ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | People Magazine 3/2560
การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ในงาน HR
สัญลักษณ์ที่เป็นตัวอักษรแรกที่มนุษย์เขียนขึ้นสลักอยู่บนหินเรียกว่า Letter Stone ถูกพบในประเทศอียิปต์ มีอายุย้อนหลังไปถึง 3,500 ปี และได้รับการยอมรับว่าเป็นข้อมูลที่มนุษย์ประดิษฐ์ ขึ้นที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ การสื่อสารด้วยอักษรและภาพของมนุษย์ในระยะต่อมาได้ถูกเขียนลงบนกระดาษปาปิรุส ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานและจัดเก็บง่าย ห้องสมุดแห่งเมืองอเล็กซานเดรียในอียิปต์เมื่อ 2,500 ปี ก่อน มีการรวบรวมม้วนกระดาษที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้มากที่สุด ซึ่งที่นี่ได้มีการจัดทำรายการเอกสารแบบบรรณานุกรมเป็นครั้งแรกเช่นกัน
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทุกๆ วินาทีจะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและพฤติกรรมของมนุษย์ในมิติต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมหาศาล เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ข้อมูลที่ส่งผ่านจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่ายสารสนเทศ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดพบว่าในแต่ละวันมีปริมาณข้อมูล (Volume) ถูกสร้างขึ้นถึง 4.4 เซตตะไบต์ (Zettabytes) หรือ 1021 ไบต์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 44 เซตตะไบต์ ภายในปี 2020 อย่างไรก็ตามไม่ใช่เพียงขนาดของข้อมูลเท่านั้น ลักษณะของข้อมูลยังมีความหลากหลาย (Variety) มากขึ้น มีทั้งข้อมูลในแบบที่ไม่มีโครงสร้างที่สร้างโดยมนุษย์ เช่น SMS รูปภาพ วิดีโอ ไฟล์เสียง และที่สร้างจากการประมวลผลของระบบคอมพิวเตอร์ เช่น Time Series Data รวมทั้งข้อมูลที่มีโครงสร้างจัดทำเพื่อการใช้งานทางธุรกิจ เช่น บัญชีการเงิน และรายงานประจำปี เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อมูลยังมีความเร็วในการเปลี่ยนแปลง (Velocity) อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะข้อมูลประเภท Real-time เช่น ข้อมูลจากการอ่านเซนเซอร์ GPS ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น
ข้อมูลปริมาณมหาศาล หลากหลายรูปแบบและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถูกเรียกว่ากลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การประมวลผลข้อมูลเหล่านี้ในอดีตต้องอาศัยกระบวนการทางสถิติที่สลับซับซ้อนในการจำแนกกลุ่มตัวอย่าง การเก็บข้อมูลคำนวณวิเคราะห์ทำได้ทีละชุด (Batch) และใช้เวลานาน แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลพร้อมกันในครั้งเดียว สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก ข้อมูลที่เคยจัดเก็บในแต่ละครั้งขนาด Megabyte และ Gigabyte ปัจจุบันอาจมีขนาดใหญ่ถึงเพตะไบต์(Petabyte) ซึ่งมีขนาดเท่ากับ 1015 เท่าของความจุ 1 Byte หรือ 1.5 ล้าน Gigabyte เช่น รายการซื้อขายของลูกค้าห้างสรรพสินค้าวอลมาร์ตทั่วโลกมีมากถึงหนึ่งล้านรายการต่อชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่าฐานข้อมูลขนาด 2.5 เพตะไบต์ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการเก็บรักษาข้อมูลขนาดใหญ่ก็พัฒนาไปพร้อมๆ กัน ล่าสุดทีมนักวิจัยที่สถาบัน Kavli Institute of Nanoscience ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ (TU Delft) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ค้นพบวิธีเก็บข้อมูลบนอะตอมของคลอรีนที่เรียงอยู่บนผิวอะตอมของทองแดงวิธีนี้สามารถบรรจุข้อมูลจากหนังสือทุกเล่มในโลกไว้ได้บนหน่วยความจำขนาดเท่าแสตมป์ดวงเดียว
ติดตามเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ วารสารการบริหารฅน People Magazine Vol.3.2560 Article2 - การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ในงาน HR (HR Big Data & Analytics) ผู้เขียน ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ
Comments