ธนวัฒน์ ดวงอุดม | วารสารการบริหารฅน 3/2562
ในเช้าวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 ผู้เขียนหยิบหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันเดียวกับที่ได้อ่านนั่นละครับ ก็สะดุดตากับหัวข่าวที่จั่วไว้ในหน้า 1 ว่า วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2562 คือวันครบรอบ “21 ปี กูเกิล” เสิร์ชเอนจินของคนทั่วโลก และบอกกล่าวถึงที่มาของกูเกิลว่าเริ่มต้นจากโรงจอดรถ ในเมืองเล็ก ๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดย “แลร์รี่ เพจ”(Larry Page) และ “เซอร์เกย์ บริน ”(Sergey Brin) ปัจจุบัน “กูเกิล” ติด 1 ใน 3 บริษัทเทคโนโลยีโลก มีมูลค่าแบรนด์มากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ เป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดของโลก เป็นคลังข้อมูลที่อัดแน่นไปด้วยบิ๊กดาต้ามหาศาล มีสถิติการเข้าสืบค้นในเว็บกูเกิลต่อวันมากกว่า 3 พันล้านครั้ง กูเกิลยังเป็นเจ้าของอาณาจักรวิดีโอ “ยูทูบ” ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเกือบ 2 พันล้านคนต่อเดือน สำหรับประเทศไทย กูเกิล คือ เสิร์ชเอนจินเบอร์ 1 ที่คนไทยใช้บริการมากที่สุด
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ผู้เขียนได้อ่านหนังสือ “ตั้งเป้าชัด วัดผลได้ด้วย OKRs” โดย John Doerr จัดพิมพ์โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เรียบเรียงโดย คุณกิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์, ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข, คุณธนกร นำรับพร, คุณสุชาดา ปาเตีย, คุณนฤมล ตันติฤทธิศักดิ์ และ ดร.วีรินยาอร เหลืองบริบูรณ์ บรรณาธิการโดย คุณณรงค์วิทย์ แสนทอง หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวไว้ว่า กูเกิลพบกับ OKRs ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสมและลงตัวที่สุด
ความหมายของ OKRs หมายถึง กระบวนการที่อธิบายถึงการกำหนดเป้าหมายองค์กร, เป้าหมายของทีม และเป้าหมายรายบุคคล
O คือ Objective (วัตถุประสงค์) คือสิ่งที่จะตอบคำถามว่า เราต้องการทำอะไรให้สำเร็จได้ โดยที่เรื่องที่จะทำนั้นต้องเป็นเรื่องที่สำคัญ, เป็นรูปธรรม จับต้องได้, ไม่ยากหรือง่ายเกินไป, มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และต้องทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานได้ด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะต้องมีการออกแบบระบบการกระจายวัตถุประสงค์ขององค์กร ลงไปยังระดับต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
KRs คือ Key Results (ผลลัพธ์ที่สำคัญ) คือส่วนที่กำหนดมาตรฐาน และการตรวจสอบว่า เราสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างไร วัดจากอะไรเพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ สำหรับคุณลักษณะของผลลัพธ์ที่สำคัญ จะต้องมีลักษณะดังนี้ ต้องเฉพาะเจาะจง มีความชัดเจนว่าจะวัดจากอะไร (ข้อสังเกต ถ้าวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ แสดงว่า ผลลัพธ์นั้นไม่ใช่ผลลัพธ์ที่สำคัญ), ต้องมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ว่าจะวัดกันเมื่อใด (ส่วนใหญ่จะวัดเป็นรายไตรมาส) และคุณลักษณะผลลัพธ์ที่สำคัญประการสุดท้ายคือ ต้องมีความท้าทาย คือ ไม่สำเร็จง่ายเกินไป หรือไม่ยากจนเกินไป อยู่ในวิสัยที่มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับ OKRs กับเป้าหมายด้านจิตวิทยา ซึ่งมาจากหนังสือ “ตั้งเป้าชัด วัดผลได้ด้วย OKRs” ผู้เขียนขอสรุปให้สะดวกแก่การนำไปพิจารณาประกอบการนำกระบวนการ OKRs ไปปรับใช้ ดังนี้
คุณเอ็ดวิน ล๊อค อาจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ได้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับ “เป้าหมาย” ว่า
1. เป้าหมายที่ยาก (Hard Goals) ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเป้าหมายที่ง่าย
2. เป้าหมายที่ “เฉพาะเจาะจงและชัดเจน” ช่วยสร้างผลลัพธ์ในระดับสูงมากกว่าคำพูดที่คลุมเครือ
ดีลอยด์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการและผู้นำ ได้ทำการศึกษาเรื่องการสร้างความผูกพันต่อองค์กร ระบุว่า “ความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ไม่มีปัจจัยไหนที่มีผลมากไปกว่าเรื่องการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร และประกาศให้ทุกคนทราบ เพราะเป้าหมายแบบนี้จะช่วยให้ “เกิดการทำงานร่วมกัน และส่งผลทำให้เกิดความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานอีกด้วย”
ความสำเร็จจากการนำกระบวนการ OKRs เข้ามาใช้ในองค์กร เริ่มต้นจากคำถามว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด ในระยะเวลาอันใกล้ ผู้นำขององค์กรจะต้องกำหนดเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพนั้น และคนทำงานทั้งองค์กรควรทุ่มเทการทำงานไปในทิศทางไหน เมื่อกำหนดเป้าหมายองค์กรได้ชัดเจนแล้ว การสื่อสารให้คนทั้งองค์กรเข้าใจเป้าหมายเหมือนๆ กัน เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จภายในเวลาอันสั้น เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ผู้บริหารจะต้องมีการประเมินผลเทียบกับเป้าหมาย และทำการให้คำแนะนำโดยวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือข้อจำกัดที่มีผลต่อเป้าหมายภายในเวลาที่รวดเร็วต่อไป
มาถึงวันนี้ เมื่อได้ย้อนอ่านไปถึงความสำเร็จของกูเกิล ในวาระครบรอบ 21 ปี ที่ปรากฎในหน้า 1 ของกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 กันยายน 2562 แล้ว และย้อนรำลึกถึงพันธกิจของกูเกิล ที่ผู้บริหารได้เขียนพันธกิจไว้ ซึ่งปรากฎอยู่ในหน้า 83 ของหนังสือ “ตั้งเป้าชัด วัดผลงานได้ ด้วย OKRs” ว่า
“จัดการข้อมูลของโลกเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์นี้ได้จากทุก ๆ ที่”
พันธกิจของกูเกิลดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าเป็นการวางเป้าหมายที่สมบูรณ์ขององค์กรหนึ่งของโลก ที่มีความชัดเจน ท้าทาย วัดผลได้ และสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานแก่ประชากรของกูเกิลให้สร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อประชากรโลกได้อย่างกว้างขวาง สุขสันต์วันเกิดย้อนหลังนะครับ...กูเกิล
Comentarios