ผศ.รัชฎาทิพย์ อุปถัมภ์ประชา | rachadatip@yahoo.com
Deloitte ได้ทำการสำรวจในปี พ.ศ. 2560 นับเป็นการสำรวจขนาดใหญ่และครอบคลุมที่สุด โดยมีข้อมูลมากกว่า 10,400 ธุรกิจและผู้นำทางด้านทรัพยากรบุคคล 140 ประเทศ ทำให้ได้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มทางด้านทุนมนุษย์ 10 ประการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
องค์กรจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในการทำงาน 10 ประการ โดยเป็นการสำรวจระดับโลกที่แสดงร้อยละในประเด็นที่สำคัญเรียงตามลำดับ และได้เพิ่มให้เห็นการจัดลำดับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย จากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่าองค์กรในอนาคตเป็นอันดับหนึ่ง องค์กรจะมีต้องความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและเปลี่ยนแปลง รองลงมาเป็นเรื่องสายอาชีพและการเรียนรู้ ลำดับสามจะเป็นเรื่องการหาคนเก่งเข้ามาในองค์กร และลำดับสี่เป็นเรื่องประสบการณ์ของพนักงาน ลำดับต่อมาการบริหารผลการปฏิบัติงานและภาวะผู้นำมีร้อยละที่เท่ากัน และลำดับรองลงมาเป็น นักทรัพยากรมนุษย์ดิจิตอล การวิเคราะห์คน ความหลายหลายและการหลอมรวม และการเพิ่มขยายแรงงาน ตามลำดับ
ในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าอันดับหนึ่งเป็นเรื่องของการหาคนเก่งเข้ามาในองค์กร อันดับสององค์กรในอนาคต และอันดับสามเป็นเรื่องสายอาชีพและการเรียนรู้ ซึ่งถือได้ว่ามีความใกล้เคียงกับแนวโน้มระดับโลก แต่เมื่อพิจารณาในส่วนของประเทศไทย อันดับหนึ่งคือนักทรัพยากรมนุษย์ดิจิตอล อันดับสองคือการหาคนเก่งเข้ามาในองค์กร และอันดับสามคือภาวะผู้นำ
นักทรัพยากรมนุษย์แบบดิจิตอล
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้องค์กรต้องปรับตัวไปเป็นองค์กรแบบดิจิตอล นักทรัพยากรมนุษย์ก็ย่อมจะต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน ไปสู่การเป็นนักทรัพยากรมนุษย์เชิงดิจิตอล ผู้นำทางด้านทรัพยากรมนุษย์จะต้องผลักดันให้มีการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่องค์กรดิจิตอล ไม่ใช่เป็นแค่องค์กรที่ทำดิจิตอล นักทรัพยากรมนุษย์จะต้องทำให้องค์กรเกิดการปฎิรูปทางด้านดิจิตอลใน 3 ด้านได้แก่ สถานที่ทำงานแบบดิจิตอล มีพนักงานแบบดิจิตอล นักทรัพยากรมนุษย์ดิจิตอล จากผลการสำรวจ พบว่า กำลังออกแบบโปรแกรมทรัพยากรบุคคลเพื่อยกระดับเครื่องมือดิจิตอลและอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ อยู่ที่ร้อยละ 56 และกำลังใช้รูปแบบของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์บางอย่างเพื่อนำเสนอการแก้ไขปัญหาทางด้านทรัพยากรบุคคล อยู่ที่ร้อยละ 33
การได้คนเก่งเข้ามาทำงานในองค์กร
การที่จะได้คนเก่งเข้ามาทำงานในองค์กร จะต้องมีนักทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นผู้สรรหาและคัดเลือกที่มีความรู้ ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยี ทำให้คนเก่งในองค์กรสามารถที่จะเปลี่ยนงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องของการได้คนเก่งเข้ามาทำงานในองค์กรนั้นคือ การแก้ไขปัญหาและการบริการโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสรรหาและคัดเลือกพนักงานคนเก่งเข้ามาในองค์กร การใช้วิธีการสรรหาแบบเก่าๆ โดยการส่งประวัติย่อของผู้สมัครเข้ามาให้อ่านนั้น ไม่ได้ทำให้นักทรัพยากรมนุษย์ที่ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกได้สัมผัสกับผู้สมัครจริงๆ และไม่ได้ทำให้ทราบว่าถ้าหากผู้สมัครคนนั้นได้ผ่านการคัดเลือกเข้ามา จะสามารถทำงานกับองค์กรได้หรือไม่และเขาเป็นคนที่ใช่สำหรับองค์กรหรือไม่ ดังนั้นการมีเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีมาช่วยในการสรรหาและคัดเลือกจะช่วยทำให้ผลการตัดสินใจแม่นยำมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่า ความยอดเยี่ยมในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ โดยการแลกเปลี่ยนคนเก่ง อยู่ที่ร้อยละ 19 และความยอดเยี่ยมในการจัดการ crowdsourcing (การกระจายปัญหาไปยังกลุ่มชุมชนออนไลน์ค้นเพื่อค้นหาคำตอบ และวิธีการในการแก้ปัญหาทางธุรกิจนั้นๆ) อยู่ที่ร้อยละ 8 ในส่วนของความยอดเยี่ยมในการใช้เกมและการจำลองเพื่อดึงดูดและประเมินผู้สมัครที่มีศักยภาพ อยู่ที่ร้อยละ 6 ซึ่งพบว่าการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสรรหาและคัดเลือกพนักงานคนเก่งนั้นยังมีปริมาณที่ค่อนข้างน้อย
ภาวะผู้นำ
ผู้นำมีส่วนสำคัญในการบริหารและพัฒนาองค์กร กำหนดวัฒนธรรมองค์กร คนในองค์กรต้องการผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ องค์กรได้มีการเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นองค์กรดิจิตอล ภาวะผู้นำก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เป็นรูปแบบของผู้นำสมัยใหม่ที่เป็นผู้นำเชิงดิจิตอล ผู้นำที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดีมากในวันนี้ต้องการทักษะและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างจากผู้นำในอดีต ช่องว่างของภาวะผู้นำกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ การที่ผู้บริหารองค์กรไม่มีภาวะผู้นำจะส่งผลต่อประสิทธิภาพขององค์กรเช่นกัน โดยผลการสำรวจพบว่าประสิทธิภาพขององค์กร จะลดลงร้อยละ 2 นอกจากนั้นการสำรวจพบว่า พนักงานรู้สึกว่าพวกเขามีผู้นำเชิงดิจิตอลที่เข้มแข็ง ร้อยละ 5 ในขณะที่ร้อยละ 72 มีโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำแบบมุ่งเน้นการบริหารจัดการเชิงดิจิตอล ดังนั้นผู้นำแบบดิจิตอลจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการคิด การแสดงออก และการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ เป็นผู้นำสายพันธ์ใหม่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ติดตามเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ วารสารการบริหารฅน People Magazine Vol.3.2560 INFORMATION - Human Capital Transformation Trend: Rewriting the rules for the digital age ผู้เขียน ผศ.รัชฎาทิพย์ อุปถัมภ์ประชา
Comments