top of page
รูปภาพนักเขียนDr. Nutavoot Pongsiri

สงครามเทคโนโลยี และการล่าอาณานิคมยุคใหม่ (Tech War and Neo - Colonialism)

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | nutavoot@gmail.com

ประเด็นร้อนที่ทุกคนให้ความสนใจเพราะส่งผลกระทบไปทั่วโลกในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันไปมาด้วยมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าการตั้งกำแพงภาษีกับจีนนั้นเป็นประเด็นเชิงกลยุทธ์ระยะยาวของสหรัฐ เนื่องจากจีนใช้การบีบบังคับให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศต้องเข้าร่วมทุนกับบริษัทจีน และต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทร่วมทุน เพื่อให้จีนบรรลุยุทธศาสตร์ชาติที่เรียกว่า “Made in China 2025” ซึ่งหลักการสำคัญ คือ รัฐบาลสนับสนุนมาตรการทางภาษีให้เอกชนซื้อเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ทั่วโลก และนำมาพัฒนาต่อยอดก่อนส่งออกไปขายให้ประเทศต่าง ๆ ในราคาที่ถูกกว่า ข้อเท็จจริงที่ประเมินโดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่า การตั้งกำแพงภาษีไม่ได้ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนลดลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2561 สหรัฐขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้น 10.4% และมีแนวโน้มว่าปี 2561 จะเป็นปีที่สหรัฐขาดดุลกับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น หากพัฒนาการยังเป็นเช่นนี้ จึงเป็นไปได้ว่าสหรัฐอาจยังไม่เพิ่มระดับการขึ้นภาษี ในปี 2562 แต่จะหันมากำกับเป็นรายอุตสาหกรรม หรือรายบริษัทแทน ทำให้ผลกระทบต่อสงครามการค้า (Trade War) ต่อเศรษฐกิจโลกในฐานะห่วงโซ่การผลิต (Global Supply Chain) ไม่น่าจะรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ประเด็นด้านสงครามการค้าอาจลดความตึงเครียดลง แต่การกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ของสหรัฐกับประเทศจีนที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อไม่ให้ต้องพึงพาเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก และทำให้ดียิ่งกว่าในราคาที่ถูกกว่า กำลังนำไปสู่สงครามทางเทคโนโลยี หรือ Tech War อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ประเทศจีนเคยเป็นผู้นำในการสร้าง 4 สิ่งสุดยอดเทคโนโลยีในโลกยุคโบราณ คือ เข็มทิศ ดินปืน กระดาษ และการพิมพ์ ก่อนที่จะถดถอยและปิดประตูไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอกอย่างยาวนาน ปัจจุบันจีนได้หวนกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่อีกครั้ง หลายทศวรรษที่ผ่านมา ความสงสัยเกี่ยวกับศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของจีน เป็นสิ่งที่สหรัฐรู้สึกกลัวว่าจะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของตน ได้กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาแล้ว จากการจัดอันดับบริษัทให้บริการอินเตอร์เน็ตของโลกในปี 2561 โดยใช้มูลค่าตามราคาตลาด (Market Capability) เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ มีบริษัทของจีนติดอันดับมากถึง 7 รายจาก 15 อันดับแรก นำโดย Tencent Alibaba และ Baidu ซึ่งสินค้าและบริการของบริษัทเหล่านี้ ล้วนโดดเด่น ทันสมัยและมีความหลากหลาย ทั้งยังมีการพัฒนาเพื่อรองรับเทรนด์ต่าง ๆ ของผู้บริโภคในอนาคตด้วย


การก้าวกระโดดในการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน ส่วนหนึ่งมีแรงผลักดันจากการปลูกฝังแนวคิดการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี (Techno-Nationalism) ซึ่งสะท้อนความเจ็บปวดจากการถูกครอบงำโดยประเทศตะวันตกในสมัยยุคการล่าอาณานิคม (Colonialism) นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวของลัทธิล่าอาณานิคม คือ 3 G “พระเจ้า (God) ทองคำ (Gold) และ ความรุ่งโรจน์ (Glory)” พระเจ้า คือการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปยังดินแดนห่างไกล ทองคำคือ ทรัพยากรและวัตถุดิบรวมทั้งแรงงานที่จะนำกลับมาสร้างความมั่งคั่ง ส่วนความรุ่งโรจน์ คือความภาคภูมิใจของราชวงศ์ในยุโรปที่สามารถขยายดินแดนในโลกใหม่ ความทะเยอทะยานของเหล่าประเทศล่าอาณานิคม ทำให้จีนซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล และจำนวนประชากรมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก ตกเป็นเป้าของการไล่ล่าเพื่อเข้ายึดครอง ตักตวงทรัพยากรและผลประโยชน์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


หลังยุคล่าอาณานิคม เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัล โทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง กลายเป็นระบบนิเวศใหม่ที่เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แรงกระตุ้นในการขยายธุรกิจเพื่อยึดครองตลาดในประเทศต่าง ๆ ไม่ได้อยู่บนความเชื่อ 3G “God, Gold, Glory” อีกต่อไป แต่มาจากแรงจูงใจในการสร้างผลกำไรในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีของตนเอง ควบคู่กับความต้องการผูกขาดความเป็นเจ้าขององค์ความรู้ในเทคโนโลยีนั้น ๆ แรงจูงใจดังกล่าวกำลังนำโลกกลับไปสู่ยุคล่าอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism) ซึ่งคราวนี้อำนาจไม่ได้มาจากนโยบายเรือปืน แต่มาจากการควบคุมการพัฒนาและจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้วเพื่อตักตวงผลกำไรจากประเทศกำลังพัฒนา การล่าอาณานิคมยุคใหม่ (Neo-Colonialism) โดยอาศัยเทคโนโลยี กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเทคโนโลยีนำมาซึ่งความสุขสบายในการใช้ชีวิตของทุกคน


นอกจากการพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูง ข้อมูลที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น Google, Facebook, Amazon ได้ไปจากผู้บริโภค ช่วยให้การกำหนดหรือควบคุมพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรือบริการ ของประชาชนในประเทศที่ใช้เทคโนโลยีของบริษัทดังกล่าวเป็นไปได้ง่ายขึ้น บริษัทเหล่านี้กลายเป็นผู้ผูกขาดรายได้โฆษณาออนไลน์ ข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมากได้สร้างความได้เปรียบให้กับเจ้าของเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจพูดได้ว่าเสมือนหนึ่งทุกวันนี้การปกครองอาณานิคมได้เปลี่ยนจากรัฐชาติ มาเป็นบริษัทขนาดใหญ่แทน เป็นการได้อาณานิคมใหม่โดยมีประชากรจำนวนมากในรัฐอาณานิคมช่วยสร้างรายได้ให้ โดยไม่ต้องใช้กำลังบีบบังคับเช่นในอดีต ประเทศที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของตนเองได้เช่นจีน อาจจะสามารถสลัดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นภายใต้ระบบอาณานิคมยุคใหม่ (Neo-Colonialism) ได้ แต่ก็ต้องแลกด้วยการทำสงครามที่ไม่ต้องใช้กระสุนปืน เป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) กับจักรวรรดิที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีอยู่เดิม คือสหรัฐอเมริกา


ฐานเศรษฐกิจ. “สงครามเทคโนโลยีและการล่าอาณานิคมยุคใหม่ (Trade War and Neo-Colonialism)”, CEO Focus, The Disrupt, หน้า 23, 19 มกราคม 2562

HR Society Magazine. “สงครามเทคโนโลยีและการล่าอนานิคมยุคใหม่ (Tech War and Neo-Colonialism)”. ธรรมนิติ. Vol. 17, No 194, หน้า 14-17, กุมภาพันธ์ 2562

ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page