สราวุธ พันธุชงค์ | People Magazine 3/2560
มีคนกล่าวว่า อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในศตวรรษที่ 20 และดูเหมือนว่านับตั้งแต่ที่อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้วและได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเรื่อยมา จนเข้าสู่เทคโนโลยีสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง Broadband ที่สามารถรับส่งข้อมูลได้จำนวนมากผ่านสื่อต่างๆ มีการใช้งานอย่างแพร่หลายเพราะราคาถูกลงมาก รวมถึงระบบต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้ใช้งานง่ายขึ้น อินเตอร์เน็ตจึงได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต พฤติกรรมของผู้คนด้านต่างๆ ในหลากหลายมิติ รวมถึงรูปแบบการทำธุรกิจ จนอาจพูดได้ว่า โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคของดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
IoT: Internet of Things (บางทีเรียก IoE: Internet of Everything) หรือ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” หมายถึง การที่สิ่งต่างๆ ถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าทุกอย่างใกล้ตัวเราวิ่งเข้าหา Internet และการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งหมดแม้กระทั่งการใช้งานในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าวันไหนเราลืมเอาโทรศัพท์มาจากบ้านวันนั้นเราแทบทำอะไรไม่ได้เลย โลกกำลังก้าวเข้าสู่ Digital Age หรือยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ยุคที่ใครๆ ก็มี Smartphone พกติดตัว การใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ทำให้มีหลายสิ่งหลายอย่างกำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป บางอย่างที่หายไปและบางอย่างที่กำลังมา
งาน HR ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอยู่บ้างแล้ว เช่น ระบบบริการงาน HR ด้วยตนเอง (Employee Self-Service Online) ระบบการสรรหา และ Branding โดยใช้ Social Media ระบบการเรียนรู้ผ่าน e-Learning เมื่อปรับเปลี่ยนเป็น Digital HR ระบบต่างๆ เหล่านี้ ต้องพัฒนาต่อยอดให้เป็น Mobile Application หมายความว่าจะใช้งานที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ผ่านเครื่องมือ Smart Phone หรือ Tablet ที่สามารถพกติดตัวไปได้ ประเด็นสำคัญในปัจจุบันที่จะข้ามไปไม่ได้คือเรื่อง Big Data หรือ การบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ความเข้าใจในเรื่อง Big Data & Analytics ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ เช่น การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลรักษาพยาบาลของพนักงาน ผลที่ได้นำไปสู่การกำหนดนโยบายการดูแลสุขภาพพนักงานแบบองค์รวม (Well-ness) ทั้งด้านการป้องกันและฟื้นฟู ซึ่งจะส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรและคุณภาพของงาน รวมทั้งการบริหารค่าใช้จ่ายขององค์กรในระยะยาว หรือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการให้รางวัลและสิทธิประโยชน์รูปแบบต่างๆ กับประสิทธิภาพของผลงาน เพื่อให้สามารถจัดสัดส่วนของรางวัลและสิทธิประโยชน์รายบุคคลให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง แม้ว่า Big Data & Analytics สามารถช่วยคาดการณ์และวางแผนการตัดสินใจได้ดีขึ้น แต่การใช้ประโยชน์ในงาน HR ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากขาดผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจพื้นฐานการวิเคราะห์เชิงปริมาณบนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งอาจกระทบกับความเป็นส่วนตัว แต่ถ้าองค์กรสามารถใช้ Big Data ได้อย่างเข้าใจและเหมาะสม จะเป็นช่องทางเชื่อมโยงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ กับการจัดการธุรกิจเข้าหากันได้เป็นอย่างดี
ในขณะเดียวกันการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management ส่วนใหญ่ขององค์กรยังให้ความสำคัญที่การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรซึ่งเป็นการให้น้ำหนักกับการจัดการความรู้ภายในองค์กรเป็นหลัก ในขณะที่ผลกระทบจากข้อมูลและความรู้ภายนอกมีผลต่อองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับมีองค์กรเพียงไม่กี่แห่งที่มีแนวทางในการจัดการกับข้อมูลดังกล่าว เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรอย่างรวดเร็วและทันท่วงที จากปรากฏการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไป การจัดการความรู้ในองค์กรต้องปรับให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทิศทางการทำธุรกิจ และที่สำคัญที่สุด พฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมคนในองค์กรที่นิยมใช้ mobile, social media และพฤติกรรมลูกค้าในยุค digital
การทำ KM ที่คิดถึงแค่ KM Day, K-collection จาก expert และคนที่จะเกษียณ K-Portal, K-website, CoP, AAR, K-Sharing Events, KM talk, Dialogue ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ KM ยุคใหม่ควรคำนึงถึงเรื่อง การสังเคราะห์ความรู้จาก Big Data การใช้ Corporate Social Media ในการจัดการความรู้ การใช้ Mobile เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความรู้การบูรณาการการจัดการความรู้กับกลยุทธ์องค์กรและการสร้างนวัตกรรม
“Change before you're forced to change,”
Comments