top of page
รูปภาพนักเขียนKHON

โค้ชผู้นำกลยุทธ์

สุเมธ ลักษิตานนท์ | coachmate@outlook.com

ในวงการธุรกิจเราจะได้ยินคำว่า กลยุทธ์ กันบ่อยครั้ง กลยุทธ์นั้นมีรากศัพท์มาจากการทำสงคราม แต่ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการธุรกิจเพื่อสะท้อนถึงการแข่งขันในวงการธุรกิจที่มีความเข้มข้นไม่ต่างจากการทำสงคราม สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดีนั้นควรต้องมีความเหมาะสมกับบริบทปัจจัยความสามารถภายในของธุรกิจและตอบสนองกับปัจจัยภายนอกของธุรกิจได้อย่างดี ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลต่อการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจนั้นๆ อย่างชัดเจน ซึ่งจากตำราเรียนทางด้านกลยุทธ์เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับกลยุทธ์หลักทั่วไป เช่นกลยุทธ์ทางด้านการพยายามลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด กลยุทธ์ทางด้านการสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการ เป็นต้น แต่ภายใต้กลยุทธ์หลักทั่วไปเหล่านี้ ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของธุรกิจนั้นๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นก็คงไม่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันระหว่างธุรกิจได้ กล่าวโดยสรุปคือกลยุทธ์ที่ดีควรจะต้องเป็นลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะ หรือTailor Made กับบริบทของธุรกิจแต่ละแห่งด้วยนั่นเอง


กลยุทธ์ทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องกำหนดจากผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่ผู้บริหารระดับสูงมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้กลยุทธ์ประสบความสำเร็จเพราะเป็นผู้สั่งการสูงสุด จากที่ได้กล่าวมาในตอนต้นว่ากลยุทธ์ที่ดีควรจะต้องเป็นลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละรายธุรกิจ ดังนั้นการสร้างกลยุทธ์ของธุรกิจควรจะได้มาจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกคนที่มีส่วนร่วมในองค์กรด้วย กลยุทธ์ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่ในองค์กรย่อมส่งผลให้เกิดความเข้าใจต่อแนวทางในการดำเนินการตามกลยุทธ์ และมีความผูกพันที่ต้องการให้เกิดผลสำเร็จมากกว่ากลยุทธ์ที่คิดจากผู้บริหารระดับสูงตามลำพังอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามการที่จะไปให้ถึงจุดนั้นได้เราต้องมีการสร้างความสามารถของบุคลากรในองค์กรให้มีความสามารถในเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะความคิดเชิงกลยุทธ์ให้เกิดขึ้นได้ก่อนครับ ซึ่งในบทความนี้ผมจะเรียกบุคลากรในองค์กรที่ได้รับการพัฒนา และมีคุณสมบัติเชิงกลยุทธ์นี้ว่า “ผู้นำกลยุทธ์” ครับ

องค์กรทุกแห่งควรสร้างภาวะผู้นำกลยุทธ์ให้เกิดขึ้นกับบุคลากร เพื่อเป็นจุดแข็งที่สำคัญขององค์กรในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งผู้นำกลยุทธ์ควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างและเราจะสร้างภาวะผู้นำกลยุทธ์โดยกระบวนการโค้ชนั้นจะสามารถทำได้อย่างไร


ผมได้สรุปจากงานวิจัยที่เคยศึกษา และบทความต่างๆ สำหรับคุณสมบัติของผู้นำกลยุทธ์ไว้ได้ตามนี้ครับ

> ผู้นำกลยุทธ์ต้องเป็นคนมองธุรกิจได้กว้าง และไกล กล่าวคือ สามารถมองเห็น หรือสังเกตเห็นสิ่งที่อยู่รอบๆ ธุรกิจและผลกระทบของสิ่งเหล่านั้นต่อธุรกิจของตนเอง หรือที่เราหลายคนคงเคยได้ยินคำว่าความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ส่วนการมองไกลก็คือ การมีวิสัยทัศน์ มีจินตนาการ มองเห็นภาพการเติบโตขององค์กรในระยะยาว ว่าองค์กรควรจะเติบโตไปอย่างไร (Visionary)

> ผู้นำกลยุทธ์ต้องกล้าท้าทายความสามารถตนเอง (Challenging) มีการกำหนดเป้าหมาย ทั้งในระยะสั้น และในระยะยาว โดยเป้าหมายทั้งหมดควรต้องสอดคล้องกันและเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นทุ่มเทให้เกิดผลสำเร็จ

> ผู้นำกลยุทธ์ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ (Creative) หรือเป็นมนุษย์หลาย Idea เพราะคำว่ากลยุทธ์คือแนวทางที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ภายใต้แนวทางกลยุทธ์หลายๆแนวทางที่คิดขึ้น (strategic options) ดังนั้นผู้นำกลยุทธ์อาจต้องฝึกการใช้สมองซีกขวากันให้มากขึ้นด้วยครับ

> ผู้นำกลยุทธ์ต้องมีความละเอียดในการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analysis) ให้เห็นในรายละเอียดของส่วนย่อย และสามารถนำผลการวิเคราะห์แต่ละส่วนนั้นมาสังเคราะห์ (Synthesis) หรือประกอบกลับไปใหม่ให้เกิดแนวทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้


ถึงตรงนี้บางท่านอาจจะเริ่มรู้สึกว่า ผู้นำกลยุทธ์ช่างเหมือน Superman หรือ ผู้วิเศษเสียจัง จะมีคนแบบนี้ในโลกหรือ ซึ่งผมก็ยอมรับว่าคงหาได้ยากที่จะหาคนคนเดียวที่จะมีครบทุกคุณสมบัติเหล่านั้น จึงเป็นเหตุให้ผมได้เสนอไว้ในตอนต้นว่า กลยุทธ์ที่ดีควรมาจากการสร้างสรรค์ร่วมกันของกลุ่มผู้นำกลยุทธ์ แทนที่จะเป็นแค่ผู้นำสูงสุดขององค์กรเท่านั้นไงครับ แต่ที่สำคัญเราควรจะต้องรู้ว่าคุณสมบัติผู้นำกลยุทธ์ใด มีในพนักงานผู้ใดและเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากพนักงานผู้นั้นได้อย่างไร โดยในบทความนี้จะได้พูดถึงการค้นพบและพัฒนาคุณสมบัติผู้นำกลยุทธ์โดยใช้กระบวนการโค้ชพรสวรรค์หรือจุดแข็ง(Strength Based Coaching) กันครับ


บ. Gallup Inc. บ.ด้านที่ปรึกษาชั้นนำของ USA ได้คิดค้นกระบวนการโค้ชพรสวรรค์หรือจุดแข็ง โดยได้ทำการวิจัยกลุ่มผู้ถูกสำรวจกว่าหนึ่งหมื่นรายในระยะเวลาสำรวจกว่า 30ปี และสรุปว่า ทุกคนที่เกิดมาล้วนมีพรสวรรค์ติดตัวมาแต่เกิดแต่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยเราสามารถแบ่งพรสวรรค์ออกตามคุณลักษณะได้ทั้งหมด 34 กลุ่ม และยังพบว่า ผู้ที่หมั่นฝึกฝนใช้พรสวรรค์อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะประสบความสำเร็จมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้หรือใช้อย่างไม่ถูกวิธี ซึ่งน่าแปลกที่หลายคนยังไม่ทราบถึงพรสวรรค์ที่ตนเองมีและวิธีในการใช้พรสวรรค์นั้นอย่างถูกต้อง จนเกิดบทบาทของผู้ที่จะมาช่วย หรือที่เราเรียกกันว่า “โค้ช” นั่นเอง นอกจากการโค้ชพรสวรรค์จะช่วยให้แต่ละคนรู้จักพรสวรรค์ของตนเอง (Name it) และเรียนรู้การนำมาใช้ (Claim it) เพื่อให้เกิดผลสำเร็จแล้ว (Aim it) การโค้ชยังช่วยให้บุคคลพัฒนาทักษะในการเป็นผู้นำกลยุทธ์ได้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนในด้านกลยุทธ์คนที่มีพรสวรรค์ด้านกลยุทธ์โดยตรงอาจได้เปรียบเพราะสามารถทำได้โดยธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามโดยหลักการเพื่อมุ่งหวังผลใดถึงแม้เราจะไม่มีพรสวรรค์นั้นๆ โดยตรง เราก็สามารถนำพรสวรรค์อื่น หรือการผสมผสานพรสวรรค์อื่นๆ ที่เรามีอยู่เพื่อให้เกิดผลสำเร็จได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นหากเราสามารถใช้กระบวนการโค้ชมาพัฒนาพรสวรรค์ของพนักงาน เพื่อให้เขาใช้มันอย่างถูกต้อง หรือนำเอาพรสวรรค์ที่มีอยู่ออกมาใช้โดยเฉพาะในด้านความสามารถในเชิงกลยุทธ์ หรือสร้างพวกเขาให้เป็นผู้นำกลยุทธ์ได้ ก็ย่อมสามารถทำได้และเกิดผลประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างแน่นอน


โลกของการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน ทรัพยากรบุคคลนับเป็นจุดแข็งทางธุรกิจที่สำคัญ การพัฒนาบุคลากรในด้านความคิดความสามารถเชิงกลยุทธ์มีส่วนสำคัญในการสร้างกลยุทธ์ที่เป็นเอกลักษณ์และมีประสิทธิภาพ ความคิดความสามารถเชิงกลยุทธ์ได้แฝงอยู่ในพรสวรรค์ของทุกคนอยู่แล้ว การดึงพรสวรรค์ของทุกคนออกมาเพื่อสร้างให้เกิดเป็นจุดแข็งเชิงกลยุทธ์สามารถทำได้หากได้มีการนำกระบวนการโค้ชมาช่วยในการให้แต่ละคนรู้จัก ใช้ประโยชน์ และมุ่งเป้าความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ร่วมกัน หากบทความนี้เป็นที่สนใจและเป็นประโยชน์ ในบทความต่อไปผมจะได้แสดงถึงกระบวนการในการสร้างคุณสมบัติผู้นำกลยุทธ์ด้วยกระบวนการโค้ชกันดูครับ หากท่านใดมีข้อเสนอสามารถติดต่อผมได้ตามรายละเอียดช่องทางการติดต่อที่ให้ไว้นะครับ

ดู 51 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page