โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา เปลี่ยนมากเสียจนหากไปบอกเราว่าเมื่อกลางปี 2019 เราย้อนเวลาไปบอกตัวเองได้แล้วเราบอกว่าในสองปีที่ผ่านมาจะมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น
> การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั้งโลก
> คนต้องมีการรักษาระยะห่าง ไม่สามารถจะรวมทีมงานจำนวนมากๆไว้ที่เดียวได้อย่างเคย ทำให้การใช้งานเทคโนโลยีในการทำงานจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่ช่วยในการทำงานทางไกล ส่งผลให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเติบโตอย่างร้อนแรงในปี 2020
> ของดิจิตอลบางอย่างที่เมื่อสี่ห้าปีก่อนอาจจะยังมองว่าไกลตัว แต่ตอนนี้กลายเป็นใกล้ตัวมากขึ้น เช่น การประกาศจริงจังใน Metaverse ของ Facebook ในขณะที่เมื่อสี่ปีก่อน (2018) เรายังนั่งดูหนังเรื่อง Ready Player One และนั่งคิดว่าในอนาคตสักสามสี่สิบปีเราถึงจะไปถึงขั้นนั้นได้ ซึ่ง facebook ก็ไม่ได้ประกาศเปล่า ๆ มีการเข็นเทคโนโลยีชิมลางอย่าง Rayban Stories ที่สามารถถ่ายรูปได้, ถ่ายคลิปวิดีโอสั้น ๆ ได้, รับสายโทรศัพท์, ฟังเพลงและพอดแคสต์ได้, แชร์ภาพและคลิปที่ถ่ายจากแว่นลงบนโซเชียลได้อย่างง่ายดาย
> ของดิจิตอลบางอย่างที่เมื่อก่อนรู้สึกจับต้องได้ยากไม่แน่ใจในราคา ตอนนี้กลับมีราคาขึ้นมาอย่างจริงจัง เช่น Bitcoin มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาทในต้นปี 2021 และพุ่งไปเกิน 2 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2021 จากที่มูลค่าเพียง 40,000 บาท เมื่อไม่กี่ปีก่อน
> การที่เทคโนโลยีชื่อต่าง ๆ ทั้งที่เราคุ้นเคยและไม่คุ้นเคยอย่าง IoT (Internet of Things) AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีความสำคัญกับมนุษย์อย่างจริงจัง การมี SMART Home ที่มีพื้นฐานจาก IoT ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน การใช้ Chatbot จากระบบ AI ที่ไม่ซับซ้อนเริ่มเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างง่ายๆ แม้กระทั่งร้านค้าใน Facebook หรือ Shopee ก็สามารถนำ AI Chatbot มาใช้ได้อย่างง่ายดาย
> ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่ทวีความสำคัญขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนเครดิตมากยิ่งขึ้น
หากเราบอกเรื่องเหล่านี้ในปี 2019 เราคงจะหัวเราะใส่ในหลาย ๆ เรื่องจริง ๆ ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ชัดเจนในโลกของเราในสองปีที่ผ่านมา และแน่นอนความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบโดยตรงกับการบริหารจัดการคนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
> การแพร่หลายของ Remote Working และ Hybrid Working ที่แพร่หลายในเวลาไม่กี่เดือนในปี 2020 และกลายเป็น Trend ใหม่ในอนาคต แม้กระทั่งบริษัทในไทยเองก็มีหลายบริษัทที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำงานแบบ Hybrid อย่างจริงจัง
> การทำงานแบบ Gig Economy พนักงานเริ่มมีอาชีพที่สองเป็นเรื่องปกติมากขึ้น จนทำให้ทางองค์กรก็จำเป็นจะต้องดูแล Productivity ของพนักงานได้ยากมากยิ่งขึ้น
> การที่ JobsDB ประกาศไม่ต้องระบุเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่สื่อถึงการเลือกปฏิบัติ ในปี 2022
> การเรียนรู้จากเดิมที่มองการทำ e-learning เป็นเรื่องที่ยาก และน่าเบื่อ กลายเป็นเรื่องปกติที่จะองค์กรจะต้องบริหารจัดการให้คนเรียนรู้ออนไลน์ให้ได้
ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้ทุกท่านในฐานะของ HR ก็จำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากจะพูดถึงทุกเทคโนโลยีที่จะเกี่ยวข้องกับทุกด้านที่จะกระทบในงานทรัพยากรมนุษย์ บทความนี้คงจะยาวสักสามสี่สิบหน้ากระดาษ ฉะนั้นผมจะพาไปเน้นทำความเข้าใจกับยุคต่อไปของเทคโนโลยีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จำเป็นต้องจับตามองในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เพื่อเป็นไอเดียให้ทุกท่านไปเตรียมตัว และเตรียมพร้อมเข้ากับการพัฒนาทีมงานของคุณ โดยขอแบ่งออกเป็น สามหัวข้อใหญ่ๆดังนี้
Learning Analytics จะเชื่อมโยงกับการเรียนรู้อย่างมาก – ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น Cloud ที่การเก็บข้อมูลและเรียกใช้ข้อมูลไม่จำเป็นต้องเข้าไปใน Drive แต่สามารถเปิดที่ไหนก็ได้ การรวบรวมข้อมูลไม่จำเป็นต้องเป็นการเอาข้อมูลมาคีย์ลงระบบในฐานข้อมูลเพียงอย่างเดียว หากแต่ NLP (Natural language processing) หรือการประมวลภาษาธรรมชาติ หรือถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆคือ คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจรูปถ่าย เข้าใจภาษาของมนุษย์ได้ (ซึ่ง NLP นี่ก็เป็นส่วนแขนงย่อยหนึ่งของ AI หรือ Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) จะส่งผลโดยตรงให้การเก็บข้อมูลในการอบรม ทั้งจะทำได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน มากไปกว่านั้นยังทำให้เก็บข้อมูลบางอย่างที่เมื่อก่อนอาจจะเก็บไม่ได้ให้เก็บได้ด้วย เช่นพฤติกรรมระหว่างการเรียน (อาจจะดูจากสีหน้าจากกล้องที่จับไว้) เวลาที่ใช้ในการตอบแบบทดสอบแต่ละข้อว่าใช้เวลามากน้อยแค่ไหน อันจะทำให้สามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เป็นลักษณะเฉพาะบุคคลได้มากยิ่งขึ้น และตอบโจทย์การเรียนรู้เป็นรายบุคคลได้มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ระบบ Blockchain ที่เราเห็นการนำมาใช้ในทางการเงินก็สามารถที่จะเข้ามาผูกรวมกับระบบ MOOC หรือ Massive Open Online Courses โดยสามารถสร้าง Portfolio เก็บข้อมูลความเป็นส่วนตัว และลดค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลได้อีกด้วย ซึ่งการที่ Learning Analytics พัฒนาขึ้น ก็จะส่งผลไปยังข้อที่สอง
Personalized Training จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไปอีกต่อไป - หลายองค์กรมีความพยายามที่จะทำ Individual Development Plan เพื่อที่จะทำการพัฒนาพนักงานเป็นรายบุคคล แต่ความเป็นจริงแล้ว ความ Individual นั้นไม่ได้ Individual อย่างที่ควรจะเป็นจริง ๆ (แน่ล่ะจะให้สร้างแผนการพัฒนาที่แตกต่างกันจริงๆให้เหมาะกับทั้ง 5,000 คน ด้วย HRD 3 คนที่ยังต้องทำงานอื่นอีกด้วยมันน่าจะแทบเป็นไปไม่ได้) แต่ด้วยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning หรือการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ที่เราสามารถฝึกระบบของเราให้สามารถทำ Recommender System ได้ (อธิบายให้เข้าใจง่ายสุด ๆ ลองนึกถึงคุณตอนเข้า Netflix แล้วมันมีหนังแนะนำให้คุณโดยใช้พื้นฐานข้อมูลจากหนังเรื่องก่อนๆที่คุณดูน่ะ เป็น Recommender System เหมือนกัน) ซึ่งเจ้า AI เหล่านี้ สามารถที่จำทำนายได้ว่าคนเรียนชอบเรียนอะไร ค้นหาอะไร ต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม อีกทั้งเรายังสามารถเพิ่มเติมข้อมูลรายบุคคลได้ว่าบุคคลคนนี้ทำงานอะไร เผชิญหน้ากับอะไรอยู่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สามารถใช้ Machine Learning เข้าจับ และแนะนำพนักงานได้ทันทีที่ต้องการว่า อะไรคือสิ่งที่เข้าควรเข้ารับการเรียนรู้ในตอนนี้ อะไรเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขา อีกทั้งการที่สามารถแนะนำ และเขาสามารถเข้าไปเรียนได้นั้น ก็จะยิ่งเพิ่มข้อมูลให้ AI ได้เรียนรู้และออกแบบการพัฒนารายบุคคลได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การที่สามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ ก็ทำให้มี Learning Analytics ที่เป็นข้อมูลให้องค์กรมีแนวทางการพัฒนา เพื่อตอบโจทย์โลกที่โจทย์ทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ หรือถ้าอีกหน่อยในอนาคต Platform ที่ใช้พัฒนาสามารถ Plug-in เข้ากับระบบการทำงานหลักขององค์กร (ซึ่งไม่ได้ยากเกินจินตนาการเลย การเปิด API เชื่อมกันระหว่างโปรแกรมไม่ได้ยากเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป) จะทำให้ AI มีข้อมูลเพิ่มเข้ามาอีกว่าสิ่งที่พนักงานทำงาน ต้องการทักษะอะไรเพิ่มเติมบ้าง จนอาจจะสามารถทำนายได้เลยว่า Skill อะไรที่ต้องเพิ่มให้แกร่งขึ้น Skill อะไรต้อง Reskill ใหม่ ซึ่งถ้าไปได้ถึงขั้นนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็น AI-Enabled Learning Management System สำหรับพนักงานโดยเรียกได้ว่าระบบ AI สามารถจะปรับแต่งการพัฒนา แนะนำการพัฒนา และติดตามการพัฒนาของพนักงานได้รายบุคคล และเชื่อมโยงกับเป้าหมายของตำแหน่งงาน และเป้าหมายขององค์กร จนอาจจะเรียกได้ว่ามาแย่งงานผู้จัดการแผนกฝึกอบรมไปเลยก็ว่าได้
การทำ Experiential Learning จะประหยัดและไม่ยากเกินไปอีกแล้ว – Experiential Learning หรือ การเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และมีการทำมานานนมแล้ว ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่พนักงานชอบและองค์กรก็ชอบด้วยเพราะสามารถวัดและสามารถได้ลองทำจริง ในสถานการณ์จำลองจริง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าพนักงานท่านนั้นรู้หรือไม่รู้ รู้จริงหรือไม่ ทำงานได้หรือไม่ แต่ในอดีตการที่จะสามารถทำได้อาจจะต้องสร้าง Facilities ขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่เพื่อที่จะให้มีพื้นที่ในการฝึกจริง ๆ แต่ในโลกสมัยใหม่ ที่เทคโนโลยีโลกเสมือนหรือ Virtual Reality (VR) และเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง Augmented Reality (AR) (ถ้านึกภาพไม่ออก VR ลองนึกถึงเกม VR หรือหนังเรื่อง Ready Player One ส่วน AR ลองนึกถึงเกม Pokemon Go!) ซึ่งการที่ AR และ VR มีการพัฒนาและใช้กันอย่างแพร่หลายจะส่งผลให้การฝึกอบรมพนักงานสามารถได้ฝึกฝนได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้าง Facilities นอกจากนี้การที่เทคโนโลยี 3D printing เริ่มแพร่หลายและใช้งานได้ง่ายขึ้น ก็ยิ่งเป็นตัวสนับสนุน ให้การฝึกจริงได้อย่างจริง ๆ ได้เรียนรู้ ๆ จริง ๆ ภายใต้ค่าใช้จ่ายที่ไม่มากเหมือนอดีตที่ต้องสร้างอาคาร ซื้ออุปกรณ์มากมายเพื่อตอบสนองการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และถ้าหากผนวกกับการทำ Gamification หรือการทำให้การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์นี้ได้รับความสนุกตื่นเต้น ไปพร้อมกับได้เรียนรู้เหมือนมีประสบการณ์เล่นเกม จะยิ่งทำให้ผู้ที่เรียนรู้มีประสบการณ์ที่ดีและอยากเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อผนวกกับ AR และ VR จะยิ่งทำให้การทำ Gamification มีความสมจริงและน่าตื่นเต้นขึ้นมาก
นอกจากนี้การใช้ AR และ VR ยังทำให้พนักงานที่อยู่ไกลกัน เช่นพนักงานในสาขาต่าง ๆ สามารถที่จะเข้าร่วมการเรียนรู้แบบ Experiential Learning ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัด ข้ามประเทศ หรือข้ามทวีปเพื่อมาร่วมฝึกอบรมด้วยอีกต่อไป ส่งผลให้ประหยัดทั้งเวลาขององค์กร เวลาของผู้เรียน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากต้องมีการสละหน้างานมาเรียนรู้ที่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ
อย่างไรก็ดีแม้เทคโนโลยีจะพัฒนามากขึ้นขนาดไหนสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการสร้าง Mindset การอยากเรียนรู้ และเข้าใจว่าความรู้นั้นมีวันหมดอายุ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการที่จะทำให้พนักงานพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เราพบข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับทัศนคติต่อการเรียนรู้ของคนไทย จากงานวิจัยเรื่อง งานและทักษะสำหรับโลกใหม่ ของ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ ซึ่งเป็นการสำรวจหนุ่มสาวใน ASEAN ที่มีอายุ 15-35 ปี จำนวน 56,000 คน พบว่า 30% ของหนุ่มสาวไทยเชื่อว่าทักษะของตนเองสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ในขณะที่หนุ่มสาวของสิงคโปร์และเวียดนามมีเพียง 10% เท่านั้นที่คิดแบบนี้ ฉะนั้น ก่อนที่จะเริ่มต้นเอาเทคโนโลยีใด ๆ เข้ามาใช้งานในการพัฒนา เราต้องเริ่มให้ทุกคนในองค์กรได้เห็นก่อนว่า เขาจำเป็นต้องพัฒนา และความรู้ของเขามีวันหมดอายุ ถ้าไม่ระมัดระวังและพัฒนาตนเอง ไม่เช่นนั้นแล้วต่อให้เทคโนโลยีการเรียนรู้จะก้าวหน้าเพียงใด ก็ไม่อาจยกระดับทักษะของใครได้เลย
References
https://www.forbes.com/sites/forbestechcouncil/2021/09/30/three-ways-technology-can-enhance-employee-training/?sh=6cc59e5545f2
https://www.nytimes.com/2021/09/09/technology/facebook-wayfarer-stories-smart-glasses.html
https://www.adp.com/spark/articles/2020/10/elevating-the-role-of-technology-in-training-and-development.aspx
https://elearningindustry.com/top-educational-technology-trends-2020-2021
https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2021/11/Paper3-Slide01.pdf
Comments