ดิลก ถือกล้า | People Magazine 2/2559
ผู้เขียนโชคดีที่มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่จัดโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทยหรือ PMAT ในช่วงวันที่ 27-28 มิถุนายน 2559 กับนักคิดชื่อก้องโลก Perter Senge ผู้ที่ชื่อว่าเป็นกูรูด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ และการสร้างผู้นำ ในสองวันดังกล่าว ต้องยอมรับว่า การตามให้ทันอย่างเข้าใจ และเข้าถึงไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยแนวคิด หลักการที่ Perter Senge มานำเสนอนั้น เป็นแนวคิดที่ต้องใช้ความจดจ่อ มีสมาธิ และการเปิดใจกว้างไม่น้อยเลยทีเดียว แต่หากได้ใช้ความใจเย็น ค่อยๆ ย่อยอย่างช้าๆ คิดตามให้เห็นความเชื่อมโยงแล้ว เราจะได้มุมมองที่เป็นองค์รวม เห็นความร้อยเรียง ที่ผู้นำจะใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืนได้ หากจะกล่าวถึงทั้งสองวันเต็ม คงต้องใช้เวลาและใช้พื้นที่ในการเขียนถึงไม่ใช่น้อย ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากเขียนถึงแนวคิดย่อยๆ ที่แฝงในความคิดใหญ่ของ Peter Senge ที่ทำให้ผู้เขียนมองเห็นบางอย่างที่มากกว่าแนวคิดแบบตะวันตก นั่นคือ แนวคิดทางพุทธศาสนา ที่แฝงอยู่ในนั้น โดยแนวคิดของ Senge ที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึงก็คือ กระบวนการแก้ปัญหาที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ และมีความยั่งยืน
มุมมองของ Peter Senge ต่อปัญหาและกระบวนการแก้ปัญหา
แน่นอนว่าเมื่อที่ใดมีปัญหา ก็จะเกิดการแก้ปัญหามาพร้อมกับผลที่จะตามมา Senge ได้พูดถึงปัญหาว่า จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “อาการของปัญหา” หรือ Problem Symptom อาการของปัญหาสำคัญอย่างมากต่อการแก้ปัญหา เพราะมันจะอาจจะเป็นภาพลวงตา เป็นเหมือนฉากหน้าที่จะทำให้ผู้ที่จะเข้ามาแก้ปัญหานั้นรีบด่วนตัดสินว่า เป็นเพราะอย่างนั้น เป็นเพราะอย่างนี้ แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เรียกว่าเป็นการ “แก้ตามอาการ” หรือ Symtomatic Solution คือ เป็นการหาวิธีการที่เร็ว แรง จับต้องได้ทันที ที่จะจัดการกับอาการ แต่อาจจะไม่ได้ขจัดสิ่งที่เป็นสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง
ถามว่า การ “แก้ตามอาการ” นั้น ผลจะเป็นอย่างไร
การแก้ปัญหาแบบแก้ตามอาการ ดูเหมือนจะได้ผลว่า ปัญหาได้ถูกจัดการแก้ไขแล้วในครั้งแรก แต่ส่งที่ Senge ได้ชี้ให้เห็นก็คือ การแก้ปัญหาตามอาการนั้น จะส่งผลข้างเคียงที่เรียกว่า Side effect ตามมาหลายประการ เช่น การต่อต้าน การไม่ยอมรับ การไม่ได้ลงไปถึงรากของปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดแรงผลักที่จะทำให้ต้องกลับไปคิด กลับไปหาทางแก้ปัญหาที่ลงไปถึงการแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหา หรือ ที่เรียกว่า Fundamental Solution สิ่งเราที่ Senge ชวนคิดคือว่า แทนที่เราจะปล่อยให้เกิดการกระโดดเข้าไปแก้ปัญหาตามอาการ ทำไมเรา หรือ ผู้นำทั้งหลายไม่ “ดึงจังหวะ” หรือ Delay การใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบตามอาการ และร่วมกันคิดวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาคืออะไร อะไรเป็นรากเหง้าของปัญหา เพื่อที่จะจัดการได้อย่างถูกจุด และตรงประเด็น Senge ตั้งคำถามเพื่อชวนให้เราคิดเวลาเห็นการแก้ปัญหาแบบ Symtomatic หรือ ตามอาการว่า
“อะไรนะ ที่ทำให้คนเรา มักจะมองข้ามการแก้ปัญหาไปที่รากเหง้าของปัญหา หรือ Fundamental Solution”
“อะไรนะ ที่ผลักดันหรือขับเคลื่อนให้คนเรา ให้นำหนักการแก้ปัญหาไปที่อาการของปัญหา หรือ Symtomatic Solution”
ซึ่งการจะได้คำตอบอย่างนั้นได้ ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้นำจะต้องฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างมีสติ เพื่อให้เกิดการสร้างความรู้สึก
ร่วม หรือ เกิด Engage จากคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ จะเห็นว่า Senge จะให้ความสำคัญมากกับการฟังอย่างมีสติ และเป็นระบบ โดยเขาได้พูดไว้ในความสามารถหลักของผู้นำ หรือ Core Leadership Competency ว่า ผู้นำจะต้องสร้างการสนทนาแบบสองทาง หรือ Reflecting Conversation โดยจะต้องเข้าใจผู้ฟังในวิธีคิดหรือ Metal Model ของเขาว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์แล้วเกิดทางออกที่เห็นพ้องต้องกัน หรือที่เรียกว่า Dialogue
โดย Senge มองว่า หากเราสามารถทำให้กระบวนการแก้ปัญหาอยู่บนฐานของการดึงจังหวะ ตั้งสติ ดึงการมีส่วนร่วมของคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพิจารณาปัญหา เพื่อให้ได้การแก้ปัญหาที่เป็นรากเหง้าหรือ Fundamental Solution แล้ว สิ่งที่ได้ นอกจากวิธีการแก้ปัญหาแล้ว เรายังได้ ทักษะการคิดใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้คนที่เกี่ยวข้องเกิดความผูกพัน และเกิดการร่วมมือกันในวงกว้าง
เมื่อ “พุทธะ” บังเกิด
ในระหว่างที่ผู้เขียนคิดตาม Senge เวลาที่เขาบรรยาย มีความคิดอย่างหนึ่งวาบเข้ามา คือ ความคิดที่ว่า ทำไมสิ่งที่ Senge กำลังบรรยาย กำลังเขียนบนเวทีนั้น เหมือนกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้คือ เรื่องของการมีสติอยู่ ณ ปัจจุบัน และเรื่องของ อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
หากมองว่า การเกิดปัญหาคือ ทุกข์
Senge บอกว่า ให้พยายามค้นหาสิ่งที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาหรือ Fundamental
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเกิดทุกข์แล้ว ให้หาสาเหตุแห่งทุกข์ หรือ สมุทัย
Senge บอกว่า เมื่อเห็นสาเหตุแท้จริงของปัญหาแล้ว ก็ให้แก้ปัญหานั้นอย่างตรงจุดขจัดที่รากเหง้าของปัญหา เป็นการแก้ปัญหาแบบ Fundamental Solution
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเห็นสาเหตุแห่งทุกข์แล้ว ก็เข้าไปทำการดับทุกข์นั้น ที่เรียกว่า สมุทัย
Senge บอกว่า การแก้ปัญหาที่จะยั่งยืนนั้น จะต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งร่วมกัน ดึงคนเกี่ยวข้องมาร่วมกัน
แก้ปัญหา มีการฟังกันและกันอย่างมีสติ เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า หากดับทุกข์ได้แล้ว พึงหล่อเลี้ยงการดับทุกข์นั้นให้เป็นไปอย่างยั่งยืนด้วย “สติ” ด้วยการดำเนิน
ชีวิตตาม “อริยมรรค 8” อันหมายถึง แนวทางประเสริฐในการดำเนินชีวิต คือ
· ความเข้าใจที่ถูกต้อง · ความใฝ่ใจที่ถูกต้อง · การพูดจาที่ถูกต้อง · การกระทำที่ถูกต้อง · การดำรงชีพที่ถูกต้อง · ความพากเพียรที่ถูกต้อง · การระลึกเตือนตนอย่างถูกต้อง · ความตั้งใจมั่นที่ถูกต้อง
ซึ่งเมื่อกล่าวโดยย่นย่อคือ การดำรงตนให้อยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นเอง
บทส่งท้าย น่าแปลกใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนให้ห้องเรียนวันนั้น คือ การที่ได้ “ตื่นรู้” พร้อมกับคำถามที่เกิดกับตัวเองว่า “นี่เรากำลังเข้าห้องเรียนของ Senge หรือเรากำลังอยู่ในวัดป่าสายปฏิบัติกันแน่” หรือนี่จะเป็นเพราะว่า นักคิดคนสำคัญของโลกที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ผ่านไปกี่ร้อยกี่พันปีจะตกผลึกความคิดที่ไปในทิศทางเดียวกัน แม้แต่ละท่าน อาจจะมีคำอธิบายที่แตกต่างกันไปก็ตาม
Comments