ดิลก ถือกล้า | วารสารการบริหารฅน 2/2561
ช่วงที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วม Forum Unleash ที่กรุงลอนดอน เมื่อ ช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ หนึ่งในห้องสัมมนาย่อยที่ผู้เขียนเลือกเข้าร่วม เป็นเพราะชื่อก็ว่าได้ “Lead the Liquid Enterprise” หรือ การบริหารองค์กรแบบของเหลว เป็นการมาแบ่งปันจากผู้บริหารของบริษัท Sisco น่าสนใจมาก
อะไรคือองค์กรเเบบของเหลว
เขาเปิดประเด็นได้น่าสนใจมาก เพื่ออธิบายว่า ทำไมจึงเรียกว่าองค์กรแบบของเหลว เขายกการให้นิยามของนักคิดที่ชื่อ Zygmunt Bauman บอกไว้ว่า
“วิถีชีวิตของโลกยุคใหม่ที่เป็นแบบของเหลว คือ ไม่มีความผูกพันที่คงทนถาวร สิ่งที่เราดำเนินไปหรือสร้างขึ้นมาควรผูกไว้แบบหลวมๆ เพื่อให้คลายออกได้ง่าย ได้อย่างรวดเร็ว ได้อย่างไม่ต้องออกแรงมากเกินไป เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เพราะสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นของเหลว แล้วมันจะเกิดอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า –แปลโดยผู้เขียนบทความนี้”
“In a liquid modern life there are no permanent bonds, and any that we take up for a time must be tied loosely so that they can be untied again, as quickly and as effortlessly as possible, when circumstances change - as they surely will in our liquid modern society, over and over again”
องค์กรแบบดั้งเดิม vs องค์กรแบบของเหลว
เขาเปรียบเทียบให้เห็นว่า มีความต่างขององค์กรแบบดั้งเดิมกับองค์กรแบบของเหลวในสามด้านหลักๆ คือ
> ด้านกรอบความคิด
องค์กรแบบเดิม จะเป็นกรอบความคิดเกี่ยวกับการวางแผนงาน
องค์กรแบบของเหลว จะเป็นกรอบความคิดเกี่ยวกับการสะสมความรู้ การปรับใช้ความรู้ และ
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร
> ด้านการให้น้ำหนักความสำคัญ
องค์กรแบบเดิม จะให้นำหนักความสำคัญที่ประสิทธิผล
องค์กรแบบของเหลว จะให้นำหนักความสำคัญที่ความสามารถในการปรับตัว การปรับเปลี่ยน
ได้รวดเร็ว ในการตอบสนอง การส่งมอบสินค้าหรือบริการต่อลูกค้า
> ด้านการสะท้อนออกมาเป็นแนวทางการทำงาน
องค์กรแบบเดิม จะเน้นที่ตัวบุคคล
องค์กรแบบของเหลว จะเน้นที่ทีม
ทั้งนี้องค์กรแบบของเหลวจะเปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะจากองค์กรแบบเดิมๆในด้านต่างๆคือ
- จากองค์กรที่นิ่งๆไม่ค่อยขยับปรับตัว ไปเป็นองค์กรที่มีการเคลื่อนไหวปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
- จากองค์กรที่เน้นลำดับชั้นการบังคับบัญชา ไปเป็นองค์กรแบบเครือข่าย
- จากองค์กรที่เน้นความสำคัญของบุคคล ไปเป็นองค์กรที่มองทีมเป็นตัวตั้ง
- จากองค์กรที่เน้นเรื่องเส้นทางอาชีพ ไปเป็นองค์กรที่เน้นเรื่องการสร้างศักยภาพให้เกิดขึ้น แก่คนในองค์กรเพื่อสร้างโอกาสในการได้รับการจ้างงานให้กับแต่ละคน
- จากองค์กรที่มองเรื่องระดับงานเป็นลำดับชั้น ไปเป็นการมองที่การไหลเวียนของงานที่ต่อ เนื่องกันไปทั่วทั้งองค์กร
และแน่นอนว่า เมื่อองค์กรกลายเป็นองค์กรแบบของเหลว เรื่องการบริหารกำลังคนก็จะกลายเป็นของเหลวตามไปด้วย เพราะกำลังคนก็จะมีการไหลเวียนเข้าและออกจากองค์กรอย่างรวดเร็วเหมือนของงเหลวที่ไหลไปไหนต่อไหนได้ง่าย เขาบอกว่า การบริหารกำลังคนแบบของเหลวจะต้องคิดหา การทำงานรูปแบบใหม่ การวางโครงสร้างกำลังคนกำลังแรงงานใหม่ การกำหนดวิธีการให้รางวัลและจูงใจในรูปแบบใหม่ๆ
เรียนรู้จาก Sisco : รูปแบบการบริหารคนในองค์กรแบบของเหลว
เขาได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า การบริหารคนใน องค์กรแบบของเหลวจะต้องเข้าใจก่อนว่า ในการทำงานจริงนั้น ต้องดูว่า จะทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จได้อย่างไร และอยู่ที่ตรงส่วนไหนขององค์กร อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไปตอนต้นว่า องค์กรแบบของเหลวเขาจะให้น้ำหนักกับการใช้ความรู้เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในองค์กร เน้นการที่แต่ละคนต้องสร้างประโยชน์ต่อทีมซึ่งไม่ได้หมายถึงทีมใดเพียงทีมเดียว ดังนั้น การวางรูปแบบการทำงานเขาจะเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เรียกว่า เป็น Talent Matrix ดังภาพประกอบ หมายเลข 1 เป็นการวางรูปแบบไว้ว่า คนๆหนึ่งจะสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรกับทีมไหน จากนั้น การเก็บข้อมูล เก็บผลสำเร็จของพนักงานเพื่อทำเป็นโปรไฟล์
และโดยที่การเก็บข้อมูลจะล้อไปตามการที่คนๆ หนึ่งได้ไปสนับสนุนโครงการ ไปแบ่งเป็นประสบการณ์ กับทีมใดบ้าง สิ่งที่จะออกมาในโปรไฟล์ ก็จะเป็นในรูปแบบที่จะไปเกี่ยวโยงข้ามไปข้ามมาแล้วแต่ว่าคนๆ นั้นจะถูกมอบหมายให้ไปช่วยในโครงการ หรืองานอะไรบ้าง ดังภาพประกอบหมายเลข 2 และภาพประกอบหมายเลข 3
ดังนั้น จะเห็นว่า จากตัวอย่างของภาพประกอบหมายเลข 3 สิ่งที่เรามองเห็นก็คือ ภาพรวมทั้งองค์กรที่สะท้อนทั้งการเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ที่ของตัวบุคคลที่เป็นจุดๆ สีแต่ละสีที่เห็นจะแทนแต่ละทีมที่มีในองค์กร ส่วนที่เป็นเป็นเส้นๆโยงใยถึงกันจะแทนกิจกรรมที่มีการทำข้ามกันไปข้ามกันมา
แต่ที่ผู้เขียนทึ่งกว่านั้นก็คือ ในตอนท้ายเขาได้ฉายวีดีโอสาธิตให้เห็นว่า การเข้าไปดูข้อมูลพนักงานหรือทีมงานรวมทั้งผลสำเร็จทำอย่างไรได้บ้าง สิ่งที่เขาสาธิตให้ดูคือ เขาสามารถเข้าไปดูจากเครื่องคอมพิวเตอร์เหมือนการไปดูข้อมูลทั่วไป หรือ เขาสามารถใช้วิธีอื่นคือ การสวมแว่น VR (Virtual Reality) คือแว่นตาแบบที่เราใช้เวลาเล่นเกม แล้วเข้าไปใช้มือกดปุ่มที่เป็นภาพเสมือนจริง (Virtual) เพื่อเข้าไป “หยิบ” ดูข้อมูลต่างๆ ได้ ใช่ครับ ผมใช้คำว่า “หยิบ” เพราะคนที่ใส่แว่นตา VR เข้าไปหยิบแฟ้มที่เป็น Virtual มาอ่านได้จริงๆ ถ้าคิดภาพไม่ออก ผู้เขียนขอให้จินตนาการเวลาเราดูหนังอย่าง Mission Impossible หรือ แบบ Matrix คล้ายๆ อย่างนั้น
ผู้เขียนรับชมการบรรยายนี้ด้วยความทึ่ง และได้แต่ตอกย้ำกับตัวเองว่า “เทคโนโลยีติจิตอล กำลังไล่ล่าเรา รวมทั้งไล่ล่างานบริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างรวดเร็วแบบที่เราคาดไม่ถึง”
Comments