top of page
รูปภาพนักเขียนDr. Nutavoot Pongsiri

ประตูสู่ความเสมอภาคทางสติปัญญา

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | nutavootp@gmail.com

การทดลองฝังชิปที่สร้างจากเซลล์ประสาทของสิ่งมีชีวิตในสมองหนูทดลอง สามารถทำหน้าที่เป็นสมองขนาดเล็กที่ใช้พลังงานในการประมวลผลน้อย ถ้านักวิทยาศาสตร์พัฒนาชิปชีวภาพนี้ได้สำเร็จ จะสามารถเพิ่มศักยภาพในด้านการคำนวณ การคิดวิเคราะห์ และการเชื่อมโยงเหตุผล ถึงจุดนั้นเราคงเห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสมอภาคทางสติปัญญาขึ้นจริง ๆ ซึ่งจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภาพ รวมทั้งการบริหารและพัฒนาบุคลากรอย่างมีนัยสำคัญ

การทำงานของสมองมนุษย์เกิดจากเซลล์ประสาทหลายล้านเซลล์ส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันเป็นเครือข่ายที่มีความสลับซับซ้อน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันยังทำได้เพียงแค่อ่านข้อมูลที่ส่งออกมาจากเซลล์ประสาท ยังไม่สามารถเขียนข้อมูลเข้าไปสั่งการสมองได้ ความยาก คือการสร้าง Neuromorphic Chip เพื่อควบคุมสัญญาณที่ซับซ้อนของเซลล์ประสาทให้กระจายสอดคล้องกัน ยังห่างไกลจากความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าล่าสุดมาจากนักวิจัยที่สถาบัน MIT จี ฮวาน คิม ได้พบวิธีแก้ไขโดยนำผลึกซิลิกอน และ ธาตุเจอร์เมเนียม ทำเป็นเส้นนำสัญญาณไฟฟ้าประกอบกันเป็นโครงข่ายในระดับไมครอน ทำให้ลดความแปรปรวนลงได้มาก ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโครงข่ายประสาทเทียมในอนาคต และอาจนำไปสู่การพัฒนามนุษย์ที่มีความฉลาดเหนือขีดจำกัด รวมทั้งความสามารถในการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับตัวแสดงในภาพยนตร์ Ghost in the Shell


อีกก้าวสำคัญมาจากโครงการที่ลงทุนโดย อีลอน มัสก์ ผ่านบริษัทนิวราลิงก์ ซึ่งมุ่งพัฒนาโครงข่ายสายเชื่อมประสาทเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของสมองในส่วนของการรับรู้ ความคิดและสติปัญญา ทำให้สมองมนุษย์สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะทดลองฝังชิปสั่งงานอวัยวะในสมองผู้พิการได้ภายในปี ค.ศ. 2021 สำหรับบุคคลทั่วไปจะตามมาภายใน 8-10 ปี ข้างหน้า เป้าหมายสูงสุดคือ ทำให้มนุษย์สามารถดาวน์โหลดข้อมูลความคิดต่างๆ ได้โดยไม่จำกัด


ถ้าเทียบกับเซลล์สมองของมนุษย์ ชิปของบริษัทนิวราลิงก์ ยังมีขนาดใหญ่และใช้พลังงานมากอยู่ดี ซึ่งนั่นทำให้นักวิจัยหลายคนเกิดไอเดียการสร้างชิปจากเซลล์ชีวภาพแทน เช่น ทีมวิจัยจากยุโรปสามารถสร้างระบบเครือข่ายเซลล์ประสาทโดยใช้สารชีวภาพเชื่อมต่อกับซิลิกอนสื่อสารกันผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และงานของ คอร์ทิคอน แลป บริษัทสตาร์ทอัพจากออสเตรเลีย สามารถสร้างชิปชีวภาพจากเซลล์ประสาทของหนูที่สกัดจากตัวอ่อน และเซลล์ประสาทของมนุษย์ที่สกัดจากเซลล์ผิวหนัง ทำหน้าที่เป็นสมองขนาดเล็กที่ใช้พลังงานในการประมวลผลน้อยกว่าสมองแมลงปอได้แล้ว หากเทคโนโลยีนี้ใช้งานได้ดี เราจะสามารถติดตั้งชิปเข้ากับสมองเพื่ออัพเกรดความสามารถในการคิดคำนวณของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจเป็นก้าวกระโดดของวิวัฒนาการของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้


การบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อวันหนึ่งถ้าใครอยากฝังชิปในสมองเพื่อเพิ่มความสามารถให้กับตัวเอง เพิ่มความจำ และการตัดสินใจที่เฉียบคม คิดคำนวณได้เร็วขึ้น เรียนรู้ได้เร็วขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น กำลังกลายเป็นจริง ถ้าพัฒนาไปจนราคาถูกลงอาจซื้อแบบ App in Purchase มา Upload ได้ในราคาที่ไม่แพงเกินไป สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในด้านบวก เช่น ผลิตภาพ (Productivity) ขององค์กรเพิ่มขึ้นจากการที่พนักงานคิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้น การบริหารและถ่ายทอดองค์ความรู้โดยเฉพาะที่เป็นความรู้ที่ไม่ปรากฏชัดแจ้งแต่เป็นประสบการณ์อยู่กับตัวบุคคล (Tacit Knowledge) จะไม่สูญหาย สามารถเก็บรักษาไว้ได้ในชิปสมองเทียม ในเรื่องการบริหารผลงาน พนักงานที่ฝังชิปจะมีผลงานดีกว่าพนักงานทั่วไป ซึ่งในที่สุดองค์กรอาจต้องให้การฝังชิปเป็นสวัสดิการที่เบิกได้เช่นเดียวกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลทั่วไป ถึงจุดนั้นเราคงเห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสมอภาคทางสติปัญญาของบุคลากรทั้งองค์กรเกิดขึ้นจริง ๆ


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ฐานเศรษฐกิจ, 2563. “ประตูสู่ความเสมอภาคทางสติปัญญา”, Strategy, 14 พฤศจิกายน 2563, pp. 18


ดู 26 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page