top of page
  • รูปภาพนักเขียนKHON

สูงวัย...แต่ยังไหวอยู่

ดร.พรรัตน์ แสดงหาญ | People Magazine 2/2556


มุมมองต่อการทำงานของผู้สูงอายุในยุค Aging Society

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกันในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป แต่หากประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป ประเทศนั้นจะขึ้นชื่อว่าเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged Society) (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2553)


สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้คาดประมาณตัวเลขประชากร ของประเทศไทย รอบกลางปี 2556 ว่ามีประชากรทั้งหมด 64,623,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 9,517,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.73 นั่นหมายความว่าปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว ในการนี้ ยังได้มีการคาดหมายต่อไปอีกว่าจากอายุ 60 ปี เพศชายจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีก 19.9 ปี ในขณะที่เพศหญิงจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีก 23.1 ปี ผลก็คือประเทศไทยจะก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้

ที่มา:  ข้อมูลจากสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ สังเคราะห์ภาพโดยผู้เขียน
ภาพที่ 1 ปิระมิดประชากรของประเทศไทย

หากดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากจากภาพที่ 1 ที่แสดงถึงปิระมิดประชากรที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างจากรูปสามเหลี่ยมในปี 2503 ซึ่งมีประชากรในวัยเด็กและวัยทำงานจำนวนมาก มีผู้สูงอายุไม่มากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปลายปิระมิดที่แสดงจำนวนผู้สูงอายุได้ขยายขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัดในทุกๆ 20 ปี และภาพสุดท้ายคือปิระมิดประชากรในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่าช่วงนั้นประเทศเราคงเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีนั้น ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 68 ตอนที่ 24 วันที่ 11 เมษายน 2494) และพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ได้กำหนดให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเกษียณเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งองค์การหลายแห่งก็ใช้หลักเกณฑ์นี้ ในขณะที่ภาคเอกชนหลายแห่งกำหนดอายุที่มีผลให้สิ้นสุดสัญญาการจ้างงานที่อายุ 55 ปี ดังนั้น หากจะมองกันง่ายๆ การเป็นผู้สูงอายุจึงเป็นเสมือนการเข้าสู่ช่วงแห่งการยุติการทำงาน เป็นช่วงวัยที่ควรพักผ่อน อยู่บ้าน ปลูกต้นไม้ เลี้ยงหลานหรือเข้าวัดปฏิบัติธรรม ตามแต่จะมองกันไป


แต่ถ้าจะมองกันอย่างลึกซึ้งถึงอายุกับประสิทธิภาพการทำงานแล้ว วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ (2555) มีมุมมองที่น่าสนใจว่าคนทำงานสูงอายุจะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่เสื่อมถอยลง แต่ความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจนั้นโดยส่วนใหญ่จะมั่นคงขึ้น และยังมีประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นด้วย ในเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน พบว่าคนงานสูงอายุจะลาออกจากงานน้อยกว่า อุทิศตนเองให้งานมากกว่า สร้างงานที่มีคุณค่าได้มากกว่า และหยุดงานน้อยกว่า และยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าคนสูงอายุจะทำงานมีประสิทธิภาพน้อยกว่าคนหนุ่มสาว ส่วนใหญ่พบว่าปัญหาการทำงานไม่มีประสิทธิภาพมักจะเกิดจากการรู้สึกว่าตนทำงานที่ไม่มีคุณค่า การขัดแย้งกับหัวหน้างาน งานที่มีความเครียดสูง และขาดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ


ดังนั้น เมื่อสำรวจถึงการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย ในปี 2554 จึงพบว่า จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 8.32 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงาน 3.24 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.6 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด โดยที่ผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบประมาณร้อยละ 90 มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ยังทำงานในระบบ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2555) สำหรับเหตุผลที่ผู้สูงอายุยังคงทำงาน ก็เนื่องจากต้องการหารายได้เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว รองลงมาคือ ตนเองยังมีสุขภาพแข็งแรง และยังมีแรงทำงานอยู่ และเหตุผลอื่นๆ เช่น ต้องส่งลูกเรียน เป็นอาชีพที่มีอยู่เดิมไม่มีคนดูแลแทน และมีหนี้สิน ตามลำดับ (กุศล สุนทรธาดา, 2553)


เมื่อพิจารณาแหล่งรายได้หลักของในดำรงชีพผู้สูงอายุลำดับแรกคือมาจากบุตรเลี้ยงดู รองลงมาคือการทำงาน เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2550 กับปี 2554 แม้ว่าแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุจะมาจากการเลี้ยงดูจากบุตร แต่พบข้อมูลว่าลดลงจากร้อยละ 52.3ในปี 2550 เหลือเพียงร้อยละ 40.1.ในปี 2554 ซึ่งได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบันว่าจะมีผู้สูงอายุกี่คนที่โชคดี มีลูกมีหลานเลี้ยงดูในยามแก่เฒ่า ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมตัวเลขที่แสดงแหล่งรายได้หลักที่เกิดมาจากน้ำพักน้ำแรงด้วยการทำงานของผู้สูงอายุ จึงเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 28.9ในปี 2554 มาเป็นร้อยละ 35.1 ในปี 2554


จากการวิจัย เรื่องการสร้างโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ ซึ่งได้ประมาณการความต้องการแรงงานผู้สูงอายุในภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการขายส่ง ขายปลีก การซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ และ ภาคโรงแรมและภัตตาคารในอนาคต (พ.ศ.2553 ถึง พ.ศ. 2562) พบว่า ความต้องการจ้างแรงงานผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยความต้องการจ้างแรงงานผู้สูงอายุดังกล่าวนั้น มากกว่าร้อยละ 60 เป็นแรงงานในกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 60 ถึง 64 ปี เมื่อพิจารณาแยกตามสาขาการผลิตที่สำคัญ พบว่าภาคการขายส่ง ขายปลีก การซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ มีความต้องการจ้างแรงงานผู้สูงอายุที่มากที่สุด รองลงมาคือภาคการผลิต และภาคโรงแรมและภัตตาคาร (นงนุช สุนทรชวกานต์ และ สายพิณ ชินตระกูลชัย, 2552)

ดังนั้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงอาจไม่ใช่การยุติการทำงาน หากแต่เป็นโอกาสในการที่จะพัฒนาหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเพื่อเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาประเทศตามแนวทางในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่ได้ระบุถึงการพัฒนาผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม มีคุณภาพ มีคุณค่าสามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป็นพลังในการพัฒนาสังคม ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ส่งเสริมการสร้างรายได้และการมีงานทำในผู้สูงอายุ โดยกำหนดลักษณะประเภทงานและอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม ควบคู่กับการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะทั้งด้านวิชาการและการใช้สื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อการประกอบอาชีพและการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง


ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีศักยภาพ มีความรู้และประสบการณ์สูง สามารถมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ในระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศแล้ว ผู้สูงอายุที่จะทวีจำนวนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ อาจกลายเป็นปัญหาระยะยาวในการพัฒนาประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวทำให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานลดลง แต่ความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต การขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาสำคัญ ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศต่างๆ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างเสรี การแข่งขันเพื่อแย่งชิงแรงงานจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานคุณภาพ นอกจากนี้ ภาครัฐและครัวเรือนจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ส่งผลต่อภาระงบประมาณของภาครัฐ และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในการดูแลสุขภาพอนามัย และการจัดสวัสดิการทางสังคมสูงขึ้น (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2554)


นอกจากนี้ หากประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว จะส่งผลให้ให้คนวัยแรงงานมีภาระที่ต้องเกื้อหนุนดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มีการคาดหมายว่าจากปี พ.ศ.2553 มีสัดส่วนประชากรแรงงานโดยเฉลี่ย 6 คน ต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน หรือ 6:1 สัดส่วนนี้จะลดลงเหลือแค่เพียง 2:1 ในปี พ.ศ.2573 (สถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, 2553) ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจแนวทางหนึ่งในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต


การเป็นสังคมผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวชาว HR เลย คงยังไม่สายเกินไปที่จะหันมามองผู้สูงอายุในอีกมุมมองหนึ่ง ด้วยสมมุติฐานว่าแม้สูงวัย แต่ยังทำงานไหวอยู่ เราจะมีรูปแบบและวิธีอย่างไรที่เหมาะสมสำหรับคนกลุ่มนี้ ขอฝากชาว HR ด้วยค่ะ

ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page