top of page

จ่ายแบบไหนให้ดึงดูดใจคนทำงานยุคนี้

จ่ายแบบไหนให้ดึงดูดใจคนทำงานยุคนี้ นี่คือ คำถามสำคัญจากบริษัทที่ปรึกษา AON อยากจะให้ทุกๆ องค์กรช่วยกันหาคำตอบ:

1. เมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยนเป็นการทำงานแบบ Remote แล้วการจ่ายควรจะเปลี่ยนไปอย่างไร

2. หากแรงงานส่วนใหญ่ที่เคยเป็นพนักงานประจำเปลี่ยนรูปแบบเป็นการจ้างแรงงานแบบชั่วคราวหรือระยะสั้นแบบ Gig โครงสร้างการจ่ายควรจะมีหน้าตาอย่างไร

3. เราจะใช้การจ่ายเพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานได้ด้วยรูปแบบหรือวิธีใด

4. การสร้างประสบการณ์ที่ดีจากการจ่ายของบริษัทสามารถทำได้อย่างไร

5. แนวคิดเรื่องการจ่ายจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า


การจ่ายแบบใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับพนักงานยุคใหม่ ซึ่งบางครั้งก็มาในรูปแบบ พนักงานที่ไม่ใช่พนักงาน แต่เป็นเหมือนกับเจ้าของกิจการร่วม (Partner) อย่างคนขับรถของ Uber หรือผู้ปล่อยที่พักให้เช่ากับ Airbnb นำมาซึ่งรูปแบบการจ่ายเงินได้ค่าตอบแทนที่ไม่เหมือนเดิม การจ่ายรูปแบบเดิมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ด้าน คือ ตำแหน่งหน้าที่งาน สถานที่ทำงาน และประเภทของสัญญาจ้างงาน ในขณะที่การจ่ายรูปแบบใหม่อาจไม่ขึ้นอยู่ปัจจัยข้างต้นเพียงอย่างเดียว จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ธุรกิจมีมุมมองที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับเรื่องของการจ่าย ตั้งแต่การตัดค่าใช้จ่าย การขอพนักงานปรับลดเงินเดือน เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องสามารถประคองตัวเองให้อยู่รอดได้ หรือในธุรกิจบางประเภทจะต้องมีการจ่ายเงินให้กับพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับพนักงานที่ต้องปฏิบัติงานในด่านหน้า และมีความเสี่ยงที่ต้องพบเจอความเสี่ยงด้านสุขภาพในทุก ๆ วันที่ทำงาน ก็ช่วยให้ผู้ประกอบการฉีกความคิดเรื่องการจ่ายไปมากพอสมควร

ในเรื่องของการจ่ายเงินตามพื้นที่ปฏิบัติงานจากผลสำรวจพบว่า 83% ขององค์กรทั่วทั้งทวีปเอเชีย กำลังจะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบถาวรหลังช่วง COVID-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อเรื่องการจ่ายที่แตกต่างกันระหว่างพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศ หรือพนักงานที่ทำงานจากที่ใดก็ได้


รูปแบบการทำงานรูปแบบนี้แม้ว่าจะช่วยผ่อนคลายเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการดึงดูดพนักงานจากที่ใดก็ได้ในโลก แต่ก็ยังคงมีข้อกังวลในด้าน ความจำเป็นในการจ่ายที่แตกต่างกันระหว่างพนักงาน Remote Onsite หรือ Hybrid ผลกระทบทางกฎหมายหรือการคิดภาษีจากการดูแลพนักงานซึ่งทำงานอยู่ในต่างประเทศ

การเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจ้างก็มีการเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน การจ้างงานในช่วง COVID-19 มีสถานการณ์ที่บีบบังคับองค์กรระหว่างความตั้งใจที่จะรักษาพนักงานชุดเดิมเอาไว้ หรือว่าการจ้างแรงงาน Part-Time หรือการจ้างงานระยะสั้น เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและบริษัทยังคงสามารถเอาตัวรอดได้ องค์กรจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเก็บพนักงานชุดเดิมเท่าที่จำเป็น และจ้างพนักงาน Part-Time เข้ามาแทน ทำให้การจ้างระยะสั้น ไม่มีสวัสดิการแต่ให้ค่าตอบแทนที่สูง มีแนวโน้มที่มากขึ้น และ Mindset ของธุรกิจก็เปลี่ยนแปลงไปจากการที่มองหาพนักงานจงรักภักดี ทำงานกับบริษัทนาน ๆ แบบ Lifetime Employment ไปเป็นการเปิดใจรับพนักงานที่ชอบทำงานระยะสั้นเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆเพื่อเรียกเงินเดือนที่สูงขึ้นที่บางคนเรียกว่าเป็น Job Hopper เพิ่มมากขึ้น

ในสถานการณ์ที่มีความผันผวน และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร หัวใจสำคัญของการจ่ายรูปแบบใหม่จึงควรเริ่มต้นจากความยืดหยุ่น และการปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ต่างๆ การจ่ายที่มาก แต่ไม่ได้ตรงใจกับผู้ที่ต้องการรับหรือพนักงาน ไม่สำคัญเท่ากับการให้อย่างพอเพียงกับความต้องการของผู้รับ ซึ่งอาจหมายรวมถึงการจ่ายอะไรที่นอกเหนือจากรูปแบบของตัวเงิน เพราะพนักงานปัจจุบันนี้มีมองถึงสวัสดิการ อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงินด้วยเช่นกัน ได้แก่

> ค่าทำฟัน และค่าตัดแว่นสายตา

> ประกันสุขภาพแบบสะสมทรัพย์ (การเก็บเงินพนักงานเพื่อสนับสนุนเรื่องการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในอนาคต)

> ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ

> สวัสดิการเงินเกษียณ และการให้บริการวางแผนเกษียณ

> การให้บริการด้านต่าง ๆ เช่น ที่ปรึกษาการเงิน และกฎหมาย

นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีการจ่ายสวัสดิการรูปแบบอื่นๆที่น่าสนใจ ดึงดูดคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ เช่น Transgender Healthcare ทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย การผ่าตัด การให้วันหยุด และการให้ฮอร์โมนเพื่อช่วยรักษาหลังการผ่าตัดแปลงเพศ Telemedicine การจ่ายยาทางไกลถึงบ้านพนักงาน Mental Health & Employee Assistant Program การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและโปรแกรมช่วยเหลือพนักงานในเรื่องส่วนตัวต่าง ๆ และการจัดสวัสดิการสำหรับครอบครัว และการจัดให้มี Daycare สำหรับเด็กเล็ก ที่พ่อแม่สามารถนำไปเด็กไปฝากได้ในระหว่างที่ทำงาน

จากคำถามตั้งต้น ภาพของอนาคตเรื่องของการจ่ายคงจะเปลี่ยนไปไม่น้อย เมื่อองค์กรคิดถึงเรื่องการออกแบบการจ่ายรูปแบบใหม่ สิ่งที่ควรคำนึงถึงเรื่องแรก ๆ คือการพิจารณาความสามารถในการจ่ายขององค์กร ซึ่งควรคำนึงถึงในระยะยาว เพราะโดยปกติสวัสดิการที่ให้พนักงานไปแล้วจะไม่สามารถขอคืนในภายหลังได้ทั้งในด้านกฎหมาย และทางด้านจิตใจของพนักงาน ซึ่งได้รับสิ่งที่บริษัทจัดหาให้ไปแล้ว การจะเอาคืนหรือเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เมื่อได้ตัดสินใจที่จะจ่ายแล้วก็คงต้องดูว่าการจ่ายทั้งเรื่องของเงินและสวัสดิการจะเป็นประโยชน์แก่พนักงานมากน้อยเพียงใด สุดท้ายคือการนำไปสู่การขออนุมัติดำเนินการเรื่องการจ่ายรูปแบบใหม่ และทำการสื่อสารให้พนักงานได้รับทราบและคอยติดตามข้อมูล Feedback จากพนักงานอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงเรื่องการจ่ายต่อไปในอนาคต

 

ที่มา

ดู 180 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page