top of page
รูปภาพนักเขียนDr. Nutavoot Pongsiri

การทำงานและการใช้ชีวิตที่ไร้เส้นแบ่ง (Work-Life Integration)

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | nutavootp@gmail.com

ผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัย The Stanford Life Design Lab ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ในแต่ละช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่งควรประกอบไปด้วยการสร้างสมดุลใน 4 ส่วน คือ Work (การทำงาน) Health (การดูแลรักษาสุขภาพ) Love (การอยู่กับคนที่เรารักและห่วงใย) และ Play (การทำสิ่งที่เราชอบนอกเหนือจากงาน) อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเราอาจจะให้เวลาในแต่ละส่วนในแต่ละช่วงของชีวิตไม่เหมือนกัน เช่น ตอนที่ยังหนุ่มสาวเราอาจใส่ใจในสุขภาพ (Health) ได้ไม่มากเท่าตอนที่มีอายุมากขึ้น หรือช่วงที่ยังโสดก็อาจจะให้เวลากับกิจกรรม (Play) ได้มากกว่าหลังจากแต่งงานแล้ว ซึ่งมีภาระต้องดูแลคนในครอบครัว (Love) เป็นต้น นอกจากนั้น ความก้าวหน้าของระบบสารสนเทศ และการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ทำให้ทุกคนสามารถทำงานได้โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา เทคโนโลยีช่วยเชื่อมต่องานและชีวิตส่วนตัวให้เกี่ยวพันกันจนแทบจะแยกไม่ออก ทำให้การสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิต ( Health- Love-Play) และการทำงาน (Work) เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ปัญหาที่ตามมาจากการขาดสมดุล คือ ความล้าและความเครียดทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เวลาที่ให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งโอกาสในการเข้าสังคมน้อยลง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพเนื่องจากขาดการพักผ่อน จึงเกิดแนวคิดในการผนวกการทำงานให้หลอมรวมเข้ากับการใช้ชีวิตส่วนตัว ไม่พยายามแยกเพื่อสร้างสมดุล (Work-Life Balance) แนวคิดการทำงานและการใช้ชีวิตที่ไร้เส้นแบ่งนี้เรียกว่า Work-Life Integration หรือ Work-Life Blended


Work-life Integration เป็นการผสานการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวให้เกิดขึ้นแบบ “ไร้รอยต่อ” ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น นั่งทำงานที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือสถานที่แบบ Co-working Space พร้อมกับประชุมงานผ่าน Video Call ไปด้วย เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันช่วยให้เราสามารถปรับรูปแบบการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ กำหนดตารางเวลาสิ่งที่ต้องทำได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นจากที่องค์กรเคยช่วยพนักงานสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) จึงเริ่มปรับเปลี่ยนสู่ Mode การทำงานแบบผสมผสาน Work + Leisure หรือ “Weisure” ให้สอดรับกับพนักงานรุ่นใหม่ที่เป็นพวกดิจิทัลนอแมด (Digital Nomad) หรือกลุ่มคนที่เดินทางท่องเทียวไปตามสถานที่ต่างๆ พร้อมกับทำงานไปด้วย


แนวคิดการทำงานแบบผสานงานกับการใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน (Work-Life Integration) มาพร้อมกับอิสรภาพและความยืดหยุ่นในการที่จะสลับไปมาระหว่างความต้องการที่จะทำงานและการใช้เวลาส่วนตัว จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กร เช่น การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์เชื่อมต่อการทำงานที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน การกำหนดตารางเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นสำหรับบางหน้าที่บางตำแหน่งให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้ รวมทั้งการใช้ตัวชี้วัดผลสำเร็จหรือ Key Performance Indicator (KPI) ที่เน้นผลลัพธ์ของงานมากกว่ากระบวนการทำงาน ตัวอย่างขององค์กรที่นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ เช่น Airbnb ที่ให้บริการแบ่งปันที่พักอาศัยที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก ได้ให้เงินพนักงาน 2,000 ดอลลาร์ เพื่อไปพักผ่อนในที่พัก Airbnb ที่ใดก็ได้ในโลก ซึ่งพนักงานนอกจากจะได้พักผ่อนแล้วยังมีโอกาสศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อนำไปเป็นข้อมูลปรับปรุงบริการควบคู่ไปด้วย


การผสานงานกับการใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน (Work-Life Integration) จึงเป็นการกำหนดเป้าหมายสำหรับการใช้เวลาในแต่ละส่วนทั้ง Work/ Health/ Love/ Play ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตของเราให้เหมาะสม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการใช้เวลาในภาพรวมในแต่ละสถานการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ควรออกแบบให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของตนเองให้มากที่สุด


ฐานเศรษฐกิจ, 2561. ‘การทำงานและการใช้ชีวิตที่ไร้เส้นแบ่ง (Work-Life Integration)’, 14 มิถุนายน 2561, pp. 26

HR Society Magazine, ‘การทำงานและการใช้ชีวิตที่ไร้เส้นแบ่ง (Work-Life Integration)’ ธรรมนิติ. Vol. 16, No 186, หน้า 18 - 21, มิถุนายน 2561

ดู 20 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Talent Trends 2023

Kommentare


bottom of page