top of page

ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วยการสร้าง Purposeful Leadership

เวลาที่เราพูดถึงการที่จะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ บางคนก็จะนึกถึงผู้นำที่สามารถแก้ไขปัญหาและตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ผู้นำจะต้องเป็นเหมือนกับฮีโร่ ที่แก้ไขปัญหาและนำสิ่งต่างๆมาได้ในทุกๆความยากลำบาก หรือเป็นผู้ที่ฉลาดและเก่งที่สุดในทีมหรือองค์กร แต่ผู้นำในลักษณะดังกล่าวก็ต้องเผชิญความท้าทายจากสภาพในปัจจุบันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น

> ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบันที่สร้างความซับซ้อน คาดเดาได้ยาก และในหลาย ๆครั้งไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสำหรับปัญหาที่ต้องเผชิญ


> การเติบโตของบริษัทไม่สามารถมุ่งเน้นไปในเรื่องของการสร้างผลกำไร หรือตัวเลขทางการเงินแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป แต่มีกระแสเรื่องความยั่งยืน หรือการเติบโตแบบ 3 P (Profit การเติบโตของผลกำไร / Planet ความยั่งยืนของโลก สังคม และสิ่งแวดล้อม / People การพัฒนาของผู้คนทั้งในและนอกองค์กร)


> ด้วยพลังของ Social Media และโลกที่ใกล้กันมากขึ้น ทำให้พนักงานมีข้อมูลและมีข้อเปรียบเทียบสไตล์ความเป็นผู้นำของตน และองค์กรอื่น ๆ ที่อาจจะมีผู้นำที่มีความเก่งกาจมากขึ้นกว่าได้


> ผู้นำที่ถูกเชิดชูว่ามีความสามารถที่สูงมาก ๆ จนทุกคนไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นแย้ง อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้โดยไม่ได้ตั้งใจ ยกตัวอย่าง เช่น อาการของ HiPPO (Highest-Paid Person's Opinion) ที่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อการตัดสินใจของผู้นำ และส่งผลต่อผลการปฎิบัติงานขององค์กรโดยตรง


นอกจากนี้หากเราไปมองในมุมของพนักงานรุ่นใหม่ๆ จากผลสำรวจของ Adecco ที่ทำการสำรวจในโครงการ Resetting Normal: Defining the New Era Of Work 2021 ที่ได้จัดทำขึ้นในช่วงปลายปี 2021 พบว่าในสิบอันดับแรกที่เป็นปัจจัยที่ทำให้คนมองหาและเลือกงาน มีข้อที่เกี่ยวข้องกับการที่พนักงานได้รับการตอบสนองเรื่องของคุณค่าในงานของเขา หรือคุณค่าในสิ่งที่เขาได้ทำถึง 4 จาก 10 ข้อ (การได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้า / งานที่มีความหมาย / ได้แสดงฝีมือและเป็นที่ยอมรับ และโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเอง)


ดังนั้นในการบริหารองค์กรสมัยใหม่แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจจะนำมาใช้ คือลักษณะการเป็นผู้นำแบบ Purposeful Leadership หรืออาจจะเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่าเป็นการเป็นผู้นำผู้สร้างความมุ่งมั่น ก็อาจจะว่าได้ ซึ่งหัวใจในการเป็น Purposeful Leadership นี้ ก็คือการสร้างผลลัพธ์ที่ดีโดยอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมของตัวผู้นำเองและกระตุ้นแรงผู้อื่นให้มุ่งมั่น และเติบโตเพื่อบรรลุเป้าหมายได้ร่วมกัน

ฟังจากความหมายข้างต้นอาจจะฟังดูแล้วเข้าใจได้ยาก ดังนั้นเพื่อความง่ายต่อความเข้าใจ ผู้เขียนจะลงลึกในรายละเอียดในการที่จะสร้าง Purposeful Leadership โดยถอดรหัสเป็น 5 ความชัดเจนที่ผู้นำจะต้องสร้าง เพื่อที่จะสร้าง Purposeful Leadership ให้เกิดขึ้นในทีมงาน ดังนี้


1. ชัดเจนในเป้าประสงค์ – จุดหมายหรือเป้าประสงค์ เป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนล้วนมี แต่การที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น จำเป็นที่จำต้องทำให้เป้าประสงค์ของผู้นำท่านนั้น สอดคล้องเข้ากับเป้าประสงค์ขององค์กร อีกทั้งยังต้องมองให้เห็นว่า อะไรที่เป็นเป้าหมายของคนในทีม เพื่อสร้างแรงจูงใจ และแรงผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายได้ เพราะการเห็นเป้าประสงค์ที่ชัดเจนของตัวพนักงานเอง ถ้าหากไม่นำเป้านั้นมาประกบกับเป้าหมายขององค์กรให้ได้ ก็จะสร้างปัญหาทำให้ตัวของพนักงานนั้นเองจะแยกตัวเองออกไปจากองค์กร ตัวอย่างเช่นที่หลาย ๆ องค์กรได้พบในช่วง The Great Resignation ที่พนักงานได้ลาออกจากองค์กร เพื่อไปตามหาเป้าประสงค์ของตนเอง หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น เช่น อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ได้มีการสร้างกลุ่มทีมงานที่ชื่อว่า “เพื่อนชัชชาติ” ตั้งแต่ประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว โดยการสมัครเข้าทีมเพื่อนชัชชาตินั้น จะต้องมีการกรอกใบสมัครที่ตอบคำถาม รวมไปถึงเป้าหมายในการพัฒนาเมืองของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งหลายต่อหลายคนร่วมกับผู้นำทีมอย่างอาจารย์ชัชชาติ ซึ่งถ้าเปรียบเสมือนการจัดการในทีมก็เหมือนกับการตั้งความคาดหวังในเป้าประสงค์ เพื่อปรับจูนให้ตรงกัน โดยแสดงเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทีมนี้จะมีทิศทางไปทางไหน มีเป้าหมายอย่างไรให้ชัดเจน


2. ชัดเจนในบทบาทผู้ส่งเสริม – ในฐานะของผู้นำ จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ทุกคนได้เติบโต สร้างพลังงานเชิงบวกให้ทุกคนในการขับเคลื่อน ในการเป็นแรงบรรดาลใจให้เติบโต เหมือนอย่างที่ Dolly Parton นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังชาวสหรัฐอเมริกาได้เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าการกระทำของคุณกระตุ้นให้เกิดฝันที่ใหญ่ขึ้น การเรียนรู้ที่มากขึ้น การกระทำที่เยอะขึ้น และไปได้มากกว่าที่เคยเป็น ตอนนั้นแหละคุณคือผู้นำ” มีตัวอย่างเช่นที่ Reed Hasting ทำกับ Netflix โดยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้น “Freedom with Responsibility” และการที่เขาได้ประกาศนโยบายแบบนี้ เขาก็ได้สร้างให้องค์กรความสำคัญกับไอเดียของคนเหนือกระบวนการต่าง ๆ ในองค์กรจึงสร้างให้พนักงานเกิดความรู้สึก Freedom with Responsibility ได้จริง ๆ


3. ชัดเจนว่าต้องเป็นผู้ดูแลทีม ไม่ใช่ผู้ได้รับการดูแล – แน่นอนว่าในการเป็นผู้นำแบบ Purposeful Leadership การดูแลนี้ไม่ใช่การดูแลตนเองอย่างแน่นอน หากแต่เป็นการดูแลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับทีมงานของตัวเอง ไม่มองว่าตนเองเป็นเจ้านาย เป็นนายของผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะต้องทำหน้าที่สั่งซ้ายหัน ขวาหันให้แก่ทีมงานเพียงอย่างเดียว Jim Citrin CEO ของ Spencer Stuart ได้เคยกล่าวไว้ว่า “The best leaders don’t climb their way to the top over the backs of others, they are carried to the top.” หรือการเป็นผู้นำไม่ใช่การปีนขึ้นไปอยู่บนสุด หากแต่เป็นการพาผู้อื่นขึ้นไปในระดับที่สูงที่สุด หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในบ้านเรา เช่นการที่ อาจารย์ชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครท่านปัจจุบัน ได้กล่าวกับข้าราชการในวันที่ได้รับตำแหน่งว่า "ผมไม่ได้มาเป็นนาย ผมมาเป็นเพื่อนร่วมงานของทุกคน" เป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้มาดูแล แต่เป็นการมาทำงานร่วมกัน และช่วยเหลือกัน ซึ่งเป็นความชัดเจนว่าจะมาเป็นผู้ดูแลทีมงาน เป็นต้น


4. ชัดเจนในค่านิยมหลักของตนเอง - การที่จะเป็นผู้นำแบบ Purposeful Leadership จะต้องมีความชัดเจนในหลักการหรือค่านิยมส่วนตัวของตนเอง อาจจะเรียกได้ว่าต้องมีเส้นที่รู้ว่าข้ามไม่ได้ ที่ชัดเจน และที่สำคัญคือต้องมีความจริงจัง และมีพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างชัดเจนในสิ่งที่ตนเอง มีตัวอย่างที่คลาสสิค และชัดเจน คือตัวอย่างของบริษัท Johnson & Johnson ที่มีค่านิยม หรือที่เรียกว่า “Credo” โดยประโยคแรกของค่านิยมกล่าวว่า “We believe our first responsibility is to the patients, doctors and nurses, to mothers and fathers and all others who use our products and services.” ซึ่ง ในปี 1982 ได้เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตในเมืองชิคาโก โดยพบว่ายาไทลินอลของ J&J อาจจะปนเปื้อนสารพิษไซยาไนต์ ซึ่ง Johnson & Johnson ก็ได้แสดงความยึดมั่นในค่านิยมหลักของตน โดยการเรียกคืนยาไทลินอลทั้งหมด 31 ล้านกระปุก ออกจากตลาดในทันที ซึ่งแม้จะมีผลกระทบในแง่ของค่าใช้จ่ายในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ส่งผลกระทบในแง่บวกแก่บริษัทในระยะยาว ทั้งนี้ถ้าเรากลับมามองดูแนวทางของคุณชัชชาติ จะเห็นได้ว่าการที่คุณชัชชาติมีแนวคิดและบอกกับทุก ๆ คนว่า เขาจะสร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนนั้น คุณชัชชาติได้แสดงให้เห็นผ่านทางการตั้งคณะทำงานของตนเอง ที่มีคนหลากหลายวัย มีคนรุ่นใหม่อายุเพียง 33 ปีเข้าร่วมในทีมบริหาร รวมไปถึงการมีผู้พิการ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้โอกาสทุกคนในหลากหลายแบบเข้ามาร่วมบริหารงานได้เป็นอย่างดี


5. ชัดเจนในตัวตน - ในยุคที่มีภาพลักษณ์ต่างๆตาม Social Media ผู้คนยิ่งแสวงหาตัวตนที่จริงแท้มากยิ่งขึ้น ความเป็นผู้นำก็เช่นกัน ซึ่งการชัดเจนในตัวตนของผู้นำไม่ใช่การบอกเล่าว่าตนเองเป็นคนอย่างไร หากแต่เป็นการแสดงให้เห็นอารมณ์ วิธีคิด ความรู้สึกต่างๆที่แสดงออกมา ซึ่งสิ่งต่างๆที่แสดงออกมานั้น ถ้าหากมีความสอดคล้องกันกับความชัดเจนที่เหลืออีก 4 ตัว ก็จะยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือ บ่งบอกถึงตัวตนของผู้นำคนนั้น อันจะนำไปสู่ความศรัทธาต่อผู้บริหารท่านนั้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จสำหรับ Purposeful Leadership เป็นอย่างยิ่ง


หากอ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าการสร้างความเป็นผู้นำแบบ Purposeful Leadership สามารถจะตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานในยุคปัจจุบันได้จากการที่สร้างโอกาส สร้างคุณค่าให้ทีมงานยึดเกาะร่วมกัน และเป็นทีมเดียวกันที่มีเป้าหมายเดียวกันได้นั่นเอง และถ้าหากท่านอยากจะลองเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นผู้นำในแบบ Purposeful Leadership ท่านอาจจะเริ่มต้นจากการถามคำถามแก่ตนเองง่ายๆสักสามคำถาม เพื่อค้นหาแนวทางของตนเองคือ

> อะไรคือเป้าประสงค์หรือจุดมุ่งหมายในการเป็นผู้นำแบบของเรา

> อะไรคือค่านิยมหลักของเราที่เรายึดถือในการคิด การพูด และการทำของเรา

> สิ่งที่ตอบมาในสองข้อข้างต้น เป็นตัวตนของเราจริง ๆ ใช่หรือไม่


ซึ่งถ้าเราสามารถตอบคำถามทั้งสามข้อนี้ได้แล้ว การเริ่มต้นที่จะสร้าง Purposeful Leadership ในแบบของคุณก็ไม่น่าจะยากเกินไป เพราะถ้าหากเราเริ่มต้นที่ตัวตนที่แท้จริงของเราแล้ว ทุกสิ่งที่เราทำก็จะจริงจนสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับทีมของคุณได้ และสร้างคุณค่าร่วมกันไปสู่เป้าหมายใหญ่ของทีมคุณได้อย่างแน่นอน

 

Ref.

Comentarios


PMAT-Wonly.png

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย

Personnel Management Association of Thailand

© 2020 by Personnel Management Association of Thailand   |   Khonatwork   |   Privacy Policy

  • YouTube - วงกลมสีขาว
bottom of page