top of page
รูปภาพนักเขียนASIA BOOK

มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ ต่อโรคอุบัติใหม่

Asiabooks | ฅนอ่านฅน | KhonatWork

“แล้วเราก็จะผ่านมันไปด้วยกัน” คำ ๆ นี้ให้กำลังใจกัน ในวันที่เรายังไม่รู้หนทางข้างหน้า จะอีกยาวไกลขนาดไหน นับตั้งแต่เรารู้จักเจ้าโรคโควิด 19 เราผ่านอะไรด้วยกันมาเยอะ ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น แข็งแกร่งขึ้น อันนี้น่าจะจริงที่สุด วันนี้ วันที่เราเริ่มมีวัคซีน ทยอยแจกให้กับคนทั่วโลกได้ฉีดกัน แต่ก็อยากให้เชื้อโรคร้ายนี้ เป็นที่จดจำของเรา ไปอีกหลายชั่วอายุคน ว่ามันคือโรคอุบัติใหม่ รู้สึกชอบคำนี้จัง คำศัพท์นี้ ฟังแล้วดูเหมือนว่าไม่มีใครที่จะสามารถเอาชนะหรือหาทางแก้ไขได้ แต่โชคดีอย่างที่ทีมวิจัยทางการแพทย์ ทำงานกันอย่างแข็งขัน เพื่อที่จะค้นให้เจอให้ได้ว่า เจ้าโรคโควิด 19 นี้มีที่มาจากแหล่งใด เพื่อหาทางป้องกัน


ภาพข่าวในอดีต ปรากฎขี้นมา เมื่อครั้งที่คนจีน เริ่มทยอยกันไปที่โรงพยาบาล และต่อคิวกันยาวเหยียด เพื่อขอตรวจหาเชื้อว่าตัวเองเป็นหรือไม่ จริง ๆ พอเหตุการณ์ผ่านมา ทำให้เราเรียนรู้ว่า การไปแออัดกันในโรงพยาบาลช่วงนั้น คือการแพร่เชื้อดี ๆ นี่เอง


ไหนจะภาพข่าวที่ประเทศจีน ที่ในตัวเมืองเริ่มเป็นเมืองร้าง ที่นักศึกษาไทย ไปขนของในร้านค้ามาเพื่อประทังชีวิต แต่พอเดินเข้าไปในร้านก็เหมือนเมืองร้างไปเลย นาทีนั้นถ้าเราเป็นคนไทยในต่างแดน รู้สึกอยากกลับบ้านสุดหัวใจ ยังไงก็อยู่บ้าน กับพ่อแม่เราสบายใจกว่ากันเยอะเลย ยิ่งในสถานการณ์ที่ยังไม่รู้หนทางแก้ ยิ่งเป็นกังวล และต้องการกำลังใจอย่างมาก


หรือแม้แต่กรณีที่เรารับผีน้อยกลับบ้าน แล้วต้องกักตัว แยกออกจากครอบครัว เพื่อให้พ้นระยะการแพร่กระจายโรค ถึงกลับมาแล้ว ก็ยังไม่ได้มีโอกาสใกล้ชิดพ่อแม่ พอผ่านระยะเวลากักตัวไปได้ อ้อมกอดแรกนั้นต้องแลกมาด้วยน้ำตาทุกครั้งมันทั้งโหยหา คิดถึง และต้องใช้ความอดทน และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ในห้วงเวลานั้นมากๆ


คนที่ยังมีงานประจำทำ ก็อยู่นิ่งไม่ได้ต้องแสดงความสามารถให้เจ้านายหรือเจ้าของบริษัทเห็นว่า ตัวเองเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นคนที่ต้องอยู่ต่อไปหากต้องมีการคัดเลือก ในภาวะนี้ทุกคนต้องปรับความคิด ทัศนคติรวมไปถึงวิธีการทำงานใหม่ ทั้งคนที่ทำงานประจำและอาชีพอิสระ เพราะมีหลายเรื่องที่ทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว หรือทำได้แต่ผลตอบรับน้อยลง ดังนั้นเทคนิคต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาการทำงานของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ต้องศึกษาและฝึกฝนกันทันทีในเวลานี้


ตัวอย่างปัญหาของคนทำงานส่วนใหญ่ที่ทำให้เสียเวลาคงหนีไม่พ้นเรื่องการค้นหาไฟล์งานที่เก็บไว้ในโน๊ตบุ๊ค การอ่านหรือหาอีเมล และล่าสุดไลน์ที่เป็นการสื่อสารกัน ทั้งแบบ ตัวต่อตัว หรือเป็นกลุ่ม ยิ่งถ้าเป็นระดับหัวหน้างาน หรือ Manager คงไม่พ้นงานหลายบทบาท ในกลุ่มต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมา และบางครั้ง การสื่อสารแบบเร่งด่วน ด้วยข้อความสั้นๆ ง่ายๆ บางครั้งทำให้เกิดการเข้าใจผิดมาหลายต่อหลายครั้ง


วิธีการเก็บไฟล์ที่จะทำให้หาง่าย คือการตั้งชื่อไฟล์ และโฟลเดอร์งานให้ชัดเจน นอกจากนั้น อาจจะมีโฟลเดอร์ย่อย ๆ อีกหลายชั้น เพื่อซ้อนให้ละเอียด แล้วจะได้แยกเก็บงานให้ละเอียดมากขึ้น ปัญหาการเก็บงาน ยังไม่ยากเท่าการตั้งชื่อไฟล์งานแล้วหาไม่เจอหลายครั้งหากเอกสารไม่สำคัญมากนัก เราอาจทำหัวท้ายเรื่องเพื่อเป็นโน้ต สำหรับชื่อไฟล์ในการเก็บและหางานในครั้งต่อไป


ส่วนเรื่องอีเมล ก็เช่นกัน นอกจากจะต้องแยกเก็บเป็นโฟลเดอร์ และเป็นโฟลเดอร์ย่อย แล้วยังต้องทำเครื่องหมายการอ่านเพื่อแยกแยะอีเมล ว่าได้อ่านแล้วหรือยังไม่อ่าน เมื่ออ่านอีเมล ฉบับใดเรียบร้อยแล้ว ควรแจ้งกลับไปยังผู้ส่งว่าท่านได้รับทราบเรื่องที่แจ้งนั้นมาเรียบร้อยแล้ว


นี่ยังไม่นับรวมการอัพเดตเวอร์ชั่น Microsoft office ที่ทำให้เราต้องศึกษาฟังก์ชั่น การใช้งานเพิ่มเติม การใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูปพวกนี้ อย่างเช่น Microsoft excel ถ้ายังไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาและเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวในขณะที่เราต้องใช้ทำงาน และสูตรและเทคนิคลัดที่สำคัญๆ ก็ควรอย่างยิ่งที่เราจะทราบไว้ เพื่อให้ทำงานหรือใช้เทคนิคลัด ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น


ส่วนการนำเสนองานหรือข้อมูล หลายครั้งที่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด แต่เมื่อนำข้อมูลไปเสนองาน กลับทำให้หลงประเด็นหรือนำเสนอข้อมูลที่ต้องการสื่อออกไป อย่างไม่ได้ตรงประเด็นกับที่ผู้ฟังรับข้อมูลเข้าไป หรือบางครั้งสื่อออกไปไม่ครบถ้วนทำให้ข้อมูลที่นำเสนอไป อาจหลงประเด็นไปได้


ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลจะได้ตรงประเด็นหรือไม่ก็คือต้องกำหนด เฟรมเวิร์ก โดยการร่างแกนแนวตั้งและแกนแนวนอน เพื่อให้กำหนดทิศทางของข้อมูลที่จะนำเสนอให้อยู่ภายใต้กรอบความคิดที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เฟรมเวิร์กหลัก ๆ ที่เราควรเรียนรู้ ก็มีอยู่สามตัวอย่าง เช่น เฟรมเวิร์ก MECE, เฟรมเวิร์ก พีระมิด และ เฟรมเวิร์ก สำหรับการแก้ไขปัญหา ส่วนรายละเอียดของแต่ละเรื่องนั้นอาจหาศึกษาเพิ่มเติมได้


สิ่งที่ได้เรียนรู้ จากการปรับตัวครั้งนี้ หลาย ๆ คนล้วนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า


มองสิ่งที่เป็นรูปธรรมก่อน คือการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นนักเรียน ต้องเรียนออนไลน์ คุณครูต้องผลิดสื่อการเรียนการสอนให้ทันกับความต้องการ


หรือแม้กระทั่งการปรับตัวทำงานที่บ้าน ใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยี เพื่อการสื่อสาร การประชุมทางไกล การปรับตัวครั้งนี้ ทำให้เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อีกหลาย ๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน


วิชาการประเมินความเสี่ยง ได้ถูกนำมาปรับใช้ ในหลาย ๆ องค์กร หากเกิดกรณีที่องค์กรใด เกิดมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น จะเตรียมรับมืออย่างไร หรือแม้กระทั่ง บางแห่งต้องปรับผังที่นั่งทำงานกันใหม่ เพื่อไม่ให้แออัดยัดเยียด กันเกินไป หรือแยกกันมาทำงาน ส่วนหนึ่งทำงานที่บ้าน (WFH) หรือสลับวันกันมาทำงาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ งานก็ต้องทำ โรคก็ต้องสู้ คนยุคใหม่นี่ต้องสมบุกสมบันกันจริง ๆ


สิ่งหนึ่งที่เห็นเด่นชัดเลย คือการทำงานแข่งกับเวลา และการรายงานผล การวิเคราะห์ และการจัดการข้อมูล เพื่อนำเสนอข้อมูลให้รัดกุม สรุปและเข้าใจง่ายภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อเป็นการประหยัดเวลา จะเห็นว่า การประชุมออนไลน์ เราใช้เวลาน้อยมาก ประชุมกันไม่นานก็จบ เพราะหลายท่าน ไม่คุ้นต่อการพูดต่อหน้ากล้อง ไม่เช่นนั้นคงหันไปทำอาชีพเป็นนักแสดงกันได้ แรก ๆ ก็เคอะเชิน ยังไม่ชินจึงรีบจบสรุปการประชุมอย่างรวดเร็วต่างจากการเข้าห้องประชุมเป็นไหน ๆ


หลายท่านที่ทำงานกันอยู่ แรก ๆ ปรับตัวกันวุ่นวาย ไหนจะต้องทำงานที่บ้าน ต้องจัดมุมในบ้านใหม่ เพื่อให้พร้อมเป็นมุมทำงาน เพราะอาจจะมีการประชุมร่วมกัน บางคนแต่งกายครึ่งท่อน เพื่อความสุภาพในการประชุม เป็นไอเดียที่หลายคนคิดและได้ทำจริง ๆ


ใครที่สนใจพวกเทคโนโลยีสื่อสาร หรือมีหัวด้าน IT ก็จะเป็น Encyclopedia ให้เพื่อน ๆ ได้ ส่วนพวกที่ Lo-tech ก็ต้องปรับตัวกันแรงหน่อย ต้องเรียนรู้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน


ช่วงแรก ๆ ก็จะหงุดหงิดหน่อย แต่พอปรับตัวได้แล้ว ทุกอย่างก็จะดูง่ายขึ้น เพราะควบคุมได้


แม้แต่นักเรียนเอง ก็ยังติดใจกับการเรียนออนไลน์ เพราะคุณครูไม่เห็นนักเรียน ไม่รู้ว่านักเรียนทำอะไรในขณะที่คุณครูสอน จะเห็นก็แค่ตอนที่ขานชื่อเช็คชื่อเข้าเรียน นักเรียนได้ทำกิจกรรมในขณะที่เรียนไปด้วย คือการเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อน การดูหนัง ดู YouTube ในเวลาเรียน หรือได้ค้นคว้าหาคำตอบใน Google เพื่อแสดงความตั้งใจเรียน เมื่อคุณครูถาม


อีกเรื่องที่ต้องระวังอย่างมากคือการสื่อสารในเวลาเร่งด่วน เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่ผิดพลาดไป และยิ่งในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานกับโรคระบาดด้วยแล้วความเสียหาย ประเมินค่าไม่ได้ หรือการปกปิดข้อมูลจริง แล้วทำให้เกิดการแพร่เชื้อ คนกลุ่มนี้ หากพลาดโดยไม่ตั้งใจ กับคนที่ตั้งใจ ผลลัพธ์ต่างกัน เพราะโดนรุมประณามด้วยสื่อโซเชียลแบบนอนไม่หลับ เครียดขนาดยานอนหลับก็ยังไม่เห็นผล ก็มีตัวอย่างมาแล้วหลายราย


เรื่องการนำเสนองาน ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับหลายคน จะนำเสนองานอย่างไร ให้แจ้งเกิดได้ อันนี้สำคัญมาก มีส่วนรายละเอียดยิบย่อย มากมายที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ตั้งแต่การเลือกสีสไลด์ การเลือกรูปแบบตัวหนังสือ การใช้รูปภาพประกอบ การใช้ไอคอน แทนตัวอักษร ไปจนถึงการเลือกนำเสนอข้อเท็จจริง มาปรับใช้ และต้องระวังในส่วนของข้อมูลที่เป็นในเชิงความคิดเห็น


การนำเสนอข้อมูลที่ดี ต้องวางกรอบแนวคิดว่าจะต้องการนำเสนอข้อมูล ในเรื่องใดบ้าง และต้องการตอบคำถามในเรื่องใดบ้าง แน่นอนว่าเราคงเคยเห็นข้อมูลที่นำเสนอในรูปแบบของแแผนภูมิรูปภาพ หลายครั้งที่นำเสนอข้อมูลในลักษณะนี้แล้วเกิดความสับสน อันเนื่องมาจากการจัดลำดับ ความสำคัญ และการจัดเรียงลำดับข้อมูล ความสำคัญต้องสอดคล้องกัน ถึงจะทำให้การนำเสนอข้อมูลรื่นไหล ไม่หยุดชะงักไป ภาพอินโฟกราฟฟิกจึงเป็นเริ่มมามีบทบาทสำคัญในการนำเสนอ และสื่อสารเพื่อให้คนเข้าใจง่ายขึ้น


ส่วนสิ่งที่เป็นนามธรรม เราจับต้องได้ ด้วยความรู้สึกเช่น การทำตู้แบ่งปัน ทำให้เห็นว่าในวิกฤตมีโอกาส และคนไทยเราไม่แห้งแล้งน้ำใจ บางคนทำกับข้าวไปแจก ๆ ได้ บางวัน ก็ยังดี บางคนให้คนชรา อายุเกิน 60 ปี หญิงมีครรภ์ และเด็กทานฟรี ไม่คิดเงิน บางร้านเปิดให้ทานฟรี เฉพาะวันจันทร์ เป็นต้น


ในความมีน้ำใจ ก็เห็นความแล้งน้ำใจ มีความเห็นแก่ตัว เอาเปรียบ เหตุการณ์นี้สอนให้เรามีมุมมองในเรื่องต่าง ๆ เปลี่ยนไป เหรียญมีสองด้าน ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน มีขึ้นก็ต้องมีลง โรคอุบัติใหม่ทำให้เรามองเห็นโลกต่างไปจากเดิม และไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป โลกและโรคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ใหม่ และพร้อมต่อการปรับตัวตามให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อธำรงค์เผ่าพันธุ์มนุษย์ชาติไว้ในโลกนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้มนุษย์เราเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกมนุษย์


ขอกล่าวทิ้งท้าย เป็นคำชมเชย ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของไทยทุก ๆ ท่านตั้งแต่อาสาสมัคร อสม.ในชุมชน บุคลการในสถานพยาบาลทุกแห่ง ไปจนถึงผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแพทย์ไทย แม้ท่านจะอายุมากหรือเกษียณอายุไปแล้วก็ตาม ท่านคือบุคลากรที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ในห้วงเวลาที่ทั่วโลกเจอวิกฤตใหญ่ในครั้งนี้ ขอบคุณทุกหัวใจที่เสียสละ เพื่อมวลมนุษย์ ท่านควรค่าอย่างยิ่งแก่การเคารพและให้เกียรติอย่างสูง ที่เสียสละร่างกายและจิตใจเสี่ยงที่สุดเพื่อพวกเราทุกคน “นักรบเสื้อกราวน์” คำนี้จะก้องอยู่ในหัวใจอีกนาน

ด้วยความเคารพ และจิตคาราวะต่อบทเรียนอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้

ต้นไม้ของแง่งคิด

ดู 22 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Talent Trends 2023

Comentarios


bottom of page