ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี | บรรณาธิการวารสารฅน
การมาเยือนของ Peter M. Senge
Knowledge is Power หากความรู้คือพลังสำคัญ ที่เป็นตัวกำหนดทิศทางความเป็นไปและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆอย่างสร้างสรรค์มากมายในโลกใบนี้
คนผู้ทรงด้วยความรู้ก็เช่นกัน ย่อมเป็นผู้ที่มีพลังในการกำหนดทิศทางความเป็นไปและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆอย่างสร้างสรรค์มากมายในโลกใบนี้
ในหลาย ๆ ครั้ง มีประจักษ์พยานมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของผู้ทรงความรู้ทรงภูมิปัญญาจากซีกโลกหนึ่ง ส่งอิทธิพลทางความรู้มาถึงบ้านเราในอีกซีกโลก จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
ข้อความข้างต้นนี้เป็นจริงหรือไม่ อยากให้ลองดูประจักษ์ชิ้นดังต่อไปนี้
เมื่อปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลไทยขณะนั้นมีแนวนโยบายที่ต้องการปฏิรูประบบราชการ โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และได้มีการตรากฎหมายที่สำคัญฉบับหนึ่งซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการไทย ได้แก่
พระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
พรฎ.ฉบับนี้ มักจะถูกเรียกขานกันในหมู่คนที่คุ้นเคยว่า พรฎ. จีจี (GG) อันเป็นคำย่อมาจากคำเต็มๆที่ว่า Good Governance ทั้งนี้เนื่องมาจากวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายฉบับนี้ ได้รับอิทธิพลทางความคิดที่สำคัญมาจากองค์กรโลกบาลที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อรัฐบาลไทยในขณะนั้น ดังเช่น ธนาคารโลก ที่ต้องการผลักดันหรือกำกับให้รัฐบาลไทยยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตกเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทำการปฏิรูประบบราชการตามแนวคิด Good Governance ซึ่งธนาคารโลกใช้เป็นแนวทางในการปฏิรูประบบราชการในประเทศต่างๆทั่วโลก
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การมีระบบราชการที่ไร้ประสิทธิผล ขาดธรรมาภิบาล ไม่ทันสมัย ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คือปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูประบบราชการขนานใหญ่
ใน พรฎ. GG ฉบับนี้ มีประเด็นและแง่มุมที่น่าสนใจอยู่หลายประการ โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการด้านการบริหารจัดการองค์การ ควรศึกษาให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่สำหรับผมเอง พบว่ามีจุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษประการหนึ่งอยู่ที่ “ความทรงอิทธิพลทางความคิดของแนวคิดทฤษฎีหนึ่ง สามารถเข้ามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบราชการของประเทศหนึ่ง ๆได้”
การที่รัฐบาลประเทศหนึ่งมีการตรากฎหมายเพื่อสนับสนุนแนวคิดทฤษฎีองค์การทฤษฎีหนึ่ง ย่อมมิใช่เรื่องธรรมดา ดังเช่นที่ รัฐบาลไทยขณะนั้นมีการตรากฎหมายที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดทฤษฎีองค์การทฤษฎีหนึ่งที่กำลังเริ่มมีความแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น ทฤษฎีนั้นคือ แนวคิดว่าด้วย “องค์การแห่งการเรียนรู้” (Learning organization)
กล้าพูดได้ว่า ที่ผมกล่าวมานี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกินจริงเลย เนื่องจาก หากท่านผู้อ่านลองหยิบกฎหมายฉบับนี้ (ที่ยังคงบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน) มาเปิดอ่าน แล้วลองพลิกไปดู ที่หมวด 3 ในมาตรา 11 จะพบข้อความ ดังนี้
“หมวด ๓ การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มาตรา ๑๑ ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็น องค์การแห่งการเรียนรู้ อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกานี้”
จะเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ แทบจะบ่งบอกเจตนารมณ์อย่างค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการให้ส่วนราชการไทยมีการพัฒนาองค์กรตนเองให้มีลักษณะเป็น “องค์การแห่งการเรียนรู้” ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดีที่ต้องการให้หน่วยราชการไทยทำงานอยู่บนฐานของความรู้มากกว่าความรู้สึก มีการเรียนรู้ที่รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ มีวิสัยทัศน์ ปฏิบัติงานก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ...
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้ ย่อมมีคำถามตามมาว่า “องค์การแห่งการเรียนรู้” คืออะไร? และที่สำคัญคือ “ใคร” คือเจ้าแห่งทฤษฎีและผู้นำทางความคิดว่าด้วย “องค์การแห่งการเรียนรู้” ? เพื่อที่จะได้นำเอาแนวคิดของเขามาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาองค์กรของตนเองให้ “มีลักษณะเป็น องค์การแห่งการเรียนรู้ อย่างสม่ำเสมอ” ตามเจตนารมณ์ของพรฎ. GG
ผมจำได้ว่า ในขณะนั้น ผู้บริหารหน่วยราชการและผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาระบบราชการหลายหน่วยต่างมุ่งเสาะหาแนวคิด ตัวแบบและต้นแบบทางความคิด เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรตนเองให้ “มีลักษณะเป็น องค์การแห่งการเรียนรู้ อย่างสม่ำเสมอ” มีนักคิดนักวิชาการหลายคน ผลงานหลายชิ้นได้ถูกกล่าวถึงกัน แต่สุดท้ายแล้วแทบทุกนิ้วล้วนชี้นิ้วพุ่งไปที่ หนังสือเล่มหนึ่ง ที่ชื่อว่า
The Fifth Discipline: The Art & Practice of The Learning Organization
เขียนโดยบุคคลที่ชื่อว่า ปีเตอร์ เอ็ม เซ็งเก้ (Peter M. Senge)
จะว่าไปแล้ว หากกล่าวกันในแวดวงวิชาการด้านการบริหารจัดการองค์การ โดยเฉพาะนักวิชาการที่มีการติดตามแนวคิดที่ทันสมัยอยู่เสมอนั้น ชื่อของปีเตอร์ เซ็งเก้ และแนวคิดว่าด้วย องค์การแห่งการเรียนรู้ ก็เป็นที่รู้จักกันมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากผลงาน The Fifth Discipline: The Art & Practice of The Learning Organization ได้ถูกตีพิมพ์และนำเสนอต่อบรรณพิภพด้านการบริหารจัดการมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533)
และนับจากนั้น ชื่อของปีเตอร์ เซ็งเก้ ได้กลายเป็นชื่อหนึ่งที่ติดอยู่บนริมฝีปากแทบจะทุกครั้งของผู้ที่กล่าวถึงแนวคิดการบริหารจัดการองค์กรยุคใหม่ รวมถึง แนวคิดของเขาที่ว่าด้วย “วินัย 5 ประการ” และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดว่าด้วย “องค์การแห่งการเรียนรู้”
กล่าวได้ว่า แทบไม่มีหนังสือ ตำรา บทความและข้อเขียนต่างๆที่เขียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์การสมัยใหม่เล่มใด ที่ไม่มีการกล่าวอ้างอิงถึง ชื่อของ ปีเตอร์ เซ็งเก้ หนังสือ The Fifth Discipline… และ แนวคิดว่าด้วย “องค์การแห่งการเรียนรู้” ของเขา
John Micklethwait กับ Adrian Wooldridge นักเขียนและนักคอมเม้นท์ (Commentators) ชื่อดังจากวารสาร The Economist เขียนไว้ในหนังสือของพวกเขา The Witch Doctors: What the Management Gurus Are Saying, Why It Matters and How to Make Sense of It. (1997) เปรียบ ปีเตอร์ เซ็งเก้ ว่าเป็นเสมือน “ศาสดา” (Prophet) ของแนวคิดองค์การแห่งการเรียนรู้ (หน้า 139)
อย่างไรก็ตาม แม้ชื่อของ ปีเตอร์ เซ็งเก้ จะโด่งดังเป็นพลุแตกมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1990 (พ.ศ. 2533) และแม้ประเทศไทยเราจะเป็นประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของการเชื้อเชิญนักคิดนักเขียนชื่อดังระดับชั้นนำของโลกมากล่าวปาฐกถาในงานสำคัญๆต่างๆ แต่ไม่น่าเชื่อว่า ผมยังไม่เคยได้ข่าวว่ามีหน่วยงานใดของไทยที่เชิญ ปีเตอร์ เซ็งเก้ มาเป็นองค์ปาฐกเลย!!! (หรือถ้าผมพลาดข่าวไป ก็ต้องขออภัยหรือช่วงแจ้งให้ผมทราบด้วยครับ)
และแล้ว เป็นที่น่ายินดีว่า ในปีนี้ พ.ศ. 2559 ทางสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ได้มีการประชุมหารือกันเพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองการครบรอบ50 ปีของการก่อตั้งสมาคมทางวิชาชีพแห่งนี้ อีกทั้งเพื่อการเผยแพร่ให้ความรู้ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าแก่ผู้คนที่เกี่ยวข้องในสังคมไทย รวมถึงผู้คนในภูมิภาคประชาคมอาเซียนด้วย สมาคมฯ PMAT จึงเล็งหาบุคคลที่ควรค่าแก่การเชื้อเชิญมาเป็นองค์ปาฐกในงานครบรอบ 50 ปีของสมาคมแห่งนี้ ผลปรากฎว่า ฉันทามติของที่ประชุมเคาะไปที่ ชื่อของ “ปีเตอร์ เอ็ม เซ็งเก้” (Peter M. Senge) ให้เป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การทาบทามเชื้อเชิญให้มาเป็นองค์ปาฐกสำหรับงานการสัมมนาประจำปี พ.ศ. 2559 และถือเป็นงานเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) พร้อมกันไปด้วย โดยได้มีการกำหนดวันจัดงานประชุมสัมมนาประจำปีของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 27 และ 28 มิถุนายน ศกนี้ ท่านปีเตอร์ เซ็งเก้ ได้ตอบรับการมาเป็นองค์ปาฐกในวันที่ 27 มิ.ย. และ จะเป็นวิทยากรนำการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเช้าวันที่ 28 มิ.ย. ด้วย
“ปีเตอร์ เอ็ม เซ็งเก้” (Peter M. Senge) คือใคร? มีความสำคัญอย่างไร? สำหรับบรรดาคอนักอ่านนักฟัง ประเภท “แฟนพันธุ์แท้” ที่ชอบติดตามอ่านผลงานของนักคิดนักเขียนระดับกูรูชั้นนำของโลกด้านการบริหารจัดการ ผมเชื่อว่าแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ “ปีเตอร์ เอ็ม เซ็งเก้” (Peter M. Senge) (แต่อ่านหรือฟังแนวคิดของเขาแล้วจะ “เซ็งหรือจะสนุก” นั่นก็อีกเรื่องหนึ่งนะครับ)
สำหรับผมเองในฐานะนักวิชาการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์การ ที่สนใจติดตามผลงานของ Senge นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ที่หนังสือเรื่อง The Fifth Discipline ได้รับการตีพิมพ์ออกมานำเสนอปรากฎต่อสายตาของโลกนักอ่าน จนขึ้นหิ้งเป็นหนังสือประเภท Bestseller ระดับตำนานคลาสสิกด้านการบริหารจัดการ
ผมได้ติดตามอ่านและศึกษาแนวความคิดของเขา มานับตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 จวนจนถึงปัจจุบัน รู้สึกตื่นเต้นระคนกับยินดีที่ทราบว่าท่านเซ็งเก้จะมาเยือนเมืองไทย ดังนั้นจึงขออาสาที่จะเข้ามาทำหน้าที่ “แนะนำ” ผลงานและแนวความคิดของท่านเซ็งเก้ ให้ท่านผู้อ่านชาวไทยได้รู้จักกับกูรูด้านการบริหารจัดการท่านนี้
ในเบื้องต้นนี้ ผมพบว่าแนวคิดของท่าน ปีเตอร์ เซ็งเก้ มีทั้ง “ความเป็นระบบ” แบบวิศวกร แต่ก็อุดมไปด้วย “ความละเมียดละไม” แบบนักปรัชญา มีทั้ง “ความเป็นศาสตร์” แบบนักวิชาการ แต่ก็แทรกซึมไปด้วย “ความเป็นศิลป์” แบบนักปฏิบัติผู้มีสุนทรียะ มีทั้ง องค์ความรู้ “ด้านการบริหารจัดการ” แต่ก็ผนวกกับแนวคิด “วิทยาศาสตร์ใหม่” (New Science) มีทั้ง “ความเป็นตะวันตก” แบบนักวิชาการฝรั่ง แต่ก็ยังผสานเข้ากับ “ความเป็นตะวันออก” แบบศาสนิกชนชาวเอเชีย ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ผมเชื่อได้ว่า ผู้อ่านจะต้องประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งกับแนวคิดเชิงพุทธแบบ “เซน” ของเซ็งเก้ ในบทต่อ ๆไป ผมจะพยายามถอดรหัสและนำเสนอแนวความคิดของกูรูท่านนี้ให้ผู้อ่านได้ซึมซับรับรู้เท่าที่ขีดความสามารถอันจำกัดของผมจะทำได้
องค์การแห่งการเรียนรู้ในโลกของวิชาการ
เมื่อปี ค.ศ. 1996 นักวิชาการ 2 คนคือ ครอสแซนกับกูแอ๊ตโต้ (Crossan and Guatto) ทำการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจปรากฏการณ์และพัฒนาการของแนวคิด “องค์การแห่งการเรียนรู้” (Learning organization) และ “การเรียนรู้ขององค์การ” (Organizational Learning) นักวิชาการทั้ง 2 ท่านนี้ สำรวจพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า มีจำนวนการตีพิมพ์บทความที่มุ่งอุทิศให้กับเรื่องที่เกี่ยวกับ “องค์การแห่งการเรียนรู้” (Learning organization) และ “การเรียนรู้ขององค์การ” (Organizational Learning) ในวารสารทางวิชาการชั้นนำ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
จากเดิมที่มีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1960 เพียง 3 ชิ้นเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1990 มีบทความที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำทางวิชาการถึง 184 ฉบับ
นั่นสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของแนวความคิดเรื่อง “องค์การแห่งการเรียนรู้” และ “การเรียนรู้ขององค์การ” ที่มีความก้าวหน้าเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในโลกของนักวิชาการแล้ว จำนวนบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำด้านการบริหารจัดการองค์การ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ “การยอมรับ” จากผู้คนในแวดวงทางวิชาการ เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบสำคัญของการเกิด “การยอมรับ” ในทางวิชาการ น่าจะประกอบไปด้วย “ตัวละคร” ที่สำคัญๆ เช่น
>> ตัว “ผู้เขียนบทความ” (Authors) ซึ่งต้องทำการศึกษาวิจัยจนได้ “ข้อมูล/สารสนเทศ” “สารัตถะ” และ “องค์ความรู้” เพียงพอต่อการนำมาเขียนเป็นบทความทางวิชาการได้ในแต่ละชิ้นแต่ละฉบับ ในการเขียนบทความแต่ละชิ้นแต่ละฉบับ นอกจากจะสะท้อนความสนใจของตัวผู้เขียนเองแล้ว ผู้เขียนจำนวนไม่น้อยก็มักจะต้องดูทิศทางกระแสความนิยมของผู้อ่านว่าต้องการเสพเนื้อหาสาระในประเด็นเรื่องอะไร
>> ตัว “ผู้อ่าน” (Readers) ทั้งนักอ่านประเภทที่เป็นสมาชิกขาประจำและสมาชิกขาจรของวารสารทางวิชาการชั้นนำทั่วโลก พื้นภูมิหลังของผู้อ่านวารสารทางวิชาการด้านการบริหารจัดการชั้นนำ (ซึ่งมักจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางของการสื่อสาร) มีความหลากหลายทั้งที่เป็นนักวิชาการชั้นนำหัวกะทิระดับสูง ระดับกลางและระดับมือใหม่ มีทั้งผู้อ่านที่เป็นนักบริหารในองค์กรชั้นนำระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ รวมไปถึง ผู้อ่านในบรรดานิสิตนักศึกษาที่ต้องศึกษาเล่าเรียน และที่ต้องทำการศึกษาวิจัยวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี โท เอก ทั่วโลก กระแส “ความนิยม” (Popularity) ของผู้อ่านที่มีต่อประเด็นหัวข้อเรื่องหนึ่งๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวโน้มการเขียนของผู้เขียน และการยอมรับที่จะให้ได้รับการตีพิมพ์ของบรรณาธิการ
>> “บรรณาธิการ” (Editors) ของวารสารทางวิชาการชั้นนำด้านการบริหารจัดการ นับตั้งแต่หัวหน้ากองบรรณาธิการของวารสารทางวิชาการชั้นนำ มักจะเป็นนักวิชาการชั้นแนวหน้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ ไปจนถึงสมาชิกของคณะกองบรรณาธิการของวารสารทางวิชาการชั้นนำ ก็ย่อมต้องการให้มีชื่อของนักวิชาการชั้นนำที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการของสาขาวิชานั้นๆ มีชื่อพิมพ์ประดับอยู่ในหน้าที่นำเสนอรายชื่อของกองบรรณาธิการ อย่างน้อยก็เพื่อเสริมบารมีให้กับวารสารทางวิชาการฉบับนั้นๆ หัวหน้าและคณะกองบรรณาธิการของวารสารทางวิชาการชั้นนำ มีอิทธิพลไม่น้อยต่อการกำหนดทิศทางกระแสความนิยมในหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ประเด็นหรือแนวคิดด้านการบริหารจัดการเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะโด่งดังเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ไม่น้อยเลยที่กระแสความนิยมจะขึ้นอยู่กับรสนิยม หรือความสนใจของหัวหน้าและกองบรรณาธิการที่จะมีความโน้มเอียงให้ประเด็นหรือแนวคิดด้านการบริหารจัดการเรื่องใดควรหรือไม่ควรได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการชั้นนำเหล่านั้น
อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้คือ “เครือข่ายชุมชนทางวิชาการ” ที่ทรงพลัง ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนทิศทางความก้าวหน้าในประเด็นหัวข้อความสนใจทางวิชาการ
ด้วยเหตุนี้ การที่มีการตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ “องค์การแห่งการเรียนรู้” และ “การเรียนรู้ขององค์การ” เพียง 3 ชิ้น เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1960 แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1990 มีบทความเกี่ยวที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำทางวิชาการถึง 184 ฉบับ นั้น ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า “ตัวละคร” ของชุมชนทางวิชาการทั้ง 3 ตัว อันได้แก่ ผู้เขียน ผู้อ่าน และกองบรรณาธิการ ได้หันมาสนใจและยอมรับในประเด็นและแนวคิด “องค์การแห่งการเรียนรู้และ “การเรียนรู้ขององค์การ” เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่นั่น ก็ยังเป็นความแพร่หลายที่จำกัดอยู่ในขอบเขตแวดวงของโลกวิชาการ
จนกระทั่ง เมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Fifth Discipline: The Art and Practice of Learning Organization เขียนโดยปีเตอร์ เซ็งเก้ เมื่อปี ค.ศ. 1990 หนังสือเล่มนี้ได้นำพาเอาแนวคิด “องค์การแห่งการเรียนรู้” และ “การเรียนรู้ขององค์การ” กระโดดก้าวข้ามจากโลกของตำราทางวิชาการ มาสู่แวดวงหนังสือด้านการบริหารจัดการที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับบรรดาผู้บริหารและคนทำงานในโลกของการบริหารจัดการภาคปฏิบัติในองค์การ
ที่สำคัญคือ The Fifth Discipline เป็นหนังสือที่แม้จะอ่านยาก แต่ก็กลายเป็น หนังสือที่ขายดี (Best-selling) ระดับตำนานคลาสสิค ที่ยังวางขายอยู่บนชั้นหนังสือในร้านหนังสือชั้นนำจวบจนถึงปัจจุบัน
จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า ปี ค.ศ. 1990 คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการเติบโตและแพร่หลายของแนวคิด “องค์การแห่งการเรียนรู้” และ “การเรียนรู้ขององค์การ” สู่การนำเอาไปปฏิบัติใช้จริงในองค์กรต่างๆทั่วโลก
ทศวรรษของแนวคิดองค์การแห่งการเรียนรู้
ความเฟื่องฟูของแนวคิดองค์การแห่งการเรียนรู้บังเกิดขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1990 ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความฉบับที่แล้วว่าจำนวนการตีพิมพ์บทความที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวารสารชั้นนำทางวิชาการด้านการบริหารจัดการเพิ่มจากเพียง 6 ฉบับไปเป็น 184 ฉบับ
นั่นสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของแนวความคิดเรื่อง “องค์การแห่งการเรียนรู้” และ “การเรียนรู้ขององค์การ” ที่มีความก้าวหน้าเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นช่วงที่แนวคิดที่จัดอยู่ในสายพันธุ์ขององค์การแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นมาหลายแนวคิดหลายคำ
ผู้ที่ควรจะต้องกล่าวถึงเป็นคนแรกๆ คือ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker: 1909-2005) กูรูอันดับหนึ่งตลอดกาลแห่งวิชาการด้านการบริหารจัดการองค์การ ดรัคเกอร์ได้เขียนนำร่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 ในงานเขียนชื่อ Landmarks of Tomorrow ชี้ให้เห็นว่าในยุคศตวรรษที่ 21 โลกจะก้าวสู่สังคมแห่งความรู้ (Shift to knowledge society) และเราจะได้เห็นการทำงานที่ต้องใช้ความรู้แบบเข้มข้น (Knowledge work) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเขียนเมื่อปี ค.ศ. 1993ก่อนที่กูรูท่านนี้จะลาจากโลกนี้ คือ หนังสือ Post-Capitalist Society ดรัคเกอร์ได้ฉายให้เห็นภาพอนาคตทางเศรษฐกิจสังคมแบบใหม่ที่กำลังจะมาถึงสำหรับสหรัฐอเมริกาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประดิษฐ์คำว่า “คนงานความรู้” (Knowledge workers) ขึ้นมา ซึ่งต่างไปจากคำว่า “ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน” ที่คาร์ล มาร์กซ์ เคยพยากรณ์ไว้
ในฟากฝั่งประเทศอังกฤษ ภายหลังปีเตอร์ เซ็งเก้ ตีพิมพ์หนังสือ The Fifth Discipline แค่ปีเดียว ก็มีงานเขียนชิ้นสำคัญเกี่ยวกับองค์การแห่งการเรียนรู้ออกมา นั่นคือผลงานของ Mike Pedler, John Burgoyne และ Tom Boydell แห่งมหาวิทยาลัย Lancaster นำเอาผลที่พวกเขาได้ทำการศึกษาวิจัยแล้วเขียนเป็นหนังสือชื่อดังในฟากฝั่งสหราชอาณาจักร หนังสือชื่อ The Learning Company (ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1991) เป็นงานเขียนชิ้นหนึ่งที่ใครก็ตามที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์การจะต้องอ้างอิงถึงหนังสือเล่มนี้
ในสหรัฐอเมริกาช่วงระยะเวลาเดียวกัน งานเขียนของ Jean Lave และ Etienne Wenger เรื่อง Situated Learning: Legitimate Peripheral Participation (1991) ทำให้แนวคิดเรื่อง “ชุมชนนักปฏิบัติ” (Communities of Practice: COPs) เริ่มเป็นที่รู้จัก และโด่งดังมากขึ้นจากบทความ “Organizational Learning and Communities of Practice” เขียนโดย John Seely Brown และ Paul Duguid เมื่อปี ค.ศ. 1993 และแนวคิดการเรียนรู้ขององค์กรเช่นนี้ถูกเขียนเป็นเล่มหนังสือชื่อ Communities of Practices โดยนักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการเรียนรู้ที่ Palo Alto นาม Etienne Wenger เมื่อปี ค.ศ.1998
ทางฝั่งประเทศญี่ปุ่น มีนักคิดนักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุเบื้องหลังแห่งความสำเร็จของบริษัทญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1991 นักวิชาการชาวญี่ปุ่นชื่อ Ikujiro Nonaka แห่งมหาวิทยาลัย Hitotsubashi สร้างความฮือฮาด้วยการตีพิมพ์บทความชื่อ The Knowledge-Creating Company ในวารสารการบริหารจัดการชั้นนำของโลก Harvard Business Review และต่อมาเขาได้ร่วมกับ Hirotaka Takeuchi เขียนหนังสือชื่อดังก้องโลกเล่มหนึ่งคือ The Knowledge-Creating Company: How Japanese Companies Create the Dynamics of Innovation. ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อปี ค.ศ. 1995
ในปี ค.ศ.1995 ทางฝั่งประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เมื่อวารสารฟอร์จูน (Fortune) ตีพิมพ์ฉบับที่จั่วหัวว่าด้วย “ทุนทางปัญญา: สินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าสูงสุดของบริษัท” (Intellectual Capital: Your Company’s most valuable asset) โดยยกเอากรณีของบริษัทประกันสัญชาติสวีเดนคือ Skandia AFS มาเป็นตัวอย่างขององค์กรยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จด้วยการบริหารจัดการทุนทางปัญญาขององค์กร ที่สำคัญคือบริษัทแห่งนี้เคลมว่าพวกเขาคือบริษัทแห่งแรกของโลกที่ได้มี “ฝ่ายทุนทางปัญญา” และมีการแต่งตั้งให้ Leif Edvinsson เป็นผู้จัดการทุนทางปัญญา (Corporate director of intellectual capital) ขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก และ Edvinsson ก็เคลมว่าเขาคือคนแรกที่ขับเคลื่อนให้มีการจัดทำรายงานทุนทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของรายงานประจำปี (Annual report) ของบริษัท Skandia เมื่อปี ค.ศ. 1995 อีกทั้งยังได้พัฒนาแล็ปทางปัญญา (Intellectual Laboratory) ขึ้นมา เรียกว่า “ศูนย์อนาคตสแกนเดีย” (Skandia Future Centre)
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1997 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า “ทุนทางปัญญา” (Intellectual Capital: Realizing Your Company's True Value by Finding Its Hidden Brainpower) จนสร้างชื่อเสียงโด่งดัง
สวีเดน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น มีนักคิดนักเขียนที่เอาจริงเอาจังกับแนวคิดเรื่อง “ทุนทางปัญญา” และ “ทุนความรู้” (Knowledge capital) มาอย่างต่อเนื่อง นามว่า Karl-Erik Sveiby เขาได้เขียนหนังสือเรื่อง “การจัดการความรู้” (Knowledge Management) เป็นภาษาสวีดิชมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1990 และมีงานเขียนชื่อดังเป็นภาษาอังกฤษคือ The New Organizational Wealth: Managing and Measuring Knowledge-Based Assets ในปี ค.ศ.1997
หลังจากนั้น มีงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ องค์การแห่งการเรียนรู้ ทุนทางปัญญา การจัดการความรู้ ฯลฯ ตามมาอีกมากมายหลายเล่ม ดังเช่น งานเขียนเรื่อง Intellectual Capital: The New Wealth of Organizations (1997) และ Wealth of Knowledge: Intellectual Capital and the Twenty-first Century Organization (2001) ของ Thomas Stewart อดีตกองบรรณาธิการวารสาร Fortune และ Harvard Business Review หนังสือเรื่อง Building The Learning Organization (1996) เขียนโดย Michael J. Marquardt ศาสตราจารย์แห่ง George Washington University เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ คือปรากฎการณ์ความเคลื่อนไหวที่สำคัญทั้งทางวิชาการและทางด้านการบริหารจัดการในองค์การ ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าล้วนเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 หรือก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษ 20 และก่อนจะก้าวเข้าสู่โลกยุคสหศวรรษใหม่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมกล้ากล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ทั้งหมดนี้ - ในระดับใดระดับหนึ่ง - ล้วนได้รับอิทธิพลและอ้างอิงถึงงานเขียนชิ้นสำคัญที่ชื่อ The Fifth Discipline ของ กูรูนักคิดนักเขียนนามว่า “ปีเตอร์ เซ็งเก้”
เปิดตัว Peter M. Senge
หลังจากอารัมภบทกันมาพอสมควรในบทก่อนๆ ที่ผมพยายามปูพื้นให้เห็นภูมิหลังของแนวคิดองค์การแห่งการเรียนรู้และที่ไปที่มาของกูรูปีเตอร์ เซ็งเก้ สมควรแก่กาละและเทศะที่ผมจะกล่าวปิดบทความด้วยการแนะนำตัวตนและผลงานของปีเตอร์ เซ็งเก้ เป็นการส่งท้าย
ชื่อสกุลเต็มๆของเขาคือ ปีเตอร์ ไมเคิล เซ็งเก้ (Peter Michael Senge) ถือกำเนิดที่ สแตนฟอร์ด (Stanford) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) เมื่อปี ค.ศ.1947 (พ.ศ. 2490) ดังนั้น หากนับถึงปัจจุบัน กูรูท่านนี้สิริอายุ 69 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมอากาศยาน (Aerospace engineering) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) น่าสนใจว่า ในขณะที่เขากำลังศึกษาด้านวิศวกรรมอากาศยานที่สแตนฟอร์ดนั้น เขาก็เริ่มสนใจและศึกษาทางด้านปรัชญา (Philosophy) ไปด้วย
น่าสนใจว่าในขณะที่เขากำลังศึกษา “ศาสตร์กระด้าง” (Hard science) อย่างวิศวกรรมศาสตร์ ในอีกด้านเขากลับใส่ใจกับ “ด้านละมุน” (Soft side) ผมเองเชื่อว่าการที่เซ็งเก้หันมาสนใจศึกษาด้านปรัชญา ทำให้แนวคิดของเขามีความละมุนละไม และส่งผลในเวลาต่อมากับชีวิตของเขาที่หันมาสนใจพุทธศาสนา และอุทิศตนอย่างมากกับหลักปรัชญาพุทธ นิกายเซน
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่สแตนฟอร์ด เขาเปลี่ยนความสนใจมาทางด้านสังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาด้านแนวคิดทฤษฎีสังคมองค์การและพฤติกรรมองค์การ เขาเข้าศึกษาต่อทางด้านการสร้างตัวแบบระบบทางสังคม (Social systems modeling) จนจบการศึกษาได้รับปริญญาโททางด้านนี้จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแม๊สซาชูเส็ต (Massachusetts Institute of Technology) หรือที่เรียกกันในชื่อสั้นๆว่า MIT เมื่อปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515)
ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผู้อ่านพึงระลึกไว้ นั่นคือที่ MIT ในช่วงระหว่างนั้น มีนักคิดคนสำคัญของโลกท่านหนึ่ง ประจำอยู่ที่ MIT และผมมั่นใจว่าแนวคิดของนักคิดท่านนี้น่าจะมีอิทธิพลทางความคิดต่อปีเตอร์ เซ็งเก้เป็น อย่างมาก นั่นก็คือนักคิดที่มีนามว่า เจย์ ฟอร์เร๊สเตอร์ (Jay Forrester) ศาสตราจารย์ฟอร์เร๊สเตอร์เป็นผู้วางรากฐานแนวความคิดเรื่อง “พลวัตของระบบ” (Systems dynamic)
ฐานทางความคิดของแนวคิด “พลวัตของระบบ” เชื่อว่าโลกนี้มีปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่อย่างสลับซับซ้อน ปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแล้วแต่ไม่ใช่การอุบัติขึ้นอย่างบังเอิญ ไม่มีเหตุไม่มีผล แต่สิ่งต่างๆเหล่านั้นที่บังเกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็น “ผลพวง” ที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน โดยพื้นฐานทางความคิดแบบวิศวกรรมศาสตร์ทางด้านคอมพิวเตอร์ เจย์ ฟอร์เร๊สเตอร์ พยายามใช้วิธีคิดนี้ศึกษาทำความเข้าใจเบื้องหลังที่ทำให้ทำไมบางบรรษัทจึงประสบความสำเร็จและทำไมบางบรรษัทถึงประสบกับความล้มเหลว เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ฟอร์เร๊สเตอร์ได้มีโอกาสทำการศึกษาวิจัยกับทีมผู้บริหารของบริษัท General Electric (GE) เพื่อวิเคราะห์ความผันผวนในการจ้างงานบุคลากรของ GE ที่มักจะเกิดขึ้นในทุกวงรอบ 3 ปี เดิม GE มักจะใช้แนวคิดเรื่องวงจรทางธุรกิจ (Business cycle) ซึ่งมักจะใช้ปัจจัย “พลังของการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกองค์กร” (External forces) ในการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ความผันผวนทางธุรกิจ แต่การศึกษาวิจัยของฟอร์เร๊สเตอร์ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ปัจจัยภายนอกเท่านั้น แต่องค์กรจำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกิดจาก “โครงสร้างภายใน” (Internal structure) มาประกอบการวิเคราะห์เชื่อมโยงจนเห็นแบบแผนของพลวัตการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและสร้าง “ตัวแบบจำลอง” (Simulations) เพื่อพยากรณ์รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญของแนวคิดเรื่อง “พลวัตของระบบ” (System dynamics) ซึ่งต่อมาฟอร์เร๊สเตอร์ได้ขยายแนวคิดและแนวทางการศึกษา “พลวัตของระบบ” ออกไปสู่การวิเคราะห์ “พลวัตของอุตสาหกรรม” (Industrial dynamics) “พลวัตของเมือง” (Urban dynamics) “พลวัตของสังคม” (Social dynamics) และที่น่าจะสร้างชื่อเสียงสูงสุดให้กับเขาก็คือ การได้ทำงานกับกลุ่มที่ชื่อว่า Club of Rome ในช่วงทศวรรษ 1970 นำไปสู่การนำเสนอแนวคิด “พลวัตของโลก” (World dynamics) ชี้ให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกและพิษภัยของการสร้างความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีขีดจำกัด นำมาสู่แนวคิดพื้นฐานสำคัญของความจำเป็นที่โลกใบนี้จะต้องคำนึงถึง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable development)
ที่ผมกล่าวถึงแนวคิดเรื่อง “พลวัตของระบบ” (Systems dynamic) ของศาสตราจารย์เจย์ ฟอร์เร๊สเตอร์ แห่ง MIT ก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลทางความคิดของเขาที่ย่อมมีต่อสำนักตักศิลา MIT และผมเชื่อว่าย่อมมีอิทธิพลทางความคิดต่อนักศึกษาปริญญาโทที่ชื่อ “ปีเตอร์ เซ็งเก้” ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโททางด้านการสร้างตัวแบบระบบทางสังคม (Social systems modeling) ที่ MIT ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970
และจะไม่แปลกใจเลย หากเราจะพบร่องรอยอิทธิพลทางความคิดเรื่อง“พลวัตของระบบ” (Systems dynamic) ผนึกอยู่ในแนวคิดที่สำคัญเรื่อง“การคิดเข้าใจเชื่อมโยงระบบ” (Systems Thinking) ของท่าน“ปีเตอร์ เซ็งเก้”
และจะยิ่งไม่แปลกใจเลย หากเราเข้าใจวิธีคิดเรื่องนี้ของเซ็งเก้ แล้วจะพบว่าในที่สุด ทำไม ปีเตอร์ เซ็งเก้ จึง เขียนหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ “Necessary Revolution: : How Individuals and Organizations Are Working Together to Create a Sustainable World” (ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2008) เพื่อป่าวประกาศแนวคิดเรื่องการปฏิวัติกระบวนทัศน์การพัฒนาองค์การ เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืน
หากเราเข้าใจพื้นภูมิหลังทางความคิดเช่นนี้... "เราจะไม่แปลกใจเลย"
Comments