People Magazine | 2/2555
หน้าที่พื้นฐานที่สำคัญหน้าที่หนึ่งของประชาชนที่มีรายได้ทุกคน คือ การเสียภาษีให้แก่รัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลได้นำภาษีเหล่านั้นไปใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต
ภาษีนั้นปรากฏอยู่ในสังคมโลกและประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานับร้อยปี และระบบภาษีเองได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ในยุคปัจจุบันที่มีการแลกเปลี่ยนในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างเข้มข้นนี้ การไหลเวียนแรงงานระหว่างประเทศทั่วโลกกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆต้องมีการปรับและพัฒนาระบบภาษีของตนรวมทั้งประเทศไทยเองได้พัฒนาไปอย่างมากเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
นักทรัพยากรมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับประเด็นทางภาษีสำคัญ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งหมายถึงภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีหนึ่งๆนั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้มีรายได้ต้องนำไปแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษีภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป ในบางกรณีกฎหมายกำหนดให้มีการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องชำระ และเงินได้บางกรณีกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย
ในสภาวะปัจจุบันที่โลกาภิวัตน์ได้โอบรอบสังคมโลกอย่างทั่วถึงนั้นทำองค์การจำนวนมากมีสถานที่ทำงานที่ประกอบด้วยพนักงานที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง ซึ่งหากเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าองค์การหนึ่งๆในประเทศไทยนั้นอาจมีพนักงานที่อยู่ในความรับผิดชอบในการหักภาษี ณ ที่จ่ายขององค์การอยู่ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. พนักงานท้องถิ่น (พนักงานชาวไทย)
2. พนักงานต่างชาติที่มาทำงานในประเทศ (พนักงานชาวต่างชาติ)
3. พนักงานท้องถิ่นที่ทำงานในต่างประเทศ (พนักงานชาวไทยที่ทำงานในต่างประเทศ)
สำหรับแหล่งที่มาของเงินได้ ซึ่งแบ่งเป็นเงินได้จากแหล่งทั้งในประเทศและนอกประเทศ เงินได้จากแหล่งต่างๆ นี้จะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศ หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้น หรือเป็นผลสืบเนื่องจาก
1.1. หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ
1.2. กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
1.3. กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ
1.4. ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ฯลฯ)
เงื่อนไข คือ ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศนี้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฎากร กำหนดไว้เสมอเว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วนั้น จะจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม
2. เงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจาก
2.1. หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.2. กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.3. ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
เงื่อนไข คือ ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยต่อเมื่อเข้าองค์กรประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีเงินได้เป็น ผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวม ทั้งหมดถึง 180 วัน
(2) ผู้มีเงินได้ นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย
นอกเหนือไปจากแหล่งเงินได้แล้ว ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นยังต้องคำนึงถึงประเภทของเงินได้ด้วย เนื่องจากเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทนั้นจะมีวิธีการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป และมีบุคคลและเงินได้พึงประเมินบางประเภทหรือบางกรณีได้รับยกเว้น อีกทั้งยังมีการให้หักลดหย่อนต่างๆ เพื่อบรรเทาภาระภาษีที่ผู้มีเงินได้ต้องชำระ ซึ่งหลังจากหักลดหย่อนแล้ว จึงนำเงินได้ที่เหลือ ซึ่งเรียกว่าเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษี
สำหรับประเด็นเรื่องภาษียังมีรายละเอียดเชิงลึกอีกมากมาย ซึ่งจะได้มีการนำเสนอต่อไปในฉบับหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากทิ้งท้ายไว้สำหรับฉบับนี้ คือ การวางแผนการสำหรับการเสียภาษีเงินได้ประจำปีนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้เสียภาษีที่มี จำนวนมากที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ จะหลงลืมเสียไม่ได้ที่จะต้องทำการเสียภาษี มิฉะนั้นจะต้องเสียเบี้ยปรับสูญเสียเงินเพิ่มอีกด้วย
Comments