บทสัมภาษณ์ คุณกิติ มาดิลกโกวิท | วารสารการบริหารฅน 1/2559
คน “SCG”
เรื่องคนเป็นเรื่องของความยั่งยืนนี่คือหลักในด้านการบริหารคนของ SCG เพราะความยั่งยืนเป็นหนึ่งใน 4 Core Value ที่ประกอบด้วย ตั้งมั่นในความเป็นธรรม, มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ, เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งสี่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันมาร้อยกว่าปี โดยเฉพาะการเชื่อมั่นในคุณค่าของคนทำให้ต้องมีการดูแลพัฒนาคน เรื่องนี้จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ SCG อยู่มาได้อย่างยาวนานและยั่งยืน
100 ปีที่แล้วตอนที่ตั้งโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรก คือที่บางซื่อ ตอนนั้นในเมืองไทยไม่มีเทคโนโลยีของการผลิตซีเมนต์ จุดเริ่มต้นจากการซื้อเครื่องจักรมาจากประเทศเดนมาร์ค และเพื่อการบริหารงานจำเป็นต้องมีการพัฒนาคนให้มีความรู้ ความสามารถในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิต กระบวนการทำงานที่ต้องทำงานเป็นแบบอุตสาหกรรม ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 รถไฟเพื่อการขนส่งเพิ่งสร้างเสร็จ อุตสาหกรรมในประเทศก็แทบไม่มี ส่วนมากจะเป็น Trading หรือ Bank
พนักงานทั้งหมดทั้งในและนอกประเทศไทย ประมาณ 53,000 คน หลักๆ คือประเทศไทย 36,000 คน ต่างประเทศอีก 16,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียน อินโดนีเซีย 7,000 เวียดนาม 6,800 ฟิลิปปินส์ 1,000 เขมรประมาณ 500 คน คนไทยถือหุ้นใหญ่ที่สุด
การก่อตั้งโรงปูนซีเมนต์ ต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน และก็ตามมาด้วยระบบการจัดการในอุตสาหกรรม ผู้บริหารของ SCG ในช่วง 60 ปีแรกจึงเป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นชาวเดนมาร์ค และช่วง 40 ปีหลังก็เปลี่ยนมาเป็นคนไทย ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหนก็ตาม ความรู้ที่เป็นเฉพาะด้านซีเมนต์ ก็ยังไม่มีการเรียนการสอนโดยตรงจากสถาบันการศึกษา นี่คือจุดเริ่มต้นของ “การพัฒนาคน” ว่าทำไมเป็นหัวใจและเป็นรากฐานสำคัญของ SCG จนถึงทุกวันนี้
Core value กับวัฒนธรรมองค์กร
กว่าร้อยปี ทุกคนที่มาเป็นพนักงานของ SCG ตั้งแต่ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างาน หัวหน้าแผนก จนถึงระดับปฏิบัติการ มีการยึดถือปฏิบัติตาม 4 Core Value แบบรุ่นสู่รุ่น เป็นตัวยึดเหนี่ยวให้ทุกคนที่เข้ามาทำงานต้อง Practice ตาม Core Value ส่วนเรื่องการจัดการความรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ คู่มือและความรู้ต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการจัดการและถ่ายทอด สิ่งที่สำคัญของการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น คือ 1. Role Model การทำเป็นแบบอย่างที่ดี 2. มี section ถ่ายทอดการทำงาน ซึ่งมองว่าเป็นกระบวนการที่ตรงกับแนวคิดเรื่องพัฒนาคนรุ่นใหม่แบบ 70-20-10 ลงมือปฏิบัติ 70 การเรียนรู้จากคนอื่น 20 และอีก 10 คือการเรียนรู้ในห้องเรียน
Core Value เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและสร้างวัฒนธรรม
องค์กรให้เกิดขึ้น ทุกคนที่เข้ามาถ้าปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมได้ หรือทำงานเข้ากับวัฒนธรรมได้ ก็จะประสบผลสำเร็จ มีความเจริญเติบโต แต่ถ้าคนไหนที่เข้ามาแล้วมีความรู้สึกว่าการทำงานหนักไม่ใช่ วัฒนธรรมแบบนี้ไม่ใช่ก็ต้องลาออกไป หากถามว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ปฏิบัติการมายาวนานนี้สามารถปรับได้หรือไม่ ก็ตอบเลยว่าปรับได้ ซึ่งทางผู้บริหารก็พยายามปรับวัฒนธรรมองค์กรบางเรื่องแต่ก็ยังคงไว้ซึ่ง 4 Core Value ที่ยังไงต้องอยู่
10 กว่าปีที่แล้วเคยทบทวนว่า 4 ค่านิยมหลักนี้ยังใช้ได้อยู่หรือไม่นั้น สุดท้ายเสียงเอกฉันท์ว่า 4 ข้อนี้ยังทันสมัย สิ่งที่ภูมิใจคือ “ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์” เริ่มตั้งแต่ผู้ก่อสร้างบริษัท คือรัชกาลที่ 6 ที่เป็นผู้นำคนแรกที่ทำให้เห็นวิสัยทัศน์ว่า การพัฒนาประเทศที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “Infrastructure” สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ถนน สะพาน ถ้าไปนำเข้าปูนเข้ามาจากต่างประเทศจะเสียค่าขนส่งสูงมาก เพราะปูนเป็นสินค้าหนัก พระองค์จึงทรงก่อตั้งโรงปูนขึ้นมา จากนั้นจึงมีสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาทำให้ Infrastructure พร้อมถ้าเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนรอบๆ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและวิสัยทัศน์ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่เห็นเรื่องการพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อประทศ
ตลอด 2-3 ปีมานี้ได้ตกผลึกบทเรียนต่างๆ เกี่ยวกับเรื่อง Future Leader ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ก็พบว่ามี 3 สิ่งที่ถูกเรียกว่า Leadership Profile ของ SCG หรือ EIE ที่เป็นระบบพัฒนาคนของ SCG ซึ่งทำมา 2-3 ปี ประกอบด้วย
1. Engagement Stakeholder คือต้องสามารถเชื่อมความสัมพันธ์คนที่อยู่รอบข้างให้ได้ เริ่มจาก Engage “ลูกน้อง” ให้มีความผูกพัน รักองค์กร รับรู้ข่าวสาร ร่วมหัวจมท้าย มีส่วนร่วมกับงาน มีความสุขกับการทำงาน ต้อง Engage “ลูกค้า” “Supplier” และ “คนที่เกี่ยวข้อง” รวมถึงทำอย่างไรให้ชุมชนรัก SCG
2. Imagination ต้องสามารถจินตนาการว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จินตนาการไม่ใช่เพ้อฝัน ต้องมีข้อมูลเพราะการจินตนาการภาพในอนาคตจะช่วยให้มีแผนงาน มีแนวคิดที่จะช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า
3. Excellent คือผู้นำที่สามารถ Engage คนได้ หรือมีจินตนาการที่ดี หากแต่ไม่ลงมือทำให้เห็นภาพ ก็ไม่สามารถจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำที่ดีได้
หลักคิดและวิธีการส่งเสริม Innovation
หลักของ Innovation ต้องมาจากทุกคนในองค์กร ต้องมีความเข้าใจว่า Innovation สำคัญอย่างไร ทำให้องค์กรไปข้างหน้าอย่างไร ทุกคนต้องเห็นภาพเดียวกัน จากนั้นทุกคนต้องทำในบทบาทของตัวเอง พนักงานคนอื่นๆ ที่รับเข้ามา จะทำอย่างไรให้มี Mindset ร่วมกัน ต้องสร้างบรรยากาศเพื่อให้เห็น Innovative Workplace ปรับเปลี่ยน HR System สำคัญที่สุดคือ Core Value กับการเปิดใจกว้าง รับฟัง รับเรื่องใหม่ๆ หากเรายึดติดกับรูปแบบเก่าก็จะไม่สนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมองค์กรให้เกิดขึ้นได้ HR ต้องปรับ Mindset อย่าเป็นผู้คุมกฎ เปลี่ยนบทบาทไปในลักษณะเข้าไปช่วยสนับสนุน ต้องเป็น Partnership หมายถึงการเข้าไปถือหุ้นส่วนทางธุรกิจ เข้าไปลงทุนทางความคิด และลงมือปฏิบัติ แบบนี้คือการลงทุนของ HR ในการเป็น Partnership เรื่องคนไม่มีสูตรสำเร็จ แต่จะประสบความสำเร็จต้องสร้างการยอมรับจากคนในองค์กรให้ได้ความร่วมมือในองค์กร ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ใช่ระบบที่โปรโมทอัศวินม้าขาว แต่ต้องทำงานเป็นทีมช่วยกันคิด เพราะการคิดคนเดียวทำคนเดียวจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จสำเร็จ ถ้าคิดด้วยกันก็สามารถ Create Innovative Product Service ได้ คือการรวมความคิดที่ต่างกันให้เป็นแบบเดียวกัน ซึ่งสินค้านวัตกรรมหลายอย่างเกิดจากคิดผสมผสาน นี่คือรากฐานที่ทำให้เกิดการผลักดันสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กร โดยธรรมชาติหากต่างคนต่างอยู่ในงานของตัวเอง ก็จะสูญเสียโอกาสในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยอาศัยหลักการ 3 ข้อ คือ Synergy การทำงานให้เป็นเนื้อเดียวกัน, Corporation การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน, Execution การลงมือปฏิบัติ ซึ่งหลายๆ ครั้งในการประชุมมักเกิดความคิดดีๆ มากมาย แต่ไร้ซึ่งคนปฏิบัติ
SCG โชคดีที่เป็นองค์กรเชิงปฏิบัติ ไม่มีนักทฤษฎีมากนัก บริษัทไม่ได้ต้องการนักวิชาการมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ต้องการนักปฏิบัติ ซึ่งกระบวนการในการทำ 3 ข้อดังที่กล่าวมานี้ ใช้ที่ปรึกษาจากข้างนอกเข้ามาช่วยปรับพื้นฐาน จากนั้นก็ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง โดยแบ่งเป็นภาคกิจกรรมเพื่อนำไปปฏิบัติ ทุกเดือนจะแบ่งพนักงานออกเป็นกลุ่ม และสร้างกิจกรรมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างความร่วมมือและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และภาคที่สองเป็นกระบวนการในการประเมินผลงานด้วย และมีการโหวตให้รางวัลทางด้าน SCE ดีเด่นทั้งประเภทบุคคล ประเภททีม
Comentários