึงพอใจในการบริการให้ลูกค้าได้ เป็นต้น

2.4.3 Collaborative Tools: เพื่อสนับสนุนการติดต่อสื่อสาร การทำงานร่วมกันในแนวราบ การให้ข้อมูลย้อนกลับในการทำงานอย่างรวดเร็วทันกาล องค์กรดิจิทัลจะต้องมีความสามารถในการสรรหาและเลือกใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ต่างๆมาทดแทนการติดต่อสื่อสารแบบเดิมที่เป็นไซโล เกิดเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ที่ไร้ ลด ลำดับขั้น เช่น E-mail, Social Media, Application ต่างๆ เป็นต้น ที่สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกอุปกรณ์ ทุกที่ ทุกเวลา (Any Device, Any Where, Any Time) เป็นต้น มาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อการทำงานร่วมกันของพนักงาน บุคคลภายนอก ที่ต้องบูรณาการกันระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัว และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของพนักงาน


องค์กรดิจิทัลจะมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกับคน ตั้งแต่การพัฒนาระบบงาน การเก็บข้อมูลของพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งๆขึ้นไป และนำเสนอการบริการรูปแบบใหม่ๆที่เน้นความรวดเร็วทันกาลในการสร้างความประทับใจของลูกค้า ทำให้บางโอกาสมีการเรียกองค์กรดิจิทัลว่าเป็น “สังคมของปลาเร็วกินปลาช้า” เทคโนโลยีดิจิทัลที่องค์กรดิจิทัลเลือกใช้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรใน 3 มิติใหญ่ๆ คือ 1.) Customer Experience ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ความคาดหวัง ความต้องการ ของลูกค้าแบบ Real-Time 2.) Operational Efficiency เพิ่มผลิตภาพ ในกระบวนการปฏิบัติงาน บนพื้นฐานของข้อมูลและระบบอัตโนมัติ 3.) Workforce Efficiency เพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานของคนที่จะทำงานในลักษณะ Less For More


ประเทศไทย 4.0 เป็นต้นน้ำขององค์กรสายพันธุ์ใหม่ลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า “องค์กรดิจิทัล” องค์กรลักษณะเดิมถ้าต้องการเป็นองค์กรดิจิทัล จะต้องมีการแปลงโฉมองค์กร โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิดขององค์กรที่มีมุมมองว่าองค์กรเป็นชุมชนหนึ่ง (Community) ที่มีมิติในการปฏิบัติงาน ที่ชุมชนนั้นประกอบไปด้วย คน สถานที่ทำงาน เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมีการออกแบบให้สถานที่ทำงาน บรรยากาศในการทำงาน เทคโนโลยี เอื้ออำนวยให้คนทุ่มเททำงานด้วยใจ และรูปแบบในการทำงานของคนที่องค์กรดิจิทัลให้ความสำคัญเป็นอย่างมากตามแนวคิดที่ว่า “Clientsdo not come first.Employees come first. If you take care of your employees, they will take care of your clients.” จะเป็นไปในลักษณะ ร่วมแรง ร่วมใจ ประสานพลัง รับฟังความคิดเห็น ให้ความเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ของความเป็นมนุษย์ ทำงานแบบยืดหยุ่น เพื่อกระตุ้นจูงใจให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ ในการรังสรรค์นวัตกรรม เพราะถ้าองค์กรไม่สร้างบรรยากาศให้คนกล้าคิด กล้าลองผิดลองถูกได้ ก็เปรียบเสมือนว่าองค์กรอยู่กับที่รอวันที่ Disruptive Technology มาทำลายล้างองค์กรในที่สุด สังคมดิจิทัล จะมีอิทธิพลต่อความคิดให้คนบางส่วนติดกับดักของ ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น แบบเร็วๆ อย่างดิจิทัล การวัดการเจริญเติบโตที่วัดแต่เพียงมิติภายนอก(วัตถุนิยม) เช่น อัตราการเติบโตของ GDP คนรวยเพิ่มขึ้นเท่าไร ใครครอบครองทรัพย์สินมากกว่ากัน เป็นต้น จนเป็นบ่อเกิดของปัญหาการคอร์รัปชั่น การละเมิดศีลธรรมแชร์ลูกโซ่ การทุจริต ความเครียด ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการละเลยการวัดความเจริญเติบโตทางมิติภายใน (จิตนิยม) เช่น ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การประพฤติดี (ชอบ) จริยธรรม คุณธรรม ความพอประมาณ เป็นต้น ผู้เขียนขอเปิดประเด็นหารือว่าองค์กรดิจิทัล สังคมดิจิทัล จะทำอย่างไรให้มีการนำมิติในการวัดความเจริญเติบโตด้วยมิติภายนอก และมิติภายใน มา ผสมผสาน เชื่อมโยง ซึ่งกันและกัน ประเภทรวยแต่ไม่โกง หรือภูมิใจในความเป็นคนดี ได้อย่างไร และในภาพกว้างขอให้ใช้ปัญญาพิจารณาทบทวน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าโมเดลไทยแลนด์ 4.0 จะพัฒนาสังคมให้บูรณาการ เชื่อมโยง ระหว่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) กับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ให้ลงตัวได้อย่างไร ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยด้านต่างๆอย่างยั่งยืนสืบไป ในลักษณะที่ว่า “สังคมดิจิทัล ไม่ควรจะเป็นแค่สังคมปลาเร็วกินปลาช้า แต่ควรจะต้องเป็นสังคมที่ทั้งปลาเร็ว ปลาช้า จะอยู่ร่วมกันได้ ถ้าต่างก็เป็นปลาดี”

ดู 13,806 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page