top of page
  • รูปภาพนักเขียนKHON

ดนตรี...ศิลป์แห่งอารยะ

People Magazine | Vol.3/2555


เป็นที่ยอมรับว่าเสียงดนตรีเป็นสิ่งที่กล่อมเกลาหัวใจของผู้ฟังให้อ่อนโยนและสร้างจินตนาการได้ สำหรับ Special Interview วันนี้ เรามีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในแวดวงดนตรีคลาสสิก วงออเคสตร้าของไทยที่มีความสามารถเป็นที่ชื่นชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่เรารู้จักในนาม “วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ” (Bangkok Symphony Orchestra : BSO)

ความเป็นมาของวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ

วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ถือกำเนิดในปี พ.ศ.2525 ปีเดียวกับที่ประเทศไทยฉลองครบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ มีคอนเสิร์ตครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2525 ถ้านับในปีนี้ก็เป็นปีที่ 30 คนอายุ 30 ถือว่าอยู่ในวัยที่มีวุฒิภาวะ และมีพลังอยู่มาก เป็นช่วงชีวิตที่สะสมประสบการณ์และพร้อมจะสร้างประสบการณ์ใหม่ และคิดว่าวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพก็ไม่ต่างกัน


ก่อนถือกำเนิดขึ้นมา เมืองไทยเรามีวงดุริยางค์ที่ตั้งขึ้นมาอย่างเฉพาะการณ์บ้าง เช่น วงดุริยางค์ของราชนาวี วงดุริยางค์ของกองทัพต่างๆ ที่แยกราชนาวีออกจากกองทัพต่างๆ เพราะราชนาวีจะมีความโดดเด่นมากกว่า และมักจะเน้นไปทางด้านวงดุริยางค์เครื่องสาย หรือ ออเคสตร้าเครื่องสาย ในขณะที่วงดุริยางค์กองทัพบก กองทัพอากาศนั้นเป็นดุริยางค์เครื่องเป่า ดุริยางค์นั้นมีไว้เพื่อที่สนองในโอกาสราชพิธีต่างๆ เน้นไปทางด้านแตรวง ส่วนราชนาวีเป็นวงที่บุคคลากรที่มีความสามารถ และมีทุนการศึกษาเข้ามาเรียน มีประชาคมนักดนตรีคลาสสิก ในขณะที่วงอื่นจะเล่นเพลงมาร์ช เพลงทันสมัย หรือเพลงที่ก่อให้เกิดความฮึกเหิม ซึ่งนำมาเป็นบ่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจ


ที่พูดถึงวงดุริยางค์ราชนาวีเพราะว่า มากกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกที่มียศเป็นทหารเรือ เข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และมีการให้ยืมเครื่องมือมากมาย ก่อนหน้านั้นนอกจากมีวงดุริยางค์ราชนาวีแล้ว ได้มีการตั้งวงดุริยางค์เล็กๆ ขึ้นมา มีชื่อว่า “Promusica” เป็นประชาคมกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นอาจารย์ดนตรี นักดนตรี และนักธุรกิจที่เล่นดนตรีเป็น มีความสามารถสูง มารวมตัวกัน และจัดคอนเสิร์ตขึ้นเป็นนครั้งคราว ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2514 - 2516 พอถึงพ.ศ. 2525 เลยคิดว่าจะรวมวงขึ้นมาเป็นวงใหญ่ เป็น “บางกอกซิมโฟนีออเคสตร้า”


พอมาเป็นบางกอกซิมโฟนีออเคสตร้า ได้รับการสนับสนุนจาก คุณอุเทน เตชะไพบูลย์ ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ เพราะท่านมีความสนใจเป็นกรณีพิเศษ ท่านให้หอประชุมธนาคารศรีนคร ที่สวนมะลิ เป็นที่จัด สังคีตศาลา (แปลว่า ที่รวมเสียงดนตรี) มีการถ่ายทอดโทรทัศน์ ซึ่งท่านก็เป็นประธานมูลนิธิฯ ด้วย ต่อมา มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เข้าไปอยู่ในพระราชูปถัมภ์ และได้รับพระราชานุญาตในอีก 4 ปีถัดมาหลังจากนั้น ทรงมีความสนพระทัยและเล็งเห็นว่าการมีดนตรีเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ “ความเป็นอารยะ”

เส้นทางของวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ

ช่วงแรก ๆ เรามีคอนเสิร์ตไม่มากนัก วงเรามีทั้งนักดนตรีรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ แต่เรายังไม่สามารถผลิตนักดนตรีอาชีพได้ ช่วงที่เราถือว่าเป็นอาชีพและมีระบบจัดการบริหารบุคคล คือ ประมาณ พ.ศ. 2533 จนถึง 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมั่งคั่ง ดังนั้นต้องบอกว่าธุรกิจดนตรีหรือศิลปะ มันจำเป็นต้องดำเนินไปควบคู่กับความมั่งคั่งของประเทศด้วย ถ้าประเทศหมดความมั่งคั่งธุรกิจประเภทนี้ก็เป็นอันดับแรกๆ ที่หายไป ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ว่าผู้ที่จะมาอนุเคราะห์ ผู้อนุเคราะห์ และผู้สนับสนุนก็น้อยลงตามไปด้วย


ช่วงที่พลเรือโทวีระพันธ์ วอกลาง เข้ามาดูแล (ปัจจุบันท่านเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว) ท่านถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่คอยสร้างนักดนตรีขึ้นมา ช่วงนั้นมีวาทยกรจากเมืองนอกเข้ามา เรามีผู้อำนวยการด้านดนตรีดำรงตำแหน่ง 3 -6 ปี เช่น ชาวรัสเซีย หลังจากนั้นเป็นช่วงของผู้อำนวยการด้านดนตรีชาวเยอรมัน ทิม ทาเชอร์ เป็นช่วงที่ทุกคนสนุกสนาน และมีสปอนเซอร์ที่คงเส้นคงวา เช่น กลุ่มเนสเล่ท์ เนสกาแฟ ต่อมาเป็นวาทยกรชาวอังกฤษ ชื่อว่า จอห์น จอเจีย ดิส เป็นคนที่มีความสามารถ ตรงไปตรงมา จอห์นเข้ามาในช่วงที่ประเทศไทยกำลังมั่งคั่ง สนุกสนานหรือช่วงฟองสบู่ ถือว่าเป็นช่วง “belle a proc” ของดนตรีและศิลปะ (ภาษาฝรั่งเศส) จอห์นเป็นผู้นำความหลายหลากของรายการดนตรีเข้ามา ทำให้เกิดความน่าสนใจ ขายได้ จอห์นบอกว่า “ดนตรีจะเกิดขึ้นได้ดีนั้นต้องออกไปเล่นฟรีให้สาธารณะฟัง” ดังนั้นจึงเกิดรายการ “ดนตรีในสวน” จัดที่สวนลุมพินี มีเจ้าภาพร่วมคือ บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ และกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่นั้นมาตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ทุกๆ ฤดูหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีดนตรีทุกวันอาทิตย์ที่สวนลุมพินี สิ่งนั้นคือผลงานที่เป็นแรงส่ง ทำให้เกิดแบรนด์ของวงดุริยางค์บางกอกซิมโฟนี


ใน 10 ปีสุดท้ายที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน มีวงดุริยางค์ต่างๆ มากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ผู้ฟังมีมากขึ้น ตัวเลือกมีมากขึ้น และกิจกรรมทางด้านดนตรีก็มีมากขึ้น ถือว่าเป็นการที่ต่างฝ่ายต่างต้องเร่งเครื่อง และยังคงเกื้อกูลกันและกัน นักดนตรีในค่ายต่างๆ ยังต้องช่วยเหลือกัน

อะไรที่ทำให้วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพแตกต่างกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีอื่นๆ

“คน” ในวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ

ถ้าเรียกว่าดุริยางค์ เรามีจะมีนักดนตรี ตั้งแต่ 20 – 80 คน ขึ้นอยู่กับชุดเพลงที่ตัวเองจะเล่น ในภาษาวงดุริยางค์จะเรียกนักดนตรีว่า Orchestra Members คือสมาชิกวงดุริยางค์ ในช่วงที่ผ่านมาทั้งหมด ถ้าจะแบ่งตามยุคสมัย จะแบ่งตามผู้อำนวยการด้านดนตรี เรียกว่า Music Director ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญ เพราะเป็นทั้งคนบริหารและดูทิศทางของศิลปะ Art Direction หรือ Music Direction ลำดับมาวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ได้เชิญผู้อำนวยเพลงและศิลปินเดี่ยวชาวต่างชาติจากทั่วโลก ที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงมาร่วมแสดง อาทิ Dang Thai Son, Peter Donohoe, Anthony Camden, Olivier Charlier, Julia Migenes, Alex Slobodyanik, Mikhail Pletnev, Hilary Hahn, Sarah Chang, Lea Salonga, Renee Fleming, Dame Kiri Te Kanawa, Sir James Galway และ Barry Douglas และ Denis Matsaev อีกทั้งจัดทำผลงานบันทึกเสียงทั้งบทเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงไทยต่าง ๆ ทั้งเพลงไทยโบราณและไทยร่วมสมัย นอกจากนี้ เรามีผู้อำนวยเพลงชาวญี่ปุ่น Hikotaro Yazaki ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้ดำรงตำแหน่ง Music Director ประจำวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ และในปี 2552 ได้แต่ตั้ง John Floore ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในด้านการบริหารวงออร์เคสตร้าที่มีชื่อของยุโรป Limburg Symphony Orchestra ซึ่งเป็นวงที่เก่าแก่มีชื่อให้ดำรงตำแหน่ง Music Advisor จนถึงปัจจุบัน


ในการแสดงดุริยางค์ นอกเหนือจากนักดนตรี, Music Director, Music Advisor แล้ว จะต้องมีบรรณารักษ์ ซึ่งถือว่าสำคัญ ถ้าเป็นวงใหญ่บรรณารักษ์ 1 คนไม่พอ บรรณารักษ์คือผู้จัดวง ไม่ได้มาจัดเก้าอี้ การจัดเก้าอี้สำคัญ วาทยกรแต่ละคนจะมองวิธีการจัดเก้าอี้และจุดที่จะส่งเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ฉะนั้นผังที่นั่งในวงดนตรี คนที่ดูแลโลจิสติกส์ก็ต้องเข้าใจ กลุ่มของเพลงสมัยใหม่ สมัยก่อน อยากจะให้เป็นอย่างไร ต้องการให้พระเอกของเครื่องดนตรีอยู่ตรงไหน วาทยกรก็จะเป็นคนบอกว่าให้เป็นอย่างไร ดังนั้นในการแสดงครั้งหนึ่งจึงมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก

การเป็นกรรมการบริหารวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ

ที่จริงผมเป็นผู้ฟังคนหนึ่งที่สนใจดนตรีคลาสสิก และมีโอกาสได้เข้ามาคลุกคลีจริงๆ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ในปี พ.ศ. 2533 (1990) เป็นปีที่ทางวงคลาสสิกเริ่มอยากทำดนตรีป๊อป เนื่องจากเราเล่นคลาสสิกกันมานานแล้ว และเห็นว่า London symphony orchestra , Boston symphony orchestra เล่นเพลงป๊อป เพลงจากภาพยนตร์ เพลงจากบรอดเวย์ เพลงดังต่างๆ โดยที่นำมาเรียบเรียงเสียงประสานเป็นแบบ Classical ปกติเพลงคลาสสิกจะเล่นกัน 15-20 นาที โดยผู้ฟังจะอ่านจาก program note แต่เพลงป๊อปเวลามันจะสั้น 5-7 นาที จำเป็นต้องมีผู้ดำเนินรายการ ผมเลยได้รับโอกาสดังกล่าว ผู้จัดการทั่วไปตอนนั้นของวงคือคุณวิทยา ตุมรสุนทร เสนอว่าผมเล่นเปียโนได้ ให้เล่นไปร้องไป ผมจึงอยากนำสิ่งที่ตนเองรักมาถ่ายทอด เป็นครั้งแรกที่เข้ามาร่วมงานในฐานะ พรีเซนเตอร์ และมีโอกาสร่วมงานกับ BSO มาเรื่อยๆ รวมระยะเวลาที่ผมเข้ามาทำงานที่นี่ประมาณ 15 ปี จนปัจจุบันก็เข้ามาช่วยในงานบริหารในฐานะกรรมการคนหนึ่ง

อะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายในการบริหารวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ

ในทัศนะของผู้บริหารทุกคน สิ่งที่ท้าทายอันดับแรกคือ ความสนใจของผู้อุปถัมภ์ ขณะนี้ยังเป็นปัจจัยท้าทาย สองคือ กลุ่มผู้ฟัง ผู้อุปถัมภ์หรือผู้อนุเคราะห์รายการจะสนใจเมื่อเขามองเห็นว่ากลุ่มผู้ฟังมีมากน้อยแค่ไหน นี่คือจุดที่ท้าทาย เพราะเราสามารถสร้างกลุ่มผู้ฟังให้ขยายออกได้มากน้อยเพียงไร เพราะถ้ากลุ่มผู้ฟังไม่ขยาย ผู้อุปถัมภ์ก็จะไม่มี เพราะคิดว่าการอุปถัมภ์จะไม่ออกดอกออกผล การขยายฐานผู้ฟัง ผมคิดว่าเราคงจะไปอยู่ที่ CRM และกลุ่มลูกค้าไฮโซอย่างเดียวไม่ได้ เ สำหรับการแบ่งว่าคนนี้ไฮโซ คนนี้ Low-so คนนี้ so-so มันไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจำเป็นต้องขยายฐานไปที่ทุกๆ หย่อมหญ้า ไม่ว่าจะรวยหรือจนเราก็มีสิทธิ์ฟังดนตรี


สาม คือความเป็นศิลปินของแต่ละคน ข้อนี้ที่สำคัญเพราะ เราจะเคยได้ยินอยู่เสมอว่าเวลาที่เราบริหารคนลำบาก ถ้าเราเจอคนที่ดื้อ คนที่บริหารยาก เรามักจะบอกว่า คนนี้มันเป็นศิลปิน นั่นคือหมายความถึงในองค์กรทั่วไป แต่ถ้าเรามาอยู่ตรงนี้เราไม่ต้องพูดคำนี้แล้ว เพราะเป็นศิลปินกันหมด เราต้องยอมรับในเนื้อแท้และความเป็นตัวศิลปิน ถ้าเราสามารถที่จะปรับตัวเองกับวิธีการรับรู้ของเขา สามารถสื่อสารให้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย พยายามให้ความเข้าใจเราตรงกัน เช็คความเข้าใจกันอยู่เสมอ ที่เราเรียกว่า Sensory Perception และบางครั้งต้องไปปรับที่ตัว Cognitive Dissonance คือ “การรับรู้ที่อาจจะคลาดเคลื่อนต่อกันและกัน” ถ้าเราสามารถทำได้อย่างดี สม่ำเสมอ ผมคิดว่าเราจะได้ใจนักดนตรี นักดนตรีจะอยู่กับเรา และพร้อมที่จะพัฒนา และความเป็นศิลปินของเขาจะไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากเลย แต่จะเป็นสิ่งที่งดงามและเป็นปัจจัยที่เกื้อกูล ที่พูดไม่ได้หมายความว่าทำสำเร็จ แต่เรามองเห็นภาพนั้นอยู่ และผมก็ไม่คิดว่าวงใดๆ ในโลกนี้จะประสบความสำเร็จครั้งเดียวจบ วันนี้ ช่วงเวลานี้ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจและสังคม การเมืองแบบนี้อาจจะทำได้ แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มผู้ฟังเปลี่ยนแปลงไป การบริหารก็ยากขึ้น ทุกวงในโลกนี้ประสบปัญหา เพราะฉะนั้น “ความต่อเนื่องของการใส่ใจในการบริหาร การสื่อสาร และยอมรับ ปรับทัศนคติให้ตรงกันเป็นปัจจัยที่ท้าทาย”


ปัจจัยที่ทำให้วงมีความสำเร็จมีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้น คือ “นักดนตรี” เราต้องยอมรับว่า ถ้าพูดว่าเราเป็นโรงเรียน เรามีนักเรียนที่ดี มีความขวนขวาย ผมคิดว่าเด็กในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมานั้นมีความตื่นตัว และสนใจดนตรีอย่างลึกซึ้ง


ประการต่อมาที่ทำให้เราแข็งแรงและทำให้เป็นที่ยอมรับ คงไม่ได้อยู่ที่การบริหาร การบริหารดนตรีเป็นการบริหารที่จับต้องไม่ได้ เราเรียกว่า “Intangible” อย่าง บริษัท เบเจอร์ บี.กริม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งล่าสุดเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของเรา ความกว้างไกลในวิสัยทัศน์ของผู้อุปถัมภ์มีส่วนที่จะทำให้เราอินเตอร์มากขึ้น ประชาคมของทูตานุทูต ก็ช่วยเหลือเรา ถือว่าปัจจัยในส่วนนี้ คือการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการบริหารที่จัดต้องไม่ได้


ในอาเซียนด้วยกัน 6 ปีที่ผ่านมาเราได้ออกไปแสดงในอาเซียนครบทุกประเทศ ผมคิดว่าปัจจัยของการยอมรับมาจากตัววาทยกร หรือตัวบทเพลงที่เรานำเสนอไป ต้องยอมรับว่าพระราชนิพนธ์คือ ปัจจัยที่ทำให้เรามีชื่อเสียง สามารถสร้างความสนใจได้ จะบอกว่าเราบริหารเก่ง หรือศิลปินเก่งอย่างเดียวไม่ได้ มันอยู่ที่การปรับชิ้นงานคีตนิพนธ์เหล่านั้น

การพัฒนาวงดุริยางค์ไทย

ไม่ว่าจะเป็นวงใดๆ ในประเทศไทย จะพัฒนาได้โดย ประการที่หนึ่งคือ ตัวเยาวชน การสร้างสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่เกื้อกูลให้เด็กมาสนใจ เขาจะสนใจในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ไม่เป็นไร ขอให้มีความสนใจ ขอให้เขารักศิลปะใดศิลปะหนึ่ง เพราะในที่สุดศิลปะมันจะเชื่อมโยงตัวมันเองด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมของห้องดนตรี ความเข้าใจสภาวะ intangible สภาวะที่วัดไม่ได้ด้วย KPI หรือตัวเลขใดๆ แต่ให้ทั้งความเข้าใจ การบริหารอารมณ์ (Emotional Intelligent) สังคมหรือสถาบันการศึกษาต้องเปิดโอกาสและยอมรับ เด็กจะเก่งขึ้น จะพัฒนาทุกอย่างได้


อีกประเด็นหนึ่งคือ การพัฒนาประชาคมผู้ฟัง คิดว่าผู้ฟังในยุคต่อๆ ให้จะกระหายความรู้ ให้เขารู้สึกว่ามีสาระสำคัญที่มาฟัง เขาจะติดใจ เราจะขยายกลุ่มผู้ฟังได้โดยไม่ต้องมาพึ่ง CRM การพัฒนาผู้ฟัง ไม่ได้หมายความว่าต้องไปจัดฟรีคอนเสิร์ตบ่อยๆ เป็นการเปิดแบบฟรีคอนเสิร์ต เพื่อให้เป็นสาธารณะ เราต้องดูว่าเราเสนอสาระสำคัญอะไรลงไปในดนตรี ทำให้ผู้ฟังได้นำกลับไปคิดและพัฒนาต่อไป ความบันเทิงทุกอย่างสามารถเป็น Edutainment ได้


อยากให้ผู้อ่านเปิดใจว่า ดนตรีคลาสสิกไม่ใช่ดนตรีไฮโซ “ดนตรีคลาสสิกเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการบริหารความคิดพร้อมๆ กับการสร้างความจรรโลงใจในอารมณ์ และเป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวัน” เมื่อเรามองไปรอบๆ ตัว เสียงต่างๆ มีพื้นฐานมาจากดนตรีคลาสสิก อย่าไปตัดสินดนตรีคลาสสิกจากตัวเลข ให้มองดนตรีคลาสสิกแบบ Intangible ซึ่งอาจมีความหมายที่ซับซ้อน อาจหมายถึงการได้มาอยู่ร่วมกันกับเพื่อนๆ หลายคนเป็นสิ่งที่ดี การได้ทำตัวเป็นประโยชน์ มีความหมายก็เป็นสิ่งที่ดี ทุกคนที่สร้างเสียงดนตรีก็ต้องการนำความสุขมาให้กันทั้งนั้น ก็ให้เปิดใจยอมรับกันประชาคมดนตรีก็จะพัฒนามากขึ้น

เรามีการพัฒนาผลงานด้วยการจัดแสดงมากมาย โดยนำเสนอกิจกรรมและการแสดงโดยวงออเคสตร้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งประเภทซิมโฟนีคอนเสิร์ต เชมเบอร์มิวสิค โอเปร่า บัลเล่ต์ ป็อปคอนเสิร์ต และการแสดงดนตรีในสวน บทเพลงที่นำมาบรรเลงมีทั้งดนตรีคลาสสิก เพลงจากอุปรากร ละครเพลง เพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงป๊อปปูล่า และเพลงไทย เป็นต้น การที่วงได้เสนอผลงานของคีตกวีทุกยุคสมัย เพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ฟังทุกระดับวัย และรสนิยม ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านดนตรี โดยการจัดตั้งโรงเรียนดนตรีบางกอกซิมโฟนี (Bangkok Symphony Music School — BSS)


ปัจจุบัน วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ได้รับการยอมรับว่าเป็นวงออเคสตร้าของไทยที่มีความสามารถ เป็นที่ชื่นชมทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ และสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งนี้ โดยมุ่งหวังว่าวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ จะเป็นวงออร์เคสตร้าที่มีส่วนในการเสริมสร้างเกียรติภูมิมาสู่ประเทศ และเป็นทูตวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวไทย

ดู 221 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page