ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | Nutavootp@gmail.com
ความเจริญในโลกยุคปัจจุบันทำให้มีการค้นพบสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบไปพัฒนาเทคโนโลยีต้องสะดุดอยู่เป็นระยะ ๆ ไม่ใช่ศาสนา หรือ ความขัดแย้งทางความเชื่อเช่นในช่วงต้นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา แต่เป็นการบังคับใช้กฏหมายและระเบียบที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด คือ เฟสบุ๊คพยายามออก สกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่และมีเสถียรภาพ ชื่อ ลิบร้า (Libra) โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านการเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมในระดับต่ำ ความยุ่งยาก คือกระบวนการทางกฎหมาย ตั้งแต่การตีความว่า Libra เป็นสกุลเงิน หรือตราสารทางการเงิน ใครจะเป็นผู้กำกับดูแล และควรอยู่ภายใต้กฎหมายใด ความยุ่งยากดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี ก่อนที่จะได้รับอนุมัติให้นำมาใช้ได้จริง
เจตนารมณ์สูงสุดของการออกกฎหมาย ก็เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองคุณค่าของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหมือนเทคโนโลยี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวหน้าเพียงใด กฎหมายก็ยังคงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองความเป็นมนุษย์ และความสัมพันธ์ของมนุษย์ตลอดไป ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า ‘ที่ใดมีสังคม ที่นั่นต้องมีกฎหมาย’ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโลยีในโลกยุคใหม่มาประยุกต์ใช้ คือการที่ระบบกฎหมาย ยังขาดความยืดหยุ่น ภาครัฐยังไม่สามารถพัฒนาระบบกฎหมายให้ทันกับนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงสังคมซึ่งเกิดขึ้นทุกวัน เมื่อยังไม่แน่ใจ รัฐจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กฏหมายที่มีอยู่เข้าไปควบคุมและกำกับดูแล เพื่อป้องกันผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ความท้าทายสำคัญคือ กระบวนคิดในการออกกฎหมายที่ต้องสมบูรณ์แบบโดยใช้สิ่งที่ได้เกิดขึ้นและบทเรียนจากในอดีต (Yesterday’s Regulation) เพื่อปิดทุกจุดที่อาจจะนำไปสู่การลดทอนคุณค่าของมนุษย์ กระบวนคิดดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการและกำกับดูแลเทคโนโลยีในอนาคต (Tomorrow’s Technology) ซึ่งก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้
ในข้อเท็จจริง จะพบว่ากฏหมายและเทคโนโลยีไม่ได้ต่างคนต่างเดินคนละเส้นทาง แต่เดินไม่ทันกันบนเส้นทางเดียวกัน ในอดีตศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างอยู่บนเส้นทางคู่ขนาน แต่ในที่สุดก็หาจุดตัดกันเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเชื่อและตรรกะจนสามารถประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างกันได้ แต่ปัจจัยสำคัญของเทคโนโลยีในโลกอนาคต คือ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในขณะที่ถ้ามีองค์ความรู้จำกัด (Limited Body of Knowledge) กฏหมายก็ไม่สามารถเขียนกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีได้ ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างเทคโนโลยีและกฏหมาย การยกร่างกฎหมายยุคใหม่ จึงควรเป็นการออกกฎหมายเชิงรุก (Proactive Approach) ที่เน้นการสร้างความยืดหยุ่น และตอบสนองอย่างทันท่วงทีต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ก้าวทันกับความไม่แน่นอน และการใช้มาตรการบังคับก็ควรเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม (Soft Regulation) มากกว่าจะใช้มาตรการลงโทษผู้กระทำผิด ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบวิเคราะห์ประเมินผลกระทบของกฎหมายหลังการบังคับใช้ (Regulatory Impact Assessment หรือ RIA) เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การสร้างสิ่งแวดล้อมจำลองสำหรับทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเงิน ผ่านทางนวัตกรรมการกำกับดูแลที่เรียกว่า Regulatory Sandbox เป็นสิ่งจำเป็น เพราะสามารถใช้เป็นสนามทดลองและศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยีในอนาคตที่จะมีต่อสังคมก่อนยกร่างมาตรการกำกับดูแลเพื่อบังคับใช้ วิธีนี้ช่วยให้เจ้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้มีโอกาสพัฒนาปรับปรุงในสนามทดลอง โดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนหรือภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายเดิมที่ตามไม่ทัน และเป็นโอกาสที่ดีของผู้กำกับดูแล ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ ลดความไม่แน่นอน และเพิ่มประสิทธิภาพของการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลเทคโนโลยี
ที่ผ่านมา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมีความซับซ้อนและใช้เวลานานในการยกร่าง เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ที่ความรู้ในตัวเทคโนโลยีเอง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆ มีอยู่จำกัด นอกจากนี้เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก หากออกกฏหมายกำกับดูแลแล้ว ก็อาจจะล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว กฎหมายเดิมที่มีอยู่จึงกลายเป็นเครื่องมือของกระบวนการยุติธรรมที่นำมาใช้ไปพลางก่อน ทำให้กลายเป็นการชะลอการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าการสนับสนุน การประนีประนอมระหว่างการออกกฏหมายและการพัฒนาเทคโนโลยี คือ การหาจุดเชื่อมโยงของระยะห่างบนถนนเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยมีหลักประกันว่าจะต้องไม่มีใครถูกลดทอนคุณค่า หรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยการมองไปข้างหน้าแบบเชิงรุก และมีการประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในทุกภาคส่วน
ฐานเศรษฐกิจ, 2562. “Yesterday’s Regulation VS Tomorrow’s Technology”, CEO Focus, the Disrupt, 15 สิงหาคม 2562, pp. 23
HR Society Magazine. “Yesterday’s Regulation VS Tomorrow’s Technology”,ธรรมนิติ. Vol. 17, No 201,หน้า 42-45, กันยายน 2562
Comments