top of page

เชิงอรรถความคิดเห็นเกี่ยวกับการบรรยายของ Peter M. Senge.....จากมุมมองของศิษย์ผู้ติดตาม

รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี | People Magazine Vol.2.2559

ผมเขียนบทความชิ้นสั้น ๆ นี้ ในฐานะของ “ผู้ติดตาม” Dr. Peter M. Senge ใน 2 ความหมาย

นัยยะแรกคือติดตามผลงานของท่าน Senge มาโดยตลอดตั้งแต่เมื่อ หนังสือ The Fifth Discipline ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1990


นัยยะที่สอง คือได้ติดตามดูแลท่าน Senge อย่างใกล้ชิดตลอด นับตั้งแต่ที่ท่านย่างก้าวลงเหยียบผืนแผ่นดินไทย และได้มีโอกาสติดตามตลอดที่ท่านอยู่ในเมืองไทย 4 วัน 3 คืน จนกระทั่งไปส่งท่านให้ไปปฏิบัติงานต่อที่ประเทศจีนถึงสนามบินสุวรรณภูมิ


ปาฐกถาของท่าน Senge ในงานสัมมนาครบรอบ 20 ปีของ PMAT อาจสร้างความงุนงงให้แก่บางท่าน (ท่านสามารถอ่านรายละเอียดของปาฐกถาได้จากบทความของลูกศิษย์ของผม คุณกุลธิดา มงคลสิริเกียรติ ที่ถอดความปาฐกถาออกมาได้อย่างดีเยี่ยม และผมได้นำมาตีพิมพ์ลงในวารสารฉบับนี้ด้วย) ผมขออธิบายฐานทางความคิดของท่าน ดังนี้


ต้องเข้าใจก่อนว่า Peter Senge เป็นนักคิดที่มีมุมมองทั้งในด้าน “กระด้าง” (Hard) และในด้าน “ละมุน” (Soft)


ในด้าน Hard เป็นผลมาจากพื้นฐานที่ท่านเป็นนักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และ ได้รับอิทธิพลจากอาจารย์ที่ชื่อ Jay Forrester ผู้สร้างทฤษฎี Systems Dynamic ทำให้ท่าน Senge เมื่อมองอะไร คิดอะไร ก็จะมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งระบบใหญ่และระบบย่อย ทุกสิ่งอย่างล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ Inter-relate และ Inter-connect ถึงกันหมด ตรงนี้เรียกว่า การคิดที่เห็นเชื่อมโยงระบบ (Systems Thinking)


ดังนั้น ในการนำเสนอครั้งนี้ของท่าน จึงเป็นการพยายามชี้ชวนให้ผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานด้าน HR ได้มี Systems thinking คือคิด เห็นว่า HR เป็นระบบย่อย (Sub-system) หนึ่งที่สำคัญอยู่ในระบบใหญ่ การทำงานของคน HR ในระบบ HR ก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่หนุนเนื่องระบบใหญ่


คำถามคือ แล้วระบบใหญ่คืออะไร?


คำตอบคือ ระบบทางสังคมของมนุษย์ ที่เดิมเป็นระบบการใช้ชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ (Living systems) แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม นับจากทศวรรษที่ 1910 ทำให้ระบบสังคมของมนุษย์เปลี่ยนจาก “ระบบชีวิตตามธรรมชาติ” (Natural system) ไปสู่ “ระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรม” (Industrial age system)


ในด้านหนึ่ง “ระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรม” ช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในเชิงวัตถุ แต่ก็กลายเป็นระบบชีวิตที่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และ ข่องว่างทางสังคมมากขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่อง และถ้าปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ต่อไป มันก็จะถึงจุด “หายนะ” ของมนุษยชาติและโลกใบนี้


การที่ระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ก็เพราะมีระบบย่อย ๆ เช่น ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ฯลฯ ที่หนุนเนื่องเชื่อมโยงจนสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรม


ดังนั้น ข้อเสนอของท่าน Senge (ในมุมมองของผมและเป็นความเห็นของผมด้วย) จึงต้องการให้พวกเราพยายาม “เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเท่าทัน” กับระบบต่าง ๆ ที่หนุนเนื่องเชื่อมโยงกัน เราจะมองข้ามระบบใดระบบหนึ่งแยกออกจากกันไม่ได้โดยเด็ดขาด


คนทำงาน HR คือระบบย่อยที่สำคัญระบบหนึ่งที่ ถ้าไม่ตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนเช่นนี้ ก็จะกลายเป็นกลุ่มคนที่ช่วยส่งเสริมเสริมแรงให้กับ ระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรม ดังนั้น คน HR ต้อง “เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเท่าทัน” กับระบบความคิดแบบอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือต้องช่วยกัน พัฒนา “นวัตกรรมใหม่” เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมและระบบคิดใหม่


ถึงตรงนี้ มาถึงจุดที่เป็นด้าน “ละมุน” (Soft) ของท่าน Senge เผยตัวออกมา โดยท่าน Senge มองว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็คือต้องพัฒนา “วัฒนธรรม” (Culture) ใหม่ และ วัฒนธรรมใหม่จะเกิดขึ้นได้ ก็คือต้องปรับเปลี่ยน กระบวนทัศน์ วิธีคิด จิตใจของผู้คน ซึ่งตรงนี้ท่าน Senge เรียกว่า “ตัวแบบของความคิดจิตใจ” (Mental Model)


ขณะเดียวกัน ตลอด 4 วัน 3 คืน ที่ผมได้คลุกคลีใกล้ชิดกับท่าน ทำให้ผมตระหนักว่าท่าน Senge เป็นนักคิดที่เอาจริงเอาจังกับการ “ทำสมาธิ” (Meditation) ตามแนวทางแบบพุทธนิกายเซน ท่านบอกให้ผมทราบว่า โดยปกติดท่านจะทำสมาธิวันละ 2 ชั่วโมง ในวันที่ทาง PMAT จัดงานเลี้ยงต้อนรับท่านที่ธนาคารชาติ ขณะที่คนอื่นๆกำลังวิ่งหนีเพื่อหลบฝน เพราะเมฆทะมึนดำก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามา ท่าน Senge กลับแวะนั่งทำสมาธิบนหินก้อนโตใต้ต้นไม้ใหญ่หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ของธนาคารชาติ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ท้องฟ้าที่มืดคลึ้ม ลมแรง แต่ท่าน Senge กลับนั่งหลับตาพริ้ม กับคนที่อยู่ใกล้ชิดท่านแค่ 2 คน โดยปราศจากเม็ดฝนลงมาอย่างไม่น่าเชื่อ การทำสมาธิอย่างเอาจริงเอาจังทำให้ท่านเป็นคนที่มีความลึกทางความคิด มีพลังจิตที่ละเอียด


เมื่อคิดถึงการเปลี่ยนแปลง ท่าน Senge จึงให้ความสำคัญกับ “การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง” (Profound change) มากกว่าการเปลี่ยนแปลงแค่ระดับผิวเผิน


> “การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง” (Profound change) จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้แค่การสร้างระบบ การกำหนดกระบวนการ หรือ สั่งการด้วยตัวชี้วัด แต่ความลึกซึ้งจะเกิดขึ้นได้คือต้องปรับเปลี่ยนลึกไปในระดับของความคิดจิตใจ หรือการเจริญสติ ของผู้คน


> ดังนั้น สุดท้ายแล้ว นี่คือพันธกิจใหม่ของคนทำงานทางด้าน HR ที่จะต้อง “ตื่นเรียนรู้ รู้คิด เท่าทัน และพัฒนา” นวัตกรรมใหม่ๆที่จะสร้างเสริมวัฒนธรรมและกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งที่จะทำให้มนุษย์ องค์กรและสังคมสามารถอยู่ร่วมกับระบบธรรมชาติได้อย่างสันติสุข


ผมสังเกตเห็นว่า ท่าน Senge เป็นผู้ที่รักใน “ความเป็นธรรมชาติ” ห้องพักของท่านจะไม่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ ท่านเปิดหน้าต่างตลอดเวลาของการเข้าพัก อีกทั้ง ท่านชอบเดินชมสมนชมต้นไม้ ทุกครั้งที่ท่านพบต้นไม้ ท่านจะหยุดแวะเข้าไปชื่นชม ท่านบอกว่า “เข้าไปรับพลังธรรมชาติ”


ผมขอสรุปส่งท้ายบทเรียนที่ได้รับจากการบรรยายและการเรียนรู้จากการได้คลุกคลีกับท่าน Senge โดยตลอดว่า “HR ยุคใหม่ ต้องคิดใหญ่ ใจกว้าง วางฐานคิด พัฒนาจิตให้ละเอียด ลึกซึ้ง เข้าถึงรู้ทันการเปลี่ยนแปลง และรู้จักที่จะชื่นชมความงามของธรรมชาติ...”


ก่อนจะลาจาก ท่านได้ทิ้งการบ้านให้ผมไว้ทำต่อ ผมมองท่านเดินจากไป พร้อมกับความคิดที่ล่องลอยว่าจะทำอย่างไรต่อดี...

ดู 83 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Talent Trends 2023

Comentarios


bottom of page