วารสารารบริหารฅน | 1/2558 | สรุปความจากงาน BOT HR Day
ทุกวันนี้เราไม่อาจปฏิเสธอิทธิพลของเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันในแทบทุกด้าน ผลกระทบที่ตามมาคือพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลง และการขยับเคลื่อนของสังคมและเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งองค์การทั้งหลายก็ไม่อาจจะไหลทวนกระแสของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เช่นกัน
การสัมมนาของธนาคารแห่งประเทศไทยในชื่อ BOT HR Day ก้าวสู่การบริหารทรัพยากรบุคคลยุคดิจิทัล (Towards HR Digitalization) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ได้มีการนำเสนอแง่คิดและมุมมองที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับบทบาทของนักบริหารทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อหลอมรวมให้เข้ากับเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัลให้ได้ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนผลลัพธ์ที่องค์การต้องการนั่นเอง
โลกก้าวพ้นยุคสมัยอี (Electronics) ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความรวดเร็วและสร้างประสิทธิภาพให้กับการทำงาน มาสู่ยุคดิจิทัล (Digital) ที่มีแง่มุมของความรุ่มรวยในด้านฐานข้อมูลซึ่งสามารถช่วยสร้างให้เกิดความประทับจิตประทับใจ (Human Touch) ให้กับลูกค้าหรือผู้รับบริการได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองช่วยสนับสนุนการสร้างและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมขึ้นอย่างมาก เหตุผลที่เทคโนโลยีในยุคสมัยนี้สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็เนื่องจากขีดความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นของคอมพิวเตอร์ที่ทำให้การคำนวณ วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และการประมวลผลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดาย ครอบคลุม และมีมิติที่หลากหลายมากขึ้น
และเพื่อให้องค์การสามารถที่จะดำเนินธุรกิจ อยู่รอด และแข่งขันได้ในยุคดิจิทัลนี้ องค์การจำเป็นต้องมีความสามารถ 4 กลุ่ม (SMAC) และการบริหารทรัพยากรบุคคลก็จำเป็นจะต้องบูรณาการเอาความสามารถเหล่านี้มาใช้ในงาน ได้แก่
1) Social Media สังคมออนไลน์เป็นแหล่งในการได้มาซึ่งบุคลกรที่มีคุณภาพจำนวนมาก โจทย์สำคัญขององค์การในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่การจ้างคน แต่อยู่ที่จะไปหาคนที่ใช่มาจากไหน ซึ่งสังคมออนไลน์เป็นแหล่งที่สำคัญและกว้างใหญ่ หากนักบริหารทรัพยากรบุคคลรู้จักใช้ช่องทางนี้ก็จะสามารถช่วยสนับสนุนงานของหน่วยงานและองค์การได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เราสามารถใช้สังคมออนไลน์ในการบริหารจัดการความรู้ในองค์การรวมถึงใช้ในการพัฒนานวัตกรรมได้ด้วย
2) Mobility หรือการเคลื่อนย้ายงาน กล่าวคือ บุคลากรที่กำลังเข้าสู่วัยทำงาน หรือรวมถึงผู้ที่กำลังทำงานอยู่แล้วก็ตาม ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่สังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ประเด็นเรื่องความสามารถในการทำงานได้จากทุกๆที่เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากองค์การในแทบทุกกลุ่มธุรกิจในทุกมุมโลก
3) Analytics เป็นความสามารถในการวิเคราะห์และเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆทั้งในทางการตลาด การบริหาร และการจัดการทรัพยากรบุคคล ซึ่งความสามารถในการวิเคราะห์นี้จะทำให้องค์การและการบริหารทรัพยากรบุคคลสามารถดูแล เข้าถึง และบริหารลูกค้า ผู้รับบริการ รวมถึงพนักงานได้เป็นรายบุคคล ซึ่งตรงกับพื้นฐานความต้องการทางอารมณ์ของลูกค้าในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
4) Cloud เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ทำให้องค์การสามารถได้รับและแบ่งปันความรู้ ความคิด และความเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นภายในองค์การ หรือการแลกเปลี่ยนกับบุคคลภายนอกองค์การก็ตาม นอกจากนั้น Cloud ยังถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการทำให้เกิด Mobility ได้อีกด้วย
โดย SMAC (Social Media, Mobility, Analytics and Cloud) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์การสามารถสร้างความร่วมมือ (Collaboration) ทั้งในระดับองค์การ และในระดับสังคม ซึ่งจะทำให้องค์การสามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้า และสามารถรวบรวมเอาความคิดต่างๆ มาผสมผสานสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมที่สร้างความประทับจิตประทับใจที่เป็นความแตกต่างได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าโลกยุคดิจิทัลจะนำพาเราไปสู่ความสัมพันธ์แบบ M2M (Machine to Machine) มากขึ้น แต่สิ่งที่ยังคงความสำคัญในฐานะที่ท้ายที่สุดความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ยังคงเป็นการเชื่อมโยงมนุษย์คนหนึ่งเข้ากับมนุษย์อีกคนหนึ่งนั่นคือการสร้างประสบการณ์ที่เข้าใจและสัมผัสได้ถึงหัวใจของคู่สื่อสารของเรานั่นเอง
Comments