top of page

สัมโมทนียกถา: “คุณค่าของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่อสังคม”

แสดงธรรมคถาโดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทยได้รับเกียรติจาก สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัล Human Resource Excellence Award: ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์ ประจำปี 2560 ซึ่งรางวัลนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ได้ทูลเกล้าถวายรางวัลด้านผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในการพัฒนา แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) พร้อมกันในงานนี้ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้แสดงธรรมคถาเกี่ยวกับคุณค่าของการพัฒนาคน ทางทีมงานวารสารฯ จึงได้เก็บเกี่ยวเรื่องราวดังกล่าวมาฝากไว้ให้เป็นคติธรรมเตือนตนและคน HR ให้รู้จักคุณค่าของการพัฒนาคนต่อสังคมในปัจจุบัน


หากพึงระลึกถึง “พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รัก พระองค์นั้นทรงวางรากฐานแห่งการเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ล้ำค่า” ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นคนไทยคนหนึ่ง และในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพลเมืองของโลกคนหนึ่ง ฉะนั้นเราควรมองย้อนกลับมาอย่างไรในสิ่งที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้ ซึ่งในรัชสมัยที่พระองค์แรกเสวยราชย์ ก็จะเห็นว่าบ้านเมืองนั้นอยู่ในช่วงรอยต่อ เต็มไปด้วยปัญหา ถูกท้าทายจากการเมืองทั้งฝั่งคอมมิวนิสต์ และฝั่งเสรีประชาธิปไตย ขณะเดียวกันการเมืองภายในเองก็เป็นมะเร็งร้ายที่กำลังกัดกินสังคมไทยอย่างหนักหนาสาหัสที่สุด ท่ามกลางความแหลมคมทางการเมือง ความแหลมคมความมมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เราพยายามสถาปณาให้เกิดขึ้น และท่ามกลางปัญหาความยากจนข้นแค้น ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทย พระองค์ทรงนำรัฐนาวาที่ชื่อไทย หรือประเทศไทยผ่านมาเป็นปึกแผ่นได้อย่างไร เป็นคำถามที่น่าสนใจ ชี้ชวนให้น่าศึกษาวิจัย ซึ่งงานวิจัยนั้นจะทำให้เราได้อะไรมากกว่าการยกย่องพระองค์ท่านแต่เพียงผิวเผิน


เหตุผลแห่งความสำเร็จประการหนึ่งด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่องค์การสหประชาชาติเลือกทูลเกล้าถวายรางวัลแด่พระองค์ก็คือว่า “การที่พระองค์ใช้เวลาตลอดพระชนมชีพ อุทิศตนรับใช้ประเทศชาติบ้านเมืองของพระองค์” พูดเป็นภาษชาวบ้านก็คือ “การรับใช้เพื่อนมนุษย์”.... ตรงนี้แหละที่ทำให้คนธรรมดาๆ พัฒนาขึ้นมากลายเป็น “ทรัพยากรมนุษย์ที่ล้ำค่า”


“มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ยังไม่ครบ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “วิชชาจะระณะสัมปันโน โสเสฐโฐ เทวามนุสเส แปลว่า ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี เป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และเทวดา” หมายความว่า เมื่อแรกที่เราเกิดมานั้น เรามีต้นทุนที่เท่ากันคือ “ทุนชีวิต” และด้วยทุนชีวิตเพียงเท่านี้...เรายังไม่ประเสริฐมากนัก เราจะประเสริฐ เราจะกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ล้ำค่าได้นั้นเกิดต่อเมื่อมีเหตุปัจจัย 2 ประการ

1. วิชชา ซึ่งก็หมายถึงปัญญานั่นเอง ปัญญาที่รู้โลก รู้ธรรม..... รู้โลกอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะถ้ารู้โลกอย่างเดียว เก่งทำมาหากิน แต่พอไม่รู้ธรรมก็กลายเป็นเก่งแต่ฉ่อฉนอีก เพราะฉะนั้นต้อง รู้โลกและรู้ธรรม จึงถือว่าเป็นปัญญา


2. จะระณะ ก็หมายถึงคุณงามความดี ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเท่านั้น จุดสูงสุดของคุณงามความดี ก็คือคุณงามความดีที่ลอยพ้นเรื่องตัวเองขึ้นไป ซึ่งหมายความว่า “คุณงามความดีที่ไม่เกี่ยวกับตัวเรา ของเรา คุณงามความดีที่ลอยพ้นอัตตา คุณงามความดีที่ลอยพ้นเรื่องการกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัวเอง กลายไปเป็นคุณงามความดีที่เบิกบานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์”


ฉะนั้น ปัญญาที่แท้ คือปัญญาที่รู้ทั้งโลก รู้ทั้งธรรมอย่างลึกซึ้ง.... เชี่ยวชาญทางโลก และเข้าใจทางธรรม และมีคุณงามความดีที่ตัวเองสามารถกราบตัวเองได้อย่างสนิทใจ เมื่อมีความรู้และคุณงามความดีแล้ว เอาความรู้และคุณงามความดีนี้มาเป็นฐานมาเป็นทุนในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ ใครก็ตามที่ใช้ทั้งความรู้ ใช้ทั้งคุณงามความดี มาเป็นฐานหรือเป็นทุนในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ “คนนั้นแหละคือทรัพยากรมนุษย์ที่ล้ำค่าของโลกใบนี้” โลกต้องการคนที่มองเลยจากตัวเองออกไป และเบิกบานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ โดยไม่ทวงถามถึงผลตอบแทน ซึ่งเราต้องช่วยกันสร้างสรรค์พัฒนา “คน” ในยุคสมัยของเรา และในยุคหลังจากพวกเราให้เป็นคนที่มีจิตใจโน้มน้อมไปในทางเบิกบานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ให้ได้


โลกไม่ได้ขาดคนเก่ง ประเทศไทยก็เช่นกัน ทุกวงการเต็มไปด้วยคนเก่ง แต่ปัจจุบันเราต้องการ คนที่เก่ง คือ “คนที่มีวิชชา” และคนที่ดี คือ “คนที่มีจะระณะ” “เก่งดี” คือดัชนีชี้วัดความเป็นทุนมนุษย์ชั้นยอดในทัศนะของพระพุทธศาสนา สมกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “วิชชาจะระณะสัมปันโน โสเสฐโฐ เทวามนุสเส.....ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี” นับว่าเป็นผู้ที่เป็นยอดคนในหมู่มนุษย์และเทวดา


ทุนมนุษย์ที่มีต้นทุนทางปัญญา และมีต้นทุนทางคุณธรรม เมื่อความรู้มาบรรจบกับความดี เมื่อปัญญามาบรรจบกับคุณธรรม เราจะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ล้ำค่า ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกต้องและดีงาม เหนืออื่นใดคือการกลายเป็นคนเก่ง คนดี ที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองและต่อโลกใบนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างทุกวันนี้ เราต้องการคนที่เก่งด้วย ไม่เห็นแก่ตัวด้วย เราได้พบคนเก่งที่เห็นแก่ตัวมาแล้วมากมาย และตลอดประวัติศาสตร์ยาวนานได้บ่งบอกว่า คนประเภทนั้นไม่สามารถนำพาประเทศชาติให้พ้นวิกฤตได้ หากเราปรารถนาจะนำพาประเทศชาติบ้านเมืองเราให้พ้นวิกฤต ก็ช่วยกันสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นทุนมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่กับความดี และมีภาวะผู้นำ


ความรู้คู่กับความดีเป็นคุณสมบัติส่วนตัว แต่มีภาวะผู้นำ หมายถึงมีจิตสำนึกสาธารณะ พร้อมที่จะนำความรู้คู่ความดีออกมาแบกรับปัญหาของสังคมดังหนึ่งเป็นปัญหาของตนเอง ถ้าได้ 3 คุณสมบัตินี้คือทั้งเก่ง ดี มีภาวะผู้นำ เมื่อนั้นสังคมไทยจึงจะเป็นสังคมที่มีความหวัง และไม่ใช่แค่สังคมไทยเท่านั้น อาจจะเป็นความหวังสำหรับโลกใบนี้ด้วย


ขอฝากธรรมคถานี้ให้กับทุกท่านทุกคนให้ช่วยกันนำไปไตร่ตรองพินิจพิจารณา แล้วมองหาว่าเราจะช่วยกันสร้างสรรค์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคสมัยของเราให้ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่พึงประสงค์ได้อย่างไร

ดู 60 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Kommentare


bottom of page