top of page

การสื่อสารระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface)

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | nutavootp@gmail.com

ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ที่พูดถึงกันมากในทุกวันนี้ ยังไม่ได้สะท้อนรูปแบบการคิดหรือการตัดสินใจที่แท้จริงจากสมองของมนุษย์ แต่เป็นการจำลองเงื่อนไขว่าถ้าหากเกิดสิ่งนี้ ให้ทำแบบนี้ และเรียนรู้จากรูปแบบเพื่อทำซ้ำ หรือทำสิ่งที่แตกต่างไปในครั้งถัด ๆ ไปเท่านั้น แต่ภายใน 10 ปีข้างหน้า เทรนด์ของเทคโนโลยีจะพัฒนาไปสู่การติดต่อสื่อสารระหว่างคลื่นสมองของมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface) หรือ BCI เพื่อควบคุมสมองเทียมอิเลคทรอนิกส์ของ AI ทำให้ AI ฉลาดขึ้น มีความคิดความอ่านอารมณ์และความรู้สึกทัดเทียมมนุษย์มากขึ้น


BCI เป็นศาสตร์ที่ผสมผสานความรู้ในเรื่อง คอมพิวเตอร์ ไฟฟ้าเคมี ระบบประสาทและสรีระวิทยา เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สมองของมนุษย์กับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ สามารถเชื่อมประสานกันและสื่อสารกันได้ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารทางเดียว หรือการสื่อสารสองทาง ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การเชื่อมระบบประสาทเข้ากับอวัยวะเทียมช่วยให้สมองที่ยังดีอยู่ของคนที่เป็นอัมพาต สามารถถ่ายทอดออกคำสั่งไปยังแขนกลหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน และการเชื่อมระบบประสาทกับเทคโนโลยีที่ให้สัมผัสความรู้สึกในการเข้าสู่โลกเสมือนจริง (Virtual Reality หรือ VR) โดยไม่ได้จำลองเพียงภาพและเสียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประสาทสัมผัสรับรู้ถึงแรงป้อนกลับหรืออุณหภูมิจากการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ในโลกเสมือนจริงที่สร้างขึ้น รวมทั้งการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิต คือ การรับรู้ (Recognition) กับกระบวนการคิดภายในสมอง ซึ่ง เรย์มอนด์ เคิร์ซวีล (Raymond Kurzweil) นักทำนายอนาคตคนสำคัญของโลกได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า ภายใน ค.ศ. 2045 มนุษย์จะสามารถอัพโหลดข้อมูลจากสมองไปเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ และหลังจากนั้นจะเชื่อมต่อสมองกลซึ่งรวมถึงการรับรู้ทางจิตเข้ากับร่างกายคนได้จริง ๆ


ปัจจุบันนี้มีหลายหน่วยงานกำลังพัฒนา BCI ให้สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำบัน เช่น หน่วยงานวิจัย Building 8 ของ Facebook มีโครงการชื่อ “Brain-Computer Speech-to-Text Interface” ที่จะแปลความคิดในสมองของมนุษย์ให้สามารถสั่งการไปยังคอมพิวเตอร์ได้โดยไม่จำเป็นต้องพูดหรือใช้การสัมผัสใดๆ โดยเป้าหมายแรก คือการทำให้มนุษย์สามารถสั่งพิมพ์ข้อความโดยตรงจากสมอง ซึ่งจะเร็วเป็น 5 เท่าของการพิมพ์ด้วยนิ้วมือ และจะพัฒนาให้มนุษย์สามารถใช้ความคิดพิมพ์ข้อความได้ถึง 100 คำต่อนาที นอกจากเรื่องของการใช้สมองสั่งงานเพื่อการพิมพ์แล้ว อีกหนึ่งแผนการของ Facebook คือ การสร้างเทคโนโลยีใหม่แห่งการสื่อสารผ่านผิวหนัง ซึ่ง Facebook ระบุว่าเทคโนโลยีที่ว่านี้จะทำหน้าเสมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของหู ที่จะเปลี่ยนเสียงให้กลายเป็นคลื่นความถี่ก่อนจะส่งไปยังสมอง และแปลงรหัสให้กลายเป็นเสียงเพื่อการได้ยิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้พิการหูหนวก ขณะที่บริษัทรถยนต์นิสสันก็ได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Brain to Vehicle (B2V) โดนใช้ระบบ BCI ตรวจจับคลื่นสมองของคนขับรถ และให้รถยนต์เดาสิ่งที่ผู้ขับกำลังจะทำ หากตรวจจับได้ว่ากำลังจะหักพวงมาลัยเลี้ยวซ้าย ระบบก็จะหักพวงมาลัยเลี้ยวซ้ายให้ก่อนที่มือของผู้ขับจะขยับพวงมาลัยประมาณเสี้ยววินาที


การบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อการสื่อสารระหว่างสมองของมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface) กำลังกลายเป็นจริง สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในด้านบวก เช่น ผลิตภาพ (Productivity) ในงานธุรการที่เพิ่มขึ้น เช่นการพิมพ์เอกสาร สำหรับการบริหารและถ่ายทอดองค์ความรู้โดยเฉพาะที่เป็นความรู้ที่ไม่ปรากฏชัดแจ้งแต่ฝังอยู่กับตัวบุคคล (Tacit Knowledge) จะไม่สูญหาย สามารถเก็บรักษาไว้ได้ในสมองเทียมอิเลคทรอนิกส์ ในเรื่องการบริหารผลงาน (Performance Management) พนักงานที่ฝัง Smart Chip ไว้ในสมองเพื่อเชื่อมต่อกับสมองเทียมจะมีผลงานดีกว่าพนักงานทั่วไป ซึ่งในที่สุดองค์กรอาจต้องให้การฝัง Smart Chip เป็นสวัสดิการที่เบิกได้เช่นเดียวกับการเบิกค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ความพยายามในการทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ “คิด”และ “ตัดสินใจ” ในรูปแบบเดียวกับที่สมองของมนุษย์คิดและตัดสินใจมีความก้าวหน้าไปมาก มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง Facebook เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมเชื่อว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีจะทำให้เราติดต่อสื่อสารกันผ่านความคิดได้ คุณแค่คิดอะไรออกมา แล้วเพื่อนคุณก็จะสัมผัสประสบการณ์ได้ (แบบเดียวกับคุณ) หากคุณอนุญาต” ที่น่าสนใจกว่าคำพูดของมาร์ค ก็คือ โลกเราพร้อมสำหรับเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์แล้วหรือยัง เพราะเมื่อเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาและใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เราจะไม่มีวันหันหลังกลับไปสู่โลกใบเดิมได้อีกเลย

ฐานเศรษฐกิจ Online, 2561. ‘การสื่อสารระหว่างสมองมนุษย์และคอมพิวเตอร์’, 19 มิถุนายน 2561.

HR Society Magazine, ‘การสื่อสารระหว่างสมองมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface)’, ธรรมนิติ.Vol. 16, No 183, หน้า 66-69, มีนาคม 2561

ดู 2,244 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page